“คาราบาว” สั่งเพิ่มกำลังการผลิตอีก 1 เท่าตัว แก้ปัญหาเบียร์ขาดตลาด

18 พ.ย. 2566 | 10:10 น.

“คาราบาว เบียร์” ฟีเวอร์ “เสถียร เสถียรธรรมะ” เจ้าพ่อคาราบาวแดง สั่งเพิ่มกำลังผลิตเป็น 400 ล้านลิตร จากเดิม 200 ล้านลิตร แก้ปัญหาเบียร์ขาดตลาดทั้งในร้านสะดวกซื้อ โชห่วย ตู้แช่ หลังนักดื่มแห่ซื้อ

หลังจากเจ้าพ่อคาราบาวแดง “เสถียร เสถียรธรรมะ” จูงมือ "แอ๊ด คาราบาว" ถือฤกษ์ดีวันที่ 9 เดือน 11 เปิดตัวเบียร์น้องใหม่ 2 แบรนด์รวดอย่าง “คาราบาว” และ “ตะวันแดง” ณ โรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง พระราม 3 ขณะที่ก่อนหน้านั้น ในวันที่ 29 ต.ค. 2566  คาราบาวได้จัดประชุมใหญ่ตัวแทนจำหน่าย เพื่อแนะนำ 2 เบียร์น้องใหม่ พร้อมยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจให้กับผู้สมัครเข้าร่วมเป็นดีลเลอร์จำนวน 790 ราย ก่อนที่จะปูพรมวางขายคาราบาวเบียร์และตะวันแดงเบียร์ทั่วประเทศ

กระแสความร้อนแรงของเบียร์ “คาราบาว” และ “ตะวันแดง” ทำให้นักดื่มต่างหาซื้อจนสินค้าขาดตลาดตั้งแต่ยังไม่เปิดตัวสินค้าและวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการ จากเบื้องต้นที่ทดลองวางขายในร้านซีเจ มอร์และ ร้านถูกดีมีมาตรฐาน แต่ล่าสุดแม้การเปิดตัวผ่านมา 10 วันแล้ว แต่เบียร์คาราบาวและตะวันแดงก็ยังขาดตลาด ไม่มีวางจำหน่ายทั้งบนเชลฟ์และตู้แช่ ไม่ว่าจะเป็นในร้านซีเจ มอร์ ร้านถูกดีมีมาตรฐาน รวมไปถึงร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านโชห่วยทั่วไป  

“คาราบาว” สั่งเพิ่มกำลังการผลิตอีก 1 เท่าตัว แก้ปัญหาเบียร์ขาดตลาด

ล่าสุด “ฐานเศรษฐกิจ” ลงพื้นที่สำรวจบรรยากาศภายในซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ และร้านค้าส่งรายใหญ่ พบว่า "คาราบาว เบียร์" ทั้ง 2 รสชาติ ได้แก่ Lager Beer (เบียร์ลาเกอร์) และ Dunkel Beer (เบียร์ดุงเกล) ต่างไม่มีวางจำหน่ายบนเชลฟ์ และจากการสอบถามพนักงานระบุว่า มีลูกค้ามาถามหาซื้อทุกวัน ทั้งแบบกระป๋อง ขวดและแบบลัง ทำให้สินค้าไม่พอขาย ขาดตลาด 

หลังจากที่พบว่า "เบียร์คาราบาวและเบียร์ตะวันแดง" ขาดตลาด นายเสถียร เสถียรธรรมะ ประธานกรรมการ บริษัท ทีดี ตะวันแดง จำกัด ได้สั่งให้เพิ่มกำลังการผลิตทันทีให้เต็มใบอนุญาต ที่สามารถผลิตและจำหน่ายเบียร์ได้ที่ 400 ล้านลิตร จากเริ่มต้นที่ผลิตเบียร์จำนวน 200 ล้านลิตร ซึ่งสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้ทันที จากการลงทุนไปกว่า 4,000 ล้านบาท ณ โรงงานผลิตที่จังหวัดชัยนาท และเชื่อว่าจะกระจายสินค้าไปถึงมือผู้บริโภคได้อย่างแน่นอน

“คาราบาว” สั่งเพิ่มกำลังการผลิตอีก 1 เท่าตัว แก้ปัญหาเบียร์ขาดตลาด

ด้วยกลยุทธ์โครงข่ายการกระจายสินค้าเบียร์ทั้งหมด ไปยังร้านค้าเครือข่ายของกลุ่มคาราบาว ได้แก่ ซีเจมอร์ และร้านถูกดี มีมาตรฐาน รวมกว่า 6,000 สาขา และร้านค้าปลีกอื่นๆอีกกว่า 80,000 ร้านจากศูนย์กระจายสินค้าทั้ง 31

แห่ง และ 790 ตัวแทนจำหน่าย ที่คอยกระจายสินค้าระดับอำเภอ เป็นโครงข่ายที่ครอบคลุมทั่วไทย และตรวจสอบจำนวนสินค้าได้ง่าย

“เสถียร” บอกอีกว่า ที่ผ่านมาในตลาดเบียร์มีเพียง 2 แบรนด์ให้เลือกซื้อ ทำให้ผู้บริโภคไม่มีทางเลือกมากนัก ในขณะที่มีผู้บริโภคจำนวนมากที่ต้องการดื่มเบียร์ที่หลากหลาย แต่เบียร์เหล่านี้มักเป็นเบียร์นำเข้าที่มีราคาค่อนข้างสูง ทำให้โอกาสเข้าถึงมีน้อย จึงถือเป็นช่องว่างทางการตลาดที่ยังไม่มีใครกล้าเข้ามาเล่น สิ่งนี้ถือเป็นโอกาสของกลุ่มคาราบาว ในการนำเสนอทางเลือกใหม่เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้

ดังนั้นคาราบาวจึงนำเสนอทางเลือกให้ถึง 5 รสชาติ ได้แก่

"คาราบาว เบียร์"  2 รสชาติ ประกอบด้วย

  • คาราบาว เบียร์ Lager Beer (เบียร์ลาเกอร์)
  • คาราบาว เบียร์  Dunkel Beer (เบียร์ดุงเกล)

"ตะวันแดง เบียร์"  3 รสชาติ ประกอบด้วย

  • ตะวันแดง เบียร์ Weizen Beer (เบียร์ไวเซ่น)
  • ตะวันแดง เบียร์ Rose Beer (เบียร์โรเซ่)
  • ตะวันแดง เบียร์ IPA Beer (เบียร์ไอพีเอ)

แม้จะเพิ่งเปิดตัวไม่ถึง 2 สัปดาห์ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ากระแสตอบรับเบียร์ “คาราบาว” และ “ตะวันแดง” นั้นร้อนแรงมากโข แม้จะถูกพี่ใหญ่ในตลาด เดินเกมสกัดกั้น แต่ก็ไม่อาจต้านทานหรือฉุดพลังนักดื่มได้

“คาราบาว” สั่งเพิ่มกำลังการผลิตอีก 1 เท่าตัว แก้ปัญหาเบียร์ขาดตลาด

ด้วยยุทธศาสตร์ที่ “เสถียร” วางไว้คือ รสชาติต้องดี , แข่งขันได้ในทุกตลาด โดย “คาราบาว” จะมุ่งเจาะเซ็กเม้นท์อีโคโนมี  ส่วน “ตะวันแดง” จะมุ่งเจาะเซ็กเม้นท์สแตนดาร์ดและพรีเมี่ยม, มีโครงข่ายกระจายสินค้า ที่ครอบคลุมทั่วประเทศ และยุทธศาสตร์สุดท้ายคือ กลยุทธ์การตลาด โดยเฉพาะ Sport Marketing  ซึ่ง “คาราบาว” เชี่ยวชาญเรื่องนี้อยู่แล้ว

“เบอร์ 1 ในตลาดเบียร์ คือเป้าหมายที่เสถียร ตั้งไว้ แต่อย่าถามว่าเมื่อไร เพราะ “เสถียร” บอกว่า “รอพิสูจน์ที่ผลงานในอนาคตดีกว่า”