ร้านอาหารญี่ปุ่นเนื้อหอม "นิกิวาอิ กรุ๊ป" สยายปีกแฟรนไชส์ รุกภูธร-ต่างแดน

15 ก.พ. 2567 | 08:40 น.

เปิดแนวรบ “นิกิวาอิ กรุ๊ป” ยักษ์แฟรนไชส์ร้านอาหารญี่ปุ่น เดินหน้าพัฒนาระบบ ERP แม็กเน็ตดึงนักลงทุนเพิ่ม หวังขยายตลาดต่างจังหวัด ตั้งเป้าสิ้นปี เพิ่มสาขาเป็น 300 แห่ง พร้อมส่งแบรนด์ “Nigiwai Sushi” ลุยตลาดต่างแดน นำร่องปักหมุดออสเตรีย ต้นปี 68

ข้อมูลองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) กรุงเทพฯ ระบุว่า อาหารญี่ปุ่นยังคงได้รับความนิยมและขยายตัวออกไปทั่วโลก โดยในปี 2566 มีจำนวนร้านอาหารญี่ปุ่นในต่างประเทศรวม มากกว่า 1.2 แสนร้าน โดยประเทศไทยอยู่ในอันดับ 6 ของโลก ที่มีร้านอาหารญี่ปุ่นมากถึง 5,330 ร้าน สะท้อนให้เห็นถึงความนิยมในอาหารญี่ปุ่นของคนไทย โดยอันดับ 1 ได้แก่ จีน (78,760 ร้าน) เกาหลีใต้ (18,210 ร้าน) ไต้หวัน (10,450 ร้าน) สหรัฐอเมริกา (10,120 ร้าน) ฮ่องกง (5,780 ร้าน) ตามลำดับ ซึ่งในจำนวนดังกล่าวเป็นร้านซูชิ มากที่สุด ขณะที่ร้านประเภทเทปันยากิ ลดลงมากที่สุด ทำให้วันนี้ภาพรวมตลาดร้านอาหารญี่ปุ่นในเมืองไทย ยังคงแข่งขันดุเดือดและมีการขยายตัวต่อเนื่อง

ร้านอาหารญี่ปุ่นเนื้อหอม \"นิกิวาอิ กรุ๊ป\" สยายปีกแฟรนไชส์ รุกภูธร-ต่างแดน

นายวรันธร แดงใหญ่ กรรมการบริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท นิกิวาอิ กรุ๊ป จำกัด ผู้บริหารแฟรนไชส์ ร้านอาหารญี่ปุ่น  อาทิ Nigiwai Sushi, Nigiwai Cuisine, Nigiwai Yakiniku & Sushi Buffet, Viengviet, เตี๋ยวปริญญา, ASIAN HOTPOT และ KIN MATCHA เป็นต้น เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภาพรวมร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทยมีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะราเมง หรือราเมงเฉพาะทาง ที่ได้รับความนิยมและเติบโตมากที่สุด โดยปีนี้บริษัทมีแผนขยายสาขาไปตามต่างจังหวัดที่ไม่มีร้านอาหารญี่ปุ่น พร้อมทำการตลาดออนไลน์เป็นหลัก เพราะต้องการให้เห็นความเคลื่อนไหวของแบรนด์และดึงดูดความสนใจให้เป็นที่รู้จักของนักลงทุน เพื่อตอบสนองความต้องการของนักลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์ บริษัทตั้งเป้าหมายที่จะขยายสาขาในปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 300 สาขาทั่วประเทศ หรือเพิ่มขึ้นอีก 60 สาขาจากปัจจุบันที่มีสาขาอยู่ 162 สาขา

โดยการลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์ในปีนี้มองว่ายังเป็นโอกาส แม้ปัจจุบันผู้ซื้อและผู้ขายไม่ค่อยมีความรู้ แตกต่างจากธุรกิจอื่นๆ แต่ปีนี้จะมีผู้คนออกมาให้ความรู้เกี่ยวกับธุรกิจแฟรนไชส์มากขึ้น น่าจะเห็นหลายๆ แบรนด์ออกมาทำธุรกิจแฟรนไชส์เพิ่มขึ้น เนื่องจากตอนนี้ยังมีปัญหาด้านเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อ ทำให้ดอกเบี้ยธนาคารสูงขึ้น จนแบงก์ไม่กล้าปล่อยกู้ ส่งผลให้หลายธุรกิจหันมาทำธุรกิจรูปแบบแฟรนไชส์มากขึ้น เพราะไม่ต้องไปกู้แบงก์

นายวรันธร กล่าวอีกว่า เทรนด์การนั่งประทานอาหารคนเดียว กำลังได้รับความนิยมมากขึ้น ผู้บริโภคหลายๆ คน มานั่งรับประทานชาบูหรือปิ้งย่างคนเดียวมากขึ้น ทำให้ต้องปรับที่นั่งสำหรับผู้บริโภค เพื่อตอบสนองความต้องการ โดยสาเหตุหลักๆ ของเทรนด์นี้มาจากผู้คนมีไลฟ์สไตล์ที่เร่งรีบ ทำงานหนัก มีเวลาน้อยลง

ร้านอาหารญี่ปุ่นเนื้อหอม \"นิกิวาอิ กรุ๊ป\" สยายปีกแฟรนไชส์ รุกภูธร-ต่างแดน

ทำให้ครอบครัวมีขนาดเล็กลง ผู้คนอาศัยอยู่คนเดียวมากขึ้น อีกทั้งทัศนคติต่อการรับประทานคนเดียวที่เปลี่ยนไป ในอดีตการรับประทานคนเดียวอาจถูกมองในแง่ลบว่าเป็นคนเหงา ไม่มีเพื่อนแต่ในปัจจุบัน ผู้คนมองการรับประทานคนเดียวเป็นเรื่องปกติ เป็นการใช้เวลากับตัวเอง และเป็นเหมือนการผ่อนคลายไปในตัวด้วย

ในปีนี้นิกิวาอิ กรุ๊ปมีแผนจะขยายธุรกิจแฟรนไชส์ร้าน “นิกิวาอิ ซูชิ” ไปที่ต่างประเทศ เริ่มต้นที่ออสเตรียเป็นที่แรก โดยเริ่มก่อสร้างในไตรมาส 4 และเป็นการร่วมทุนคนละครึ่ง เนื่องจากอาหารญี่ปุ่นได้รับความนิยมไปทั่วโลก ผู้คนต่างชื่นชอบในรสชาติและความสดใหม่ของวัตถุดิบ ซูชิเป็นหนึ่งในอาหารญี่ปุ่นที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เหมาะสำหรับทุกเพศทุกวัย มีความหลากหลายในไลน์อาหาร ซึ่งประเทศออสเตรียเป็นตลาดอาหารญี่ปุ่นในต่างประเทศที่มีขนาดใหญ่และเติบโตอย่างต่อเนื่อง ยังมีโอกาสอีกมากสำหรับการขยายธุรกิจ

“การเปิดร้านซูชิไม่จำเป็นต้องมีเงินลงทุนสูง สามารถเริ่มต้นได้ด้วยเงินทุนไม่มาก มีผลกำไรที่ดี ดังนั้นร้านนิกิวาอิ ซูชิ จะเป็นสาขาแรกในต่างประเทศ ในอนาคตได้วางแผนไว้ว่าอาจจะเป็นธุรกิจแฟรนไชส์ให้สำหรับคนไทยที่อยู่ในต่างประเทศ โดยคาดว่านิกิวาอิ ซูชิ จะเปิดให้บริการได้ในต้นปี 2568”

ทั้งนี้ในปี 2566 หลังนิกิวาอิ กรุ๊ปฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 และเริ่มทำการตลาดออนไลน์มากขึ้น พร้อมปรับกลยุทธ์ขยายสาขาไปตามต่างจังหวัดที่ไม่มีร้านอาหารญี่ปุ่น รวมถึงขยายองค์กรเพื่อทำให้กระบวนในการทำงานมีความทันสมัยและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ทำให้ในปีที่ผ่านมาบริษัทมีรายได้รวมกว่า 110 ล้านบาท กำไรสุทธิ 8% โดยมีเป้าหมายอีก 3 ปี หรือปี 2570 จะขึ้นเป็นเบอร์ 1 ในธุรกิจแฟรนไชส์ พร้อมมีระบบ ERP ที่แข็งแรงและเป็นแม็กเน็ตช่วยดึงดูดนักลงทุน

“จุดเด่นของนิกิวาอิ กรุ๊ป คือมีระบบแฟรนไชส์ที่ครบวงจร และมีความหลากหลายของธุรกิจแฟรนไชส์ โดยมีธุรกิจแฟรนไชส์ตั้งแต่ 5.9 หมื่นบาท-30 ล้านบาท มีระบบ POS และ ระบบ ERP (Enterprise Resource Planning) ซอฟต์แวร์สำหรับการวางแผนและจัดการห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่การผลิต การบริการ การเงิน และกระบวนการอื่นๆ ของธุรกิจแฟรนไชส์ สามารถใช้ทำให้กิจกรรมต่างๆ ได้โดยอัตโนมัติและใช้งานได้สะดวกต่อผู้ลงทุน เช่น ระบบการบัญชีและการจัดซื้อ, การจัดการลูกค้าสัมพันธ์, การจัดการความเสี่ยง และการดำเนินงานซัพพลายเชน เป็นต้น”

ร้านอาหารญี่ปุ่นเนื้อหอม \"นิกิวาอิ กรุ๊ป\" สยายปีกแฟรนไชส์ รุกภูธร-ต่างแดน

ปัจจุบัน นิกิวาอิ กรุ๊ป เป็นธุรกิจเกี่ยวกับแฟรนไชส์ร้านอาหารญี่ปุ่นมีทั้งหมดมี 12 แบรนด์ ได้แก่ Nigiwai Sushi, Nigiwai Cuisine, Nigiwai Shabu & Sushi Buffet, Nigiwai Yakiniku & Sushi Buffet, Nigi Gyu, Nigi Niku, Yuupot, Durianism Cafe, Viengviet, เตี๋ยวปริญญา, ASIAN HOTPOT และ KIN MATCHA มีแบรนด์หลักทั้งหมด 6 แบรนด์ ได้แก่ Nigiwai Sushi : ร้านอาหารญี่ปุ่นเน้นใช้วัตถุดิบพรีเมียม, Nigiwai Cuisine : ภัตตาคารอาหารญี่ปุ่นระดับ Luxury Class, Nigiwai Shabu & Sushi Buffet : ร้านบุฟเฟต์ชาบูสไตล์ญี่ปุ่น, Nigiwai Yakiniku & Sushi Buffet : ร้านบุฟเฟต์ปิ้งย่างสไตล์ญี่ปุ่นแท้ ๆ, Nigi Gyu : ร้านชาบูปิ้งย่างสไตล์เกาหลี, Nigi Niku : ร้านปิ้งย่างสไตล์ญี่ปุ่นรูปแบบเซตอาหาร

อีก 6 แบรนด์ที่เข้าไปร่วมทุน ได้แก่ Yuupot : ร้านบุฟเฟ่ต์ชาบูปิ้งย่างสไตล์เกาหลี, Durianism Cafe : คาเฟ่ที่มีทุเรียนพร้อมเสิร์ฟ 365 วัน, Viengviet : เฝอบาร์สไตล์ญี่ปุ่นเจ้าแรกในประเทศไทย, เตี๋ยวปริญญา : ก๋วยเตี๋ยวเนื้อตุ๋นสูตร 100 ปี, ASIAN HOTPOT : หม้อไฟพรีเมียม และ KIN MATCHA : ร้านจำหน่ายมัทฉะชาเขียว

สำหรับผลประกอบการของนิกิวาอิ กรุ๊ป ในปี 2563 มีรายได้รวม 3,514,398.22 ล้านบาท ขาดทุน 1,192,908.44 ล้านบาท ปี 2564 มีรายได้รวม 22,482,642.29 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,437,815.012 ล้านบาท ปี 2565 มีรายได้รวม 73,803,086.66 ล้านบาท กำไรสุทธิ 2,779,546.71 ล้านบาท ปี 2566 มีรายได้รวม 110 ล้านบาท กำไรสุทธิ 8% ใช้งบลงทุน 25% และปี 2567 ไตรมาส 1 นิกิวาอิ กรุ๊ป มีผลตอบรับที่ดี โดยจะใช้งบลงทุนใกล้เคียงกับปีก่อน

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,966 วันที่ 15 - 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567