“บิ๊กซี” คัมแบ็คตลาดหุ้น ระดมทุนใช้หนี้-ขยายลงทุน

30 มี.ค. 2566 | 03:16 น.

ยกเครื่องธุรกิจ “BJC” จัดทัพดัน “บิ๊กซี” กลับเข้าตลาด เสนอขายหุ้น 29.98% ภายใต้ชื่อ BRC หวังระดมทุนใช้หนี้-ขยายลงทุน

หลังจากที่บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC ประกาศแผนปรับโครงสร้างธุรกิจ โดยจัดพอร์ต โฟลิโอแยกธุรกิจการค้าปลีก การค้าส่ง การสั่งผลิต การนำเข้าและการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งการพัฒนาและการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ อันมีส่วนเกี่ยวข้องเกื้อหนุนกับการค้าปลีก และ/หรือการค้าส่ง และธุรกิจเดิมของ Big C ทั้งหมด ให้รวมอยู่ภายใต้การบริหารงานของบริษัท บิ๊กซี รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ “BRC”

พร้อมแต่งตั้ง นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่คนแรกของ BRC นั้น  ล่าสุด BRC จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย  เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกินร้อยละ 29.98 ของทุนชำระแล้วทั้งหมด

นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บิ๊กซี รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ “BRC” กล่าวว่า ปัจจุบัน BRC มีทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้ว 87,135,026,800 บาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 8,713,502,680 หุ้น  มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท

อัศวิน เตชะเจริญวิกุล

โดยบริษัทมีแผนการจะนำ BRC เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย  เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกินร้อยละ 29.98 ของทุนชำระแล้วทั้งหมดภายหลังการเพิ่มทุนและการออกและเสนอขายหุ้น IPO ซึ่งรวมจำนวนหุ้นสามัญที่จะจัดสรรให้แก่ผู้จัดหาหุ้นส่วนเกิน (Over-Allotment Agent) (หากมี) หรือจำนวนไม่เกิน 3,729,999,999 หุ้น ส่งผลให้ภายหลังการเพิ่มทุนและการเสนอขายหุ้น IPO จะมีจำนวนหุ้นรวมทั้งสิ้นไม่เกิน 12,443,502,679 หุ้น

“ทิศทางในการขับเคลื่อน BRC สู่การเติบโตอย่างยั่งยืนว่า “BRC”  คือบริษัทเรือธง (Flagship Company) ซึ่งดำเนินธุรกิจการค้าปลีก การค้าส่ง การสั่งผลิต การนำเข้าและการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภค ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งการพัฒนาและการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ อันมีส่วนเกี่ยวข้องเกื้อหนุนกับการค้าปลีก และการค้าส่ง

ซึ่งปัจจุบัน กลุ่มสินค้าและบริการทางค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) สร้างรายได้คิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 60 ของรายได้รวมของกลุ่ม BJC อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในช่องทางจัดจำหน่ายสินค้าในเครือ ซึ่งครอบคลุมธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ”

ในปีที่ผ่านมา BRC มีรายได้รวม 113,573  ล้านบาท กำไรสุทธิรวม 6,757 ล้านบาท และสินทรัพย์รวม 336,833 ล้านบาท โดยการปรับโครงสร้าง BRC เพื่อรองรับแผน IPO และการนำหุ้น BRC เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยนั้น จะส่งผลให้ BRC  สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างคล่องตัว เป็นอิสระ สามารถระดมทุนจากตลาดทุนได้ด้วยตัวเอง

บิ๊กซี

รวมถึงการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในรูปแบบต่าง ๆ พร้อมช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและการขยายธุรกิจต่อไปในอนาคต รวมทั้งยังเป็นการส่งเสริมแบรนด์บิ๊กซีและแบรนด์อื่น ๆ ในเครือ BRC ให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น อีกทั้งยังสามารถแสวงหาพันธมิตรทางธุรกิจและดึงดูดบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถใหม่ ๆ มาช่วยสร้างการเติบโตและความแข็งแกร่งให้ธุรกิจทั้งในระดับประเทศ และระดับภูมิภาคในอนาคต

การปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งนี้จะทำให้ BRC เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนให้กลุ่ม BJC เติบโตไปข้างหน้าภายใต้กลยุทธ์การปรับโมเดลธุรกิจไปสู่ธุรกิจชั้นนำในตลาดโลก เพื่อส่งมอบสินค้าผ่านช่องทางที่ทันสมัยและให้บริการที่ดีแก่ลูกค้า และขยายสาขาบิ๊กซีเพิ่มทั้งในและต่างประเทศ

นายอัศวิน กล่าวอีกว่า ทิศทางการเติบโตของ BRC มีการวางแผนการขยายช่องทางการค้าแบบ Omni-channel ผลักดันยอดขายเพิ่มประสบการณ์ของลูกค้าทั้งแพลตฟอร์มออนไลน์ และการบริการจัดส่งเพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ผ่าน แอปพลิเคชัน Big C PLUS, Call-Chat-Shop, Line, Drive thru, บริการจัดส่งด่วนภายใน 1 ชั่วโมง และความร่วมมือผ่านการขยายช่องทางการค้ากับพันธมิตรชั้นนำต่าง ๆ รวมถึงผลักดันยอดขายสินค้า Private Label ของบิ๊กซี อาทิ We Are Fresh, Besico, Big C Happy Price, Big C Happy Price Pro เป็นต้น

ปัจจุบัน บิ๊กซี มีฐานลูกค้าผ่านบัตรสมาชิกบิ๊กพอยต์กว่า 18 ล้านราย มีลูกค้าทำธุรกรรมผ่านเครือข่ายร้านค้าปลีกหลากหลายรูปแบบ (Multi-format) ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ ทั้ง บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์, บิ๊กซี ดีโป้, บิ๊กซี มินิ, บิ๊กซี ฟู๊ด เซอร์วิส รวมถึงธุรกิจตลาดกลางแจ้งอย่างตลาดทิพย์นิมิตร, ตลาดครอบครัว, ตลาดเดินเล่น ตลอดจนร้านกาแฟวาวี, ร้านหนังสือเอเซียบุ๊คส และร้านยาเพรียว

“บิ๊กซี” คัมแบ็คตลาดหุ้น ระดมทุนใช้หนี้-ขยายลงทุน

นอกจากนี้บิ๊กซียังได้ริเริ่มโครงการร้าน “โดนใจ” ซึ่งเป็นรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่มุ่งเน้นให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยในประเทศไทยผ่านการยกระดับร้านโชห่วยสู่ร้านค้าปลีกสมัยใหม่ ผ่านการให้การสนับสนุนการพัฒนาระบบบริหารจัดการด้านต่าง ๆ ให้กับร้านค้าเหล่านี้เพื่อให้สามารถเติบโตและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในท้องถิ่นของตนเอง

“สำหรับเงินที่จะได้จากการขายหุ้น IPO ของ BRC จะนำไปใช้ลงทุนในการขยายธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ  ปรับโครงสร้างทางการเงิน ซึ่งรวมถึงชำระหนี้บางส่วนของ BRC และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการดำเนินธุรกิจของ BRC ทั้งนี้ ภายหลังการเสนอขายหุ้น IPO ของ BRC นั้น BJC จะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่และ BRC จะยังคงมีสถานะเป็นบริษัทย่อยของ BJC ในสัดส่วนร้อยละ 70.02” 

ทั้งนี้ในปี 2559 กลุ่มบริษัทบีเจซีได้ทำการซื้อหุ้นในบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จากัด (มหาชน) จำนวนกว่า 797 สาขา เพื่อต่อยอดกลุ่มธุรกิจบริษัทให้ครอบคลุมและครบวงจร ทั้งธุรกิจต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ รวมถึงธุรกิจอื่นๆ ที่ต่อเนื่องกันทำให้มีสัดส่วนการถือหุ้นรวม 58.55% ต่อมาในปี 2560 บีเจซีได้ทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ที่เหลือทั้งหมดของกิจการบิ๊กซีที่ราคา 225.00 บาทต่อหุ้น ทำให้มีสัดส่วนหุ้นรวมทั้งหมด 99.85% ก่อนที่จะเพิกถอนหลักทรัพย์บมจ.บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ (BIGC) จากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนตั้งแต่วันที่ 28 ก.ย. 2560