โต้มติบอร์ดแอลกอฮอล์ ไม่ขยายเวลาขาย เชื่อมั่นกระตุ้นการจับจ่ายได้จริง

17 ก.พ. 2567 | 09:00 น.

“สมาคมฯร้านอาหาร” อึ้งมติบอร์ดควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ขยายเวลาจำหน่าย วอนรัฐให้ความสำคัญ ช่วยเหลือผู้ประกอบการ เชื่อมั่นเป็นซอฟ์ตพาวเวอร์ด้านการท่องเที่ยว กระตุ้นการจับจ่ายได้จริง

KEY

POINTS

  • ช่วงเวลาที่กำหนดให้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้คือ ตั้งแต่เวลา 11.00 น. ถึงเวลา 14.00 น. และตั้งแต่เวลา 17.00 น.  ถึงเวลา 24.00 น. 
  • สมาคมผู้ประกอบการร้านอาหาร นำเสนอให้ขยายเวลาการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเวลา 14.00 - 17.00 น. เพื่อให้ลูกค้าที่มาใช้เวลาในช่วงดังกล่าว สามารถกิน ดื่มได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติ 

หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า ในส่วนของคณะกรรมการควบคุมฯ พิจารณาตามพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ไม่สามารถปรับแก้ขยายเวลาจำหน่ายได้ โดยกำหนดเวลาการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังคงอยู่ใน 2 ช่วงเวลาคือ ตั้งแต่เวลา 11.00 น. ถึงเวลา 14.00 น. และตั้งแต่เวลา 17.00 น.  ถึงเวลา 24.00 น.

โดยนพ.ธงชัย  กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวภายหลังการประชุมว่า เบื้องต้นมติเป็นเอกฉันท์ว่า ในส่วนของคณะกรรมการควบคุมฯ พิจารณาตามพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ไม่สามารถปรับแก้ขยายเวลาจำหน่ายได้ เนื่องจากยังมีกฎหมายอีกฉบับ คือ ปว.253 กฎหมายของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 253 เมื่อ พ.ศ.2515 ซึ่งกำหนดเวลา 2 ช่วงเวลาจำหน่าย คือ ตั้งแต่เวลา 11.00 น. ถึงเวลา 14.00 น. และตั้งแต่เวลา 17.00 น.  ถึงเวลา 24.00 น.  โดยจะเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ พิจารณาต่อไปนั้น

นายเสน่ห์ สมศรี นายกสมาคมผู้ประกอบการร้านอาหาร กล่าวแสดงความคิดเห็นกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในฐานะตัวแทนสมาคมผู้ประกอบการร้านอาหาร ซึ่งมีสมาชิกที่เป็นร้านอาหารทั่วประเทศไทยมากกว่า 5,000 ร้านค้า ต้องประสบกับปัญหาและอุปสรรคในการให้บริการกับลูกค้าที่เป็นผู้บริโภคและนักท่องเที่ยวทั่วไปเกี่ยวกับการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเวลา 14.00 - 17.00 น.มาโดยตลอดนั้น

โต้มติบอร์ดแอลกอฮอล์ ไม่ขยายเวลาขาย เชื่อมั่นกระตุ้นการจับจ่ายได้จริง

สมาคมได้มีการผลักดันในการขอให้ยกเลิกช่วงเวลาห้ามขาย 14.00 - 17.00 น. มาอย่างต่อเนื่อง เพราะนอกจากจะลดปัญหาและอุปสรรคในการทำธุรกิจของอาหารเครื่องดื่มแล้ว ยังทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจกับธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย เพราะในส่วนของผู้ประกอบการร้านอาหาร ช่วงเวลาห้ามขายทำให้การดำเนินกิจการติดขัด

เช่น ลูกค้าใช้บริการตั้งแต่ช่วงเช้า หรืองานเลี้ยงต่างๆ เมื่อถึงเวลา 14.00 น. ก็ไม่สามารถให้บริการได้ ซึ่งเป็นปัญหานี้กับร้านอาหารทั่วประเทศ และแม้ว่าด้านร้านค้าสมัยใหม่เช่น ไฮเปอร์มาร์เก็ตจะมีระบบจำกัดการขายตามช่วงเวลา แต่ยังมีร้านค้าบางส่วนที่ยังไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายที่กำหนด ทั้งที่ร้านอาหารกลับจำหน่ายในช่วงเวลานี้ไม่ได้

เสน่ห์ สมศรี

“นโยบายของรัฐบาลเดินหน้าผลักดันซอฟต์พาวเวอร์และการท่องเที่ยว ด้วยเป้าหมายที่ต้องการเพิ่มการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เพื่อผลักดันการท่องเที่ยวซึ่งเป็นหนึ่งในรายได้หลักของประเทศ ผ่านการกระตุ้นให้เกิดการใช้สอย กินดื่ม ซึ่งที่ผ่านมาในส่วนของนักท่องเที่ยวก็มีคำถามอยู่ตลอดว่า เหตุใดจึงไม่สามารถซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ในช่วง 14.00 - 17.00น. ได้

ดังนั้น การยกเลิกช่วงเวลาห้ามขาย จะทำให้ประเทศไทยเป็นจุดมุ่งหมายในการท่องเที่ยวที่สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น เปิดให้นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติกินดื่มได้เต็มที่ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจการจับจ่ายใช้สอยของธุรกิจในประเทศ และผลักดันการท่องเที่ยวในภาพรวมให้เดินหน้าได้ โดยมีโอกาสมากมาย รวมถึงการเริ่มต้นฟรีวีซ่า ไทย-จีน ในวันที่ 1 มีนาคมนี้ที่ด้วย”

นายเสน่ห์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา เราเห็นความพยายามของรัฐบาลปัจจุบันในการสนันสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านภาคการท่องเที่ยว ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าการกินดื่ม ก็เป็นหัวใจหลักของการท่องเที่ยวเช่นกัน การพิจารณายกเลิกช่วงเวลาห้ามขาย 14.00 - 17.00 น. จึงจะเป็นผลดี ทำให้เหล่าผู้ประกอบการร้านอาหารมีความสะดวกสบายในการดำเนินธุรกิจ

โต้มติบอร์ดแอลกอฮอล์ ไม่ขยายเวลาขาย เชื่อมั่นกระตุ้นการจับจ่ายได้จริง

ผู้บริโภคและนักท่องเที่ยวเองก็มีอิสระในการใช้บริการร้านอาหารได้อย่างไม่สะดุด เม็ดเงินมาแน่นอน ทางสมาคม จึงอยากให้รัฐบาลเห็นความสำคัญ และพิจารณาผลักดันตรงนี้ ในขณะเดียวกันที่ผ่านมาทางผู้ประกอบการร้านอาหารก็ได้ให้ความร่วมมือต่อนโยบายของภาครัฐเกี่ยวกับการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับเด็กและเยาวชน โดยไม่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับบุคลอายุต่ำกว่า 20 ปี

รวมทั้งยังได้ให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการร่วมรณรงค์ป้องกันอุบัติเหตุบนท้องถนนอันเนื่องมาจากเมาแล้วขับอีกด้วย และขอยืนยันสนับสนุนในการบังคับใช้กฎหมายต่อนโยบายทั้งสองอย่างเข้มข้นเพื่อให้มีประสิทธิภาพ เพราะเป็นการป้องกันปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ไม่รับผิดชอบโดยตรงอย่างยั่งยืน และพร้อมให้ความร่วมมือในการช่วยกวดขันตรวจสอบ การให้ความรู้เกี่ยวกับการดื่มที่ถูกต้อง หรือการโปรโมตการดื่มอย่างมีความรับผิดชอบ เพื่อวางมาตรการป้องกันทีละขั้นทีละตอนต่อไป