‘ปิ่นทิพย์’ แจ้งเกิดบะหมี่ฯหม้อร้อน ส่ง 2 แบรนด์เจาะนักท่องเที่ยว-นักกีฬา

10 ม.ค. 2568 | 22:25 น.

“ปิ่นทิพย์” ปั้น 2 แบรนด์น้องใหม่ “เชฟหมีดำ-เจ๊หมวยซิ่ง” ชิงแชร์ตลาดบะหมี่ฯ ชูจุดขายนวัตกรรมหม้อร้อน สะดวก รวดเร็ว เจาะกลุ่มนักท่องเที่ยว - นักกีฬา นำร่องโรดโชว์ขายในงานคอนเสิร์ต เจาะสร้างแบรนด์ผ่านโซเชียลมีเดีย

นายเอกระพีร์ สุขกุลพิพัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายปฏิบัติการและพัฒนาธุรกิจ บริษัท ปิ่นทิพย์ อินเตอร์ฟู๊ดส์ จำกัด ในเครือบริษัท ปิ่นทิพย์ จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจอาหารกึ่งสำเร็จรูปพร้อมทานและอาหารปรุงสด รวมไปถึงผลิตภัณฑ์อาหาร, เครื่องแกง, เครื่องปรุง ภายใต้แบรนด์ เชฟหมีดำ และ เจ๊หมวยซิ่ง เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นตลาดขนาดใหญ่ มีผู้บริโภคจำนวนมาก เติบโตอย่างต่อเนื่อง

และเป็นดัชนีชี้วัดสภาพเศรษฐกิจ โดยนิยามกันว่า ช่วงไหนเศรษฐกิจไม่ดี บะหมี่ฯ จะยิ่งขายดี มีการเติบโต แต่เมื่อไรเศรษฐกิจดี ยอดขายก็โตแต่อาจจะโตน้อยลง

นายเอกระพีร์ สุขกุลพิพัฒน์

ด้วยจุดขายที่ปรุงได้ง่าย รวดเร็ว และประหยัดค่าใช้จ่าย ทำให้เป็นที่นิยมของผู้บริโภคหลายกลุ่มขณะเดียวกันบริษัทได้พัฒนาบะหมี่ฯ หม้อร้อนเพื่อเป็นบะหมี่ฯ ทางเลือกเพื่อตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายและไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น กลุ่มผู้บริโภคที่ชอบการตั้งแคมป์หรือในสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น อุทกภัย ฯลฯ

ทั้งนี้บริษัทศึกษาและนำเทคโนโลยีการผลิตผงทำความร้อนที่นำมาใช้ในบะหมี่ฯ หม้อร้อน ซึ่งได้รับการพัฒนามาจากอุตสาหกรรมอาหารทหาร มีความปลอดภัยและสะดวกในการพกพา ผู้ผลิตอาหารได้นำเทคโนโลยีดังกล่าวมาประยุกต์ใช้กับผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป

ซึ่งปัจจุบันบะหมี่ฯ หม้อร้อนเริ่มเป็นที่รู้จักของผู้บริโภคมากขึ้น เพราะความสะดวกสบายที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคใหม่ที่ต้องการอาหารพร้อมทาน อีกทั้งยังได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมการกินบะหมี่ของประเทศเพื่อนบ้านอย่างจีน ญี่ปุ่น เกาหลี และไต้หวัน รวมถึงกระแสอาหารรสชาติหม่าล่า และการโปรโมทผ่านโซเชียลมีเดียทำให้เกิดการบอกต่อและอยากลองรับประทาน

‘ปิ่นทิพย์’ แจ้งเกิดบะหมี่ฯหม้อร้อน ส่ง 2 แบรนด์เจาะนักท่องเที่ยว-นักกีฬา

ทั้งนี้แบรนด์เจ๊หมวยซิ่ง เพิ่งเปิดตัวได้เพียง 1 เดือนเศษเท่านั้น บริษัทจึงให้ความสำคัญกับการสร้างการรับรู้และตัวตนเป็นอันดับแรก โดยมองว่าเป็นการต่อยอดธุรกิจจากบริษัทแม่ คือ บริษัท ปิ่นทิพย์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ค้าปลีกและค้าส่งเนื้อสุกรดิบ เพื่อขยายสู่ตลาดอาหารพร้อมทาน

โดยบริษัทได้ทุ่มงบราว 5 ล้านบาทต่อเดือน แบ่งเป็นงบด้านการตลาดออนไลน์ 1 ล้านบาท และ 4 ล้านบาท เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการผลิตสินค้าและจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายต่างๆ

ขณะที่ในครึ่งปีแรกนี้ บริษัทจะให้ความสำคัญกับการโรดโชว์ฟู้ดทรัค นำสินค้าไปจำหน่ายภายในงานคอนเสิร์ตแนวเพื่อชีวิต เพื่อมุ่งเน้นกลุ่มผู้บริโภคที่ชื่นชอบอาหารไทยรสชาติจัดจ้าน โดยเฉพาะอาหารใต้ เช่น คั่วกลิ้ง และแกงส้ม ซึ่งเป็นเมนูที่นิยม

‘ปิ่นทิพย์’ แจ้งเกิดบะหมี่ฯหม้อร้อน ส่ง 2 แบรนด์เจาะนักท่องเที่ยว-นักกีฬา

นอกจากนี้มีแผนขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มนักกีฬา ที่มีความต้องการบริโภคอาหารประเภทบะหมี่ฯและอาหารพร้อมปรุงทานในปริมาณมาก รวมถึงขยายตลาดไปกลุ่มผู้บริโภคที่ชื่นชอบกิจกรรมกลางแจ้ง เช่น การตั้งแคมป์ โดยผู้บริโภคให้ความสนใจและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เพื่อนำไปประกอบอาหารระหว่างการเดินทาง

สำหรับพฤติกรรมผู้บริโภคในตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทางเลือกมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดี ผู้บริโภคเริ่มตื่นเต้นกับนวัตกรรมฟู้ดที่เข้ามาในตลาด ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากกลุ่มวัยรุ่นที่รู้จักผ่านช่องทางออนไลน์

‘ปิ่นทิพย์’ แจ้งเกิดบะหมี่ฯหม้อร้อน ส่ง 2 แบรนด์เจาะนักท่องเที่ยว-นักกีฬา

นอกจากนี้พฤติกรรมการบริโภคยังสะท้อนถึงความสะดวกสบายในการรับประทานอาหารที่ไม่ต้องใช้ความร้อนจากไฟฟ้าหรือการก่อไฟ ทำให้บะหมี่ฯ ทางเลือกได้รับความน่าสนใจมากขึ้นในกลุ่มผู้บริโภค

“บริษัทมีแผนกลยุทธ์ใช้ช่องทางออนไลน์ในการสร้างแบรนด์และสื่อสารกับผู้บริโภค เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างตรงจุดและรวดเร็ว เหตุผลที่บริษัทเลือกที่จะเน้นกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับแบรนด์และสร้างฐานลูกค้าที่มั่นคง

แทนที่จะขยายตลาดไปยังช่องทางจำหน่ายขนาดใหญ่ เช่น โมเดิร์นเทรด ซึ่งอาจทำให้บริษัทสูญเสียเอกลักษณ์และจุดเด่นของแบรนด์ไปโดยในปีนี้บริษัทตั้งเป้าหมายที่จะมียอดขาย 10 ล้านบาท เติบโต 70% จากปีก่อน”

 

หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 4,061 วันที่ 12 - 15 มกราคม พ.ศ. 2568