แบกต้นทุนหลังแอ่น ค่าแรง-น้ำจ่อคิวขึ้น บิ๊กเนมสุดอั้นต้องปรับราคา

23 พ.ค. 2566 | 22:27 น.

อ่วมต้นทุนพุ่ง บิ๊กเนมเร่งปรับแผนรับมือ ก่อนสุดอั้นต้องขยับราคาขึ้น “ยู แอนด์ ไอ” ชี้สินค้าอิมพอร์ตขยับราคาขึ้น 10-15% หันคุมเข้มบริหารจัดการ ใช้เครื่องจักรแทนคน ทายาทใบหยก ยอมรับ 1-2 เดือนขึ้นแล้ว 5% รอดูจังหวะปรับราคาขึ้น

นอกเหนือจากค่าขนส่งที่สูงขึ้นตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ผนวกสินค้าอุปโภคบริโภคในหลายรายการที่ปรับราคาสูงขึ้นด้วยสาเหตุของต้นทุนการเพาะปลูกที่เพิ่มขึ้น และผลผลิตที่ออกสู่ตลาดผันผวนตามสภาพอากาศ ทำให้ราคาขยับสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นไข่ไก่, ผัก, มะนาว ฯลฯ ล่าสุดยังต้องจ่ายแบกรับภาระค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นเกือบเท่าตัว และยังมีแนวโน้มปรับขึ้นค่าน้ำประปา และค่าแรงงานตามมาอีกด้วย ซึ่งค่าใช้จ่ายเหล่านี้กลายเป็นต้นทุนที่ล้วนส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการโดยเฉพาะร้านอาหาร ทำให้ต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้น

นายนฤชิต โรจนยางกูร ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ยู แอนด์ ไอ กรุ๊ป จำกัด เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ต้นทุนหลักของร้านบุฟเฟ่ต์จะเป็นต้นทุนอาหารที่ลูกค้าทานภายในร้าน คิดเป็นสัดส่วน 40-45% ซึ่งตั้งแต่ปีที่ผ่านมา วัตถุดิบที่นำเข้าจากต่างประเทศกว่า 50% เช่น เนื้อ เครื่องปรุง ฯลฯ ต่างปรับราคาขึ้น ผนวกกับสินค้าวัตถุดิบอื่นๆที่ปรับขึ้นเช่นกัน ทำให้บริษัทได้รับผลกระทบ ล่าสุดในต้นปีที่ผ่านมา สินค้าบางหมวด เช่น เนื้อนำเข้า ฯลฯ ก็ปรับราคาขึ้นอีก 10-15% ส่วนผักสดในประเทศ ก็มีราคาที่สวิงขึ้นลงตามชนิดและฤดูกาล

นอกจากนี้ยังมีต้นทุนในส่วนของค่าแรงพนักงาน และค่าใช้จ่ายอื่น เช่น ค่าเช่า ซึ่งไม่ได้รับผลกระทบมากเพราะเป็นไปตามสัญญาเช่าเดิม ค่าใช้จ่ายกลุ่มสาธารณูปโภค ซึ่งยังไม่ได้รับผลกระทบมาก เพราะมีสัดส่วนราว 3-4% ของยอดขาย

แบกต้นทุนหลังแอ่น ค่าแรง-น้ำจ่อคิวขึ้น บิ๊กเนมสุดอั้นต้องปรับราคา

“จากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นทำให้บริษัทมีการพิจารณาขึ้นราคาขายให้กับผู้บริโภค แต่ยืนยันว่าการขึ้นราคาจะเป็นออฟชั่นสุดท้ายเมื่อบริษัทไม่สามารถควบคุมต้นทุนอื่นได้ เบื้องต้นบริษัทพยายามควบคุมหลายๆจุดให้ได้ก่อน เช่น การล็อคราคาสินค้า 3 เดือน 6 เดือน หรือ 1 ปีขึ้นอยู่กับคู่ค้า เพราะการสั่งซื้อในปริมาณที่มากทำให้บริษัทมีอำนาจต่อรอง และซัพพลายเออร์ สามารถบริหารวัตถุดิบในมือของตัวเองได้”

ทั้งนี้บริษัทยังให้ความสำคัญกับการจัดการของเสีย (Wastes) ที่เกิดขึ้นทั้งของเสียที่เกิดจากการจัดการภายในของร้านเอง โดยควบคุมการผลิตสินค้าจากครัวกลาง ให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพได้มากขึ้น ใช้กำลังคนลดลงโดยนำเครื่องจักรมาใช้แทนเพื่อลดต้นทุนแรงงาน ใช้ส่วนที่เหลือจากการตัดแต่งผัก ตัดแต่งเนื้อผิดรูปมาแปรรูปเป็นอาหารบางอย่าง เช่น เมนูทานเล่น หรืออาหารที่ไม่จำเป็นต้องใช้รูปลักษณ์หน้าตาที่สวยงามมากนัก

นายนฤชิต กล่าวอีกว่า ปัญหาที่พบอีกด้านคือ ความผันผวนของค่าเงิน ทำให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปด้วยความยากลำบากและรายได้ติดลบในบางเดือน ซึ่งบริษัทคาดหวังว่า รัฐบาลใหม่ที่เข้ามาจะให้ความสำคัญกับการคงเสถียรภาพของค่าเงิน เพราะวัตถุดิบหลักของเราเป็นสินค้านำเข้าจำนวนมาก

แบกต้นทุนหลังแอ่น ค่าแรง-น้ำจ่อคิวขึ้น บิ๊กเนมสุดอั้นต้องปรับราคา

เพราะฉะนั้นเรื่องของค่าเงินจึงได้รับผลกระทบมากที่สุด เราไม่ได้กังวลเรื่องค่าเงินจะอ่อนค่าหรือจะแข็งค่า แต่เรากังวลความผันผวนของค่าเงินที่ทำให้การวางแพลนธุรกิจหลายๆเรื่องยากขึ้น ในปีที่แล้วเราประสบภาวะขาดทุนเพราะซัพพลายเออร์ บีบราคาวัตถุดิบที่ดีดตัวขึ้นเพราะฉะนั้นเรื่องแรกที่เราอยากจะให้รัฐบาลลงมาดูแลก็คือ การคงเสถียรภาพของค่าเงิน

ด้านนายปิยะเลิศ ใบหยก รองประธานกรรมการกลุ่มโรงแรมใบหยก และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีเอ็นเอฟ โฮลดิ้ง จำกัด ทายาทรุ่นที่ 3 ของตระกูลใบหยก ผู้บริหารร้านไก่ทอดเกาหลี “SPACE ZOO” กล่าวว่า ต้นทุนโดยรวมในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมาเพิ่มสูงขึ้นราว 5% จากค่าใช้จ่ายทั้งค่าวัตถุดิบ ค่าไฟ ฯลฯ อย่างไรก็ดีเบื้องต้นทางร้านยังไม่ได้ปรับขึ้นราคาสินค้าแต่อย่างใด

โดยแผนรับมือในระยะยาว คือรอดูจังหวะ เพื่อปรับราคาขึ้น ให้สมดุลกับต้นทุนที่สูงขึ้น ทั้งนี้บริษัทยังคงกังวลเรื่องของความผันผวนทางการเมือง ทำให้ต้องรอดูสถานการณ์อีกครั้งในครึ่งปีหลัง แต่ยังเชื่อว่าการแข่งขันในธุรกิจร้านอาหารจะยังสูงมาก ซึ่งจะส่งผลให้ร้านอาหารที่สามารถบริหารจัดการได้ก็จะเดินหน้าต่อ ส่วนร้านที่บริหารจัดการไม่ได้ก็จะต้องปิดกิจการไปในที่สุด

แบกต้นทุนหลังแอ่น ค่าแรง-น้ำจ่อคิวขึ้น บิ๊กเนมสุดอั้นต้องปรับราคา

ขณะที่นายอนันต์ รัตนมั่นคง ผู้จัดการทั่วไปกาแฟพันธุ์ไทย บริษัท กาแฟพันธุ์ไทย จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทต้องประคับประคองต้นทุนสินค้า และไม่ปรับขึ้นราคาขาย ซึ่งน่าจะเป็นแบรนด์เดียวที่ยังไม่มีการขึ้นราคาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว โดยต้นทุนหลักที่สูงขึ้นยังคงเป็นเมล็ดกาแฟ ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีการขยายสาขากาแฟพันธุ์ไทยจำนวนมาก ทำให้ต้องสั่งซื้อเมล็ดกาแฟในปริมาณมากและทำให้บริษัทมีอำนาจต่อรอง

นอกจากเมล็ดกาแฟที่เป็นต้นทุนหลักแล้ว ยังมีต้นทุนทางด้านค่าไฟที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งข่าวการจะปรับขึ้นราคาค่าน้ำประปา ก็จะเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของบริษัทในอนาคต รวมทั้งค่าแรงงาน ค่าเช่าและที่หนักสุดคือ ค่าแรง ที่มีการปรับขึ้น 4-5% แต่อย่างไรก็ตามยอดขายของกาแฟพันธุ์ไทยยังมีการเติบโตตามค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้นด้วย บริษัทจึงใช้กลยุทธ์ของการเพิ่มวอลลุ่มเข้าสู้ โดยเพิ่มอัตราเร่งในการขยายสาขา ซึ่งตอนนี้เทรนด์ของการเปิดแฟรนไชส์ของแบรนด์ยังดีอยู่เพราะเริ่มทำแบรนด์อย่างจริงจังได้ไม่นาน