จากข้อมูลสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย(PUBAT) พบว่า ในประเทศไทยมีประเภทหนังสือที่ได้รับความนิยมจากนักอ่านมากที่สุด 5 อันดับ คือ การ์ตูน จิตวิทยา นิยายสืบสวน นิยายรัก และนิยายแฟนตาซี ตลอด 5 ปีที่ผ่านมากลุ่มหนังสือการ์ตูนได้รับความนิยมสูงสุด ตามมาด้วยนิยายเป็นอันดับ 2 ถัดมาเป็นหนังสือจิตวิทยาและอื่นๆ ขณะที่การอ่านตำราเรียนกลับลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 2–3 ปีที่ผ่านมา สาเหตุอาจเกิดจากนักเรียน-นักศึกษา ดูเนื้อหาการเรียนผ่าน VDO แทน
โดยภาพรวมของตลาด “นิยาย” เป็นจุดที่น่าสนใจ เพราะนวนิยายและวรรณกรรมถือว่าเติบโตสูงที่สุดในบรรดาหนังสือทุกประเภท แบ่งออกเป็นหลายหมวดหมู่ ทั้งนิยายรัก นิยายสืบสวน นิยายแฟนตาซี นิยายสยองขวัญ ส่วนที่มีแนวโน้มขยายตัวสูงสุดจะเป็นหนังสือนิยายวาย (Y) หรือชายรักชาย (Boy love)
นางสาวเจติยา โลกิตสถาพร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ และบรรณาธิการบริหาร บริษัทสถาพรบุ๊คส์ จำกัด เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แม้ข้อมูลจะระบุว่าความนิยมอ่านการ์ตูนมีมากที่สุด แต่หนังสือนิยายน่าจะมีสัดส่วนมาร์เก็ตแชร์มากกว่า 50% ของตลาดหนังสือทั้งหมดในประเทศไทย เทรนด์ความนิยมแต่ละช่วงจะมีความแต่งต่างกันจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นกระแสความนิยมของละคร โดยเฉพาะนิยายที่ถูกนำไปสร้างเป็นละคร ยกตัวอย่างเช่น สุภาพบุรุษจุฑาเทพ, ดวงใจเทวพรหม บางครั้งก็ได้รับความนิยมจากอิทธิพลของนักแสดง รวมถึงกระแสบนโลกออนไลน์ และสื่อโซเชียลมีเดียจากต่างประเทศ เป็นต้น
เมื่อมองตลาดใน 1-2 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน จะเห็นเทรนด์ที่เริ่มได้รับความนิยมคือแนวสืบสวนสอบสวนและสยองขวัญ ไม่ว่าจะเป็นนิยายไทยหรือนิยายแปลจากจากประเทศ และนิยายตลาดในประเทศไทยมักได้รับอิทธิพลจากต่างประเทศค่อนข้างสูง ไม่ว่าจะเป็น จีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน ญี่ปุ่น รวมถึงประเทศตะวันตก ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้อุตสาหกรรมหนังสือของไทยขยายตัว มีส่วนสำคัญทำให้นักอ่านได้อ่านผลงานของนักเขียนจากต่างชาติมากขึ้น แต่ในทางกลับกันการซื้อลิขสิทธิ์เพื่อนำมาตีพิมพ์ก็สำคัญเช่นกัน
“การซื้อลิขสิทธิ์นิยายหรือลิขสิทธิ์หนังสือนำมาแปลเป็นหนังสือภาษาไทยนับเป็นเทรนด์อย่างหนึ่ง โดยสำนักพิมพ์จะแข่งขันประมูลราคากันสูงมากกว่าจะได้ลิขสิทธิ์ 1 เรื่อง และในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมาค่าลิขสิทธิ์แพงขึ้นเฉลี่ยประมาณ 30% เรียกได้ว่าสำนักพิมพ์ต้องคัดกรองคอนเทนต์ของหนังสือให้ดีที่สุด ซึ่งส่วนมากจะเป็นหนังสือที่มาจากประเทศในแถบเอเชีย มีเรื่องราวและวัฒนธรรมใกล้เคียงกับประเทศไทย”
นางสาวเจติยา กล่าวว่า นอกจากนี้นิยายไทยก็แข่งขันสูงไม่แพ้กัน ผู้สร้างคอนเทนต์หรือนักเขียนตลอดจนสำนักพิมพ์ผู้ผลิตหนังสือต้องปรับตัวอย่างต่อเนื่อง ทำการบ้านหนักขึ้นเพื่อให้งานเขียนอยู่ในตลาดให้ได้ ต้องตามเทรนด์โลกและเทรนด์ประเทศไทยให้ทัน เพราะกลุ่มผู้อ่านนิยายค่อนข้างกว้าง จำกัดอายุได้ยาก เบื้องค้นคาดว่าอยู่ในช่วง 20-40 ปี เป็นกลุ่มนักศึกษาและวัยทำงาน
สำหรับบริษัทสถาพรบุ๊คส์ จำกัด เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการระดับกลางที่อยู่ในอุตสาหกรรมหนังสือของประเทศไทย มี 11 เครือสำนักพิมพ์ ในหมวดหนังสือนิยายน่าจะติด 1 ใน 10 ของประเทศ พิมพ์หนังสือปกใหม่เฉลี่ย 100-120 ปก/ปี แบ่งเป็นงานเขียนของไทยประมาณ 80% งานเขียนจากต่างประเทศ 20% ในปี 2568 ตามแผนงานอาจลดงานเขียนไทยลง เพิ่มงานต่างประเทศมากขึ้นเป็น 25-30% และเน้นแบ่งหมวดหมู่แต่ละสำนักพิมพ์ เช่น สำนักพิมพ์เฉพาะนวนิยายแนวสืบสวนสอบสวน สำนักพิมพ์เฉพาะวรรณกรรมแปล เพื่อตอบสนองความต้องการของนักอ่านแต่ละกลุ่ม
“การดำเนินงานของสถาพรบุ๊คมากกว่า 80% รับพิมพ์หนังสือนวนิยายเป็นหลัก อีก 20% จะเรียกว่า Non-Fiction เป็นประเภทสารคดี ความรู้ คู่มือ การเรียนการสอน ทำอาหาร เย็บปักถร้อย ซึ่งคนอ่านจะจดจำสถาพรในภาพลักษณ์ของสำนักพิมพ์สำหรับนิยายมากกว่า”
อย่างไรก็ตาม ตลาดนวนิยายของประเทศไทยในปัจจุบันยังอยู่ในวงจำกัดด้วยสเกลของธุรกิจ ราคาต้นทุนการผลิตหนังสือยังสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกปี การทำให้ต้นทุนถูกลงอาจะต้องส่งเสริมการอ่านให้มากขึ้นจึงจะขยายขยายตลาดให้ใหญ่ขึ้นได้ อีกทั้งผลงานที่ตีพิมพ์จะต้องมีคุณภาพ ต่อเนื่อง พล็อตแปลกใหม่ หากไม่นำเทรนด์อย่างน้อยก็ต้องตามเทรนด์ให้ทันและอยู่ในกระแส เพราะบางครั้งคนอ่านอาจไม่อ่านหนังสือแต่เสพคอนเทนต์อยู่ในโซเชียลมีเดีย ดูเนื้อเรื่องจากละครและซีรี่ส์มากกว่า