“เพชร โอสถานุเคราะห์” ทายาทรุ่น 4 กับจุดเปลี่ยนสำคัญ “โอสถสภา”

15 ส.ค. 2566 | 08:35 น.

“เพชร โอสถานุเคราะห์” ทายาทรุ่น 4 “โอสถสภา” ผู้ลบภาพธุรกิจครอบครัว สู่ “บริษัทมหาชน” องค์กร 132 ปี กับรายได้ 2.7 หมื่นล้าน

หลายคนอาจจะรู้จักและคุ้นเคยกับ “เพชร โอสถานุเคราะห์” ในฐานะศิลปินเจ้าของผลงานเพลงดังอย่าง “เพียงชายคนนี้ (ไม่ใช่ผู้วิเศษ)” และอธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพ แต่ “เพชร” ยังเป็น อดีตประธานคณะกรรมการบริหาร และ CEO บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) องค์กรไทยที่มีอายุ 132 ปี มีผลประกอบการสูงถึง 27,482 ล้านบาทในปี 2565

“เพชร โอสถานุเคราะห์” เป็นบุตรคนโต ของ “สุรัตน์และปองทิพย์ โอสถานุเคราะห์” (สุรัตน์เป็นบุตรของนายสวัสดิ์ โอสถานุเคราะห์ ซึ่งเป็นบุตรของนายแป๊ะ โอสถานุเคราะห์ ผู้ก่อตั้งห้างขายยาโอสถสภา (เต๊กเฮงหยู) ต้นสกุลโอสถานุเคราะห์) เท่ากับว่า “เพชร” เป็นเจนเนอเรชั่น 4  ของ "โอสถสภา"

เพชร โอสถานุเคราะห์

“เพชร” ยังมีน้องชายคือ “รัตน์ โอสถานุเคราะห์”  หลังสำเร็จการศึกษาด้านบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยเซาท์เทินอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา กลับมาทำงานที่ตัวเองชื่อชอบ คืองานด้านโฆษณา ก่อนที่จะออกผลงานเพลง “เพชร” เป็นทั้งศิลปินและนักธุรกิจหัวก้าวหน้า ผู้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ปรับโฉมธุรกิจ เป็นผู้ก่อตั้งเอเจนซี่โฆษณา Spa Advertising (ปัจจุบันคือ บริษัท สปา – ฮาคูโฮโด จำกัด)  และ ก่อตั้งนิตยสารผู้หญิงรวมถึงรายการโทรทัศน์ผู้หญิงวันนี้ ที่โด่งดังในยุค 80’s –90’s 

“เพชร” เริ่มเข้ามาช่วยงานครอบครัวในปี 2520 โดยเรียนรู้การบริหารจากคุณพ่อ พร้อมกับนักธุรกิจระดับแนวหน้ารอบข้าง โดย “เพชร” เลือกดูแลธุรกิจด้านการศึกษา “มหาวิทยาลัยกรุงเทพ” ที่คุณพ่อเป็นผู้ก่อตั้งขึ้น ขณะที่ “รัตน์” ดูแลกิจการ “โอสถสภา” ก่อนที่ในเวลาต่อมา “รัตน์” จะลดบทบาทในโอสถสภาลง ด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ ทำให้ “เพชร” ต้องเข้ามารับหน้าที่บริหารแทน

ด้วยความชื่นชอบด้านงานโฆษณาเป็นพิเศษ “เพชร” จึงรับผิดชอบดูแลงานด้านการตลาดเป็นหลัก พร้อมให้คำแนะนำการสร้างสรรค์งานโฆษณาให้กับสินค้าของโอสถสภาหลายตัว จนเป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงจนถึงปัจจุบัน

“เพชร โอสถานุเคราะห์” ทายาทรุ่น 4 กับจุดเปลี่ยนสำคัญ “โอสถสภา”

จุดเปลี่ยนสำคัญของ “โอสถสภา”

“เพชร” นำทีมผู้บริหารและร่วมขับเคลื่อนโครงการที่สำคัญของโอสถสภาในหลายๆ โครงการ จนถึง “จุดเปลี่ยน” สำคัญ เมื่อโอสถสภาตัดสินใจลบภาพ “ธุรกิจครอบครัว” นำบริษัท “โอสถสภา” เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในปี 2561

“นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของโอสถสภาจากบริษัทเอกชนที่เริ่มต้นมาจากธุรกิจเล็กๆ ของครอบครัว จนวันนี้ โอสถสภาได้ก้าวเข้าสู่การดำเนินธุรกิจเป็นปีที่ 132”

"เพชร โอสถานุเคราะห์" อดีตซีอีโอ โอสถสภา หัวใจวายเฉียบพลัน ในวัย 69 ปี

แม้ “โอสถสภา” จะเปลี่ยนสถานะจากธุรกิจครอบครัว ก้าวสู่ “บริษัทมหาชน” แต่ “เพชร” ยังนั่งบริหารในตำแหน่ง “ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร” จนกระทั่งปี 2563 “เพชร” ประกาศลาออกจากตำแหน่ง ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

ต่อมาในปี 2564 ผู้ถือหุ้นกลุ่ม Orizon (ครอบครัวโอสถานุเคราะห์) และเพชร โอสถานุเคราะห์ ขายหุ้นจำนวน 381 ล้านหุ้น หรือ 12.7% ของทุนจดทะเบียน มูลค่ากว่า 12,573 ล้านบาท ให้กับนายนิติ โอสถานุเคราะห์ 215 ล้านหุ้น หรือ 7.2% และกลุ่มนักลงทุนอื่น 166 ล้านหุ้น หรือ 5.5% 5.5% ของทุนจดทะเบียน  ส่งผลให้นายนิติ โอสถานุเคราะห์ มีสัดส่วนการถือหุ้นเพิ่มจาก 16.65% เป็น 23.8% จาก 16.65% และกลุ่ม Orizon ถือหุ้นลดลงจาก 27.75% เหลือเพียง 15.06%  

พร้อมกับการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ โดย “เพชร โอสถานุเคราะห์”  ขึ้นมาดำรงตำแหน่ง รองประธานกรรมการ และมอบหมายให้ “กรรณิกา ชลิตอาภรณ์” ผู้บริหารที่มีประสบความสำเร็จในวงการธุรกิจที่ผ่านงานกับบริษัทไทยและบริษัทข้ามชาติกว่า 40 ปีมาดำรงตำแหน่ง “ประธานคณะกรรมการบริหาร”

พร้อมแต่งตั้งให้ “ธนา ไชยประสิทธิ์” หนึ่งในผู้บริหารรุ่นที่สี่ของตระกูลโอสถานุเคราะห์ ขึ้นเป็นรักษาการ CEO โดยเป็นคณะกรรมการบริหารร่วมงานกับโอสถสภามานานกว่า 30 ปี เป็นผู้บริหารที่มีประสบการณ์ครอบคลุมในทุกธุรกิจของบริษัท เป็นบุคคลที่มีความสัมพันธ์และใกล้ชิดกับพนักงานทุกระดับ

ประวัติ “โอสถสภา”

“โอสถสภา” ดั้งเดิมชื่อ ““เต๊กเฮงหยู”  ร้านขายของเบ็ดเตล็ดย่านสำเพ็ง ก่อตั้งโดย “นายแป๊ะ แซ่ลิ้ม” ต้นตระกูลโอสถานุเคราะห์ ในปี พ.ศ. 2434 ซึ่งเป็นที่รู้จักของชาวบ้าน ด้วยสูตรยาจีนโบราณที่ชื่อว่า “ยากฤษณากลั่น” มีสรรพคุณบรรเทาโรคปวดทอ้งต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ซึ่งยากฤษณากลั่นนี้เองที่ถูกทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 เพื่อใช้ในการซ้อมรบของกิจการเสือป่า ที่จังหวัดนครปฐม

“เพชร โอสถานุเคราะห์” ทายาทรุ่น 4 กับจุดเปลี่ยนสำคัญ “โอสถสภา”

ประสิทธิผลของยากฤษณากลั่น นำไปสู่ความสำเร็จและความภาคภูมิใจของร้านเต๊กเฮงหยู ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเล็งเห็นจึงเขียนแนะนำให้ใช้ยากฤษณากลั่นในการรักษาโรคท้องร่วง ในพระราชนิพนธ์ “กันป่วย” นอกจากนี้ยังพระราชทานเข็มเสือป่า และทรงประทานนามสกุลให้แก่นายแป๊ะ อันเป็นมงคลว่า “โอสถานุเคราะห์”

ต่อมาในปี พ.ศ. 2475 ร้านเต๊กเฮงหยู ย้ายไปยังถนนเจริญกรุง และเปลี่ยนชื่อร้านเป็น “โอสถสถานเต๊กเฮงหยู” พร้อมผลิตยาสามัญประจำบ้านอื่นๆ เช่น ยาธาตุ, ยาแก้ไอ,ยาอมวัน-วัน,ยาอมโบตัน และยาทัมใจ

“เพชร โอสถานุเคราะห์” ทายาทรุ่น 4 กับจุดเปลี่ยนสำคัญ “โอสถสภา”

ในปี พ.ศ. 2492 จดทะเบียนและเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น บริษัท โอสถสภา (เต๊กเฮงหยู) จำกัด จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2538 เปลี่ยนชื่อเป็น "บริษัท โอสถสภา จำกัด"”ก่อนที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และเปลี่ยนชื่อเป็น “บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน)” ในปี 2561

วันนี้ “โอสถสภา” ถือเป็นผู้ผลิตชั้นนำในหลายประเทศ เติบโตอย่างต่อเนื่องและมุ่งมั่นพัฒนาสร้างผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคด้วยนวัตกรรมที่ทันสมัยเพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ผู้บริโภค โดยธุรกิจหลัก ประกอบด้วย การผลิต การตลาด และจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค อาทิ   ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนบุคคล ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและลูกอม รวมทั้งการให้บริการรับจ้างผลิตสินค้า และบรรจุภัณฑ์ (OEM) ธุรกิจตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ และธุรกิจให้บริการเทคโนโลยีการตลาด

โดยในปี 2565 “โอสถสภา” มีรายได้รวม 27,482 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,934 ล้านบาท

ขอบคุณข้อมูลจาก : บมจ. โอสถสภา, มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

“เพชร โอสถานุเคราะห์” ทายาทรุ่น 4 กับจุดเปลี่ยนสำคัญ “โอสถสภา”