คาราบาวปั้น “ตะวันแดง IPA” ชิงตลาดเบียร์อีโคโนมี-สแตนด์ดาร์ด

19 มี.ค. 2567 | 05:40 น.

“กลุ่มคาราบาว” ตั้งเป้าโกยแชร์ 10% ตลาดเบียร์ 2.6 แสนล้าน พร้อมเดินหน้าขยายตลาดทั่วประเทศ ล่าสุดเปิดตัว “ตะวันแดง IPA” เบียร์ตัวที่ 5 ท้าชนตลาดอีโคโนมี-สแตนด์ดาร์ด

นายเสถียร เสถียรธรรมะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “กลุ่มคาราบาว” เปิดเผยว่า ในปีนี้บริษัทตั้งเป้าหมายที่จะมีส่วนแบ่งตลาดราว 10% จากตลาดรวมเบียร์ที่มีมูลค่ากว่า 2.6 แสนล้านบาท หลังจากที่รุกทำตลาดด้วยการเปิดตัว เบียร์ 2 แบรนด์ คือ เบียร์คาราบาว 2 รสชาติ ได้แก่ Lager Beer (เบียร์ลาเกอร์) และ Dunkel Beer (เบียร์ดุงเกล) และเบียร์ตะวันแดง  2 รสชาติ ได้แก่ Weizen Beer (เบียร์ไวเซ่น) Rose Beer (เบียร์โรเซ่) เมื่อปลายปีที่ผ่านมา

ล่าสุดเปิดตัวแบรนด์ตะวันแดง อีก 1 รสชาติได้แก่ “ตะวันแดง IPA” (เบียร์ตะวันแดงไอพีเอ) ถือเป็นเบียร์ตัวที่ 5 ในพอร์ตเบียร์ของกลุ่มคาราบาว ซึ่งตะวันแดง IPA ถือเป็น Creative Beer เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับคนไทย ด้วยปริมาณแอลกอฮอล์ 5.5% มีจำหน่ายขนาดกระป๋องเล็กราคา 45 บาท และกระป๋องใหญ่ราคา 60 บาท            

เสถียร เสถียรธรรมะ

โดยเบียร์ตะวันแดง IPA วางจำหน่ายในร้านค้าในเครือข่ายของกลุ่มคาราบาว ได้แก่ CJ MORE ที่มีมากกว่า 1,000 สาขาทั่วประเทศ, ร้านถูกดี มีมาตรฐาน ที่มีร้านค้าอยู่ทั่วประเทศ และหน่วยรถในศูนย์กระจายสินค้าทั้ง 30 แห่ง ที่สามารถเข้าถึงร้านค้าปลีกทั่วประเทศ รวมถึงช่องทางของโมเดิร์นเทรด อาทิ Lotus’s, GO Wholesale, กูร์เมต์ มาร์เก็ต, ท็อปส์, Lawson108, Foodland และ วิลล่า มาร์เก็ท

รวมถึงผ่านช่องทาง On-premise ร้านอาหาร ผับบาร์ต่างๆ ภายในเดือนมีนาคม 2567 และเทรดดิชันนอลเทรดพร้อมกระจายสินค้าตรงสู่ “ตัวแทนจำหน่ายประจำพื้นที่ระดับอำเภอ” ทุกอำเภอทั่วประเทศ เพื่อทำให้สินค้าสามารถเจาะเข้าถึงร้านค้าย่อยหรือโชห่วยทั่วประเทศได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

คาราบาวปั้น “ตะวันแดง IPA” ชิงตลาดเบียร์อีโคโนมี-สแตนด์ดาร์ด

สำหรับตลาดเบียร์มูลค่า 2.6 แสนล้านบาท ซึ่งถือเป็นตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ใหญ่ที่สุด โดยกลุ่มคาราบาวได้ทุ่มงบลงทุนถึง 4,000 ล้านบาท สร้างโรงงานผลิตเบียร์ที่จังหวัดชัยนาท ด้วยเทคโนโลยีการผลิตมาตรฐานโลกจากเครื่องจักรที่นำเข้าจากต่างประเทศทั้งหมด โดยมีกำลังการผลิตประมาณ 400 ล้านลิตร

ช่วงแรกนำร่องการผลิตที่ 200 ล้านลิตร ซึ่งถือว่าเป็นการลงทุนครั้งใหญ่ที่สุด นับจากการลงทุนโรงสุราตะวันแดง1999 รวมถึงทุ่มงบการตลาดครั้งยิ่งใหญ่ในรอบ 20 ปี โดยทั้ง 2 แบรนด์ลงเล่นในเซ็กเมนต์อีโคโนมี และสแตนดาร์ด ซึ่งเป็นสัดส่วนใหญ่ของตลาดเบียร์ถึง 95%