‘เชอร์วู้ด’ โหมบุกอาหาร-เครื่องดื่ม ส่ง 2 แบรนด์ดังลุย CLMV-จีน

13 พ.ย. 2565 | 07:40 น.

มั่นใจปี 66 ฟื้น “เชอร์วู้ด” เร่งปรับทัพสยายปีกรุกธุรกิจอาหาร-เครื่องดื่มเต็มสูบ จ่อส่ง “มารูโจ้-ซุปเปอร์ไฟต์” ตีตลาด CLMV และจีน เล็งเจรจาเข้าซื้อเครื่องดื่มเฮลทตี้ยักษ์

นายเถกิงพล เหล่าพิสุทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงินบริษัท เชอร์วู้ด คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภาพรวมธุรกิจในปีนี้นับว่าเป็นปีที่หนักหน่วงทั้งเรื่องปัญหาเงินเฟ้อ ราคาสินค้า community ที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ปี 2563 เมื่อเจอกับสงครามยูเครนยิ่งเป็นตัวเร่งให้ราคาปรับตัวขึ้นสูงไปอีก

 

รวมถึงค่าขนส่งต่างๆแพงขึ้น ซึ่งกระทบโดยตรงกับบริษัทเชอร์วู้ดฯ ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นเฉลี่ย 10% ทั้งราคาน้ำมัน ถั่วลิสง น้ำมันปาล์ม นม กลุ่มบรรจุภัณฑ์ทั้งขวดแก้วขวดพลาสติกและกล่องกระดาษ หากราคาวัตถุดิบไม่ปรับตัวสูงมากไปกว่านี้ คาดว่าปีหน้าราคาวัตถุดิบน่าจะเริ่มปรับตัวลดลงตั้งแต่กลางปีเป็นต้นไป

              

“อิมแพคจากการขึ้นราคาสินค้าซึ่งเริ่มทยอยปรับขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2565ไม่ว่าจะเป็นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป น้ำมัน ข้าวปลาอาหารที่กระทบกับรากหญ้า เมื่อประกอบกับค่าครองชีพต่างๆสูงขึ้นทำให้ผู้บริโภคกินจ่ายน้อยลง ทำให้กำไรของเราลดลง ปีนี้เราคงรักษาตัวเลขเพียงแค่ประคองยอดขายให้ใกล้เคียงกับปี 2564 ที่มียอดขาย 1,900 ล้านบาท หรือหากสถานการณ์เลวร้ายที่สุดคาดว่ายอดขายจะลดลงเล็กน้อย 3-5% หรือปิดรายได้ปีนี้ที่ 1,800-1,900 ล้านบาท”

‘เชอร์วู้ด’ โหมบุกอาหาร-เครื่องดื่ม ส่ง 2 แบรนด์ดังลุย CLMV-จีน               

สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจของเชอร์วู้ดฯ ให้น้ำหนักกับสินค้าบริโภคหรือกลุ่มอาหารที่คาดว่าจะเติบโตขึ้นกว่าเดิม เพราะเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องบริโภคทุกวันและเป็นตลาดใหญ่ ซึ่งเชอร์วู้ดฯ เพิ่งจะเริ่มทำธุรกิจอาหารทำให้สัดส่วนยังเล็กอยู่เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะเติบโตกว่าปัจจุบันเป็นเท่าตัวมีเยอะ โดยปัจจุบันในพอร์ตอาหาร บริษัทมีสินค้าทั้งนมฮอกไกโด

 

ซึ่งตลาดนมมีมูลค่ากว่าหมื่นล้านบาท, ถั่วมารูโจ้ และเครื่องดื่มซุปเปอร์ไฟต์ ซึ่งตลาดเครื่องดื่มมูลค่าเป็นแสนล้าน รวมทั้งน้องใหม่ “Lotto food” ซึ่งเป็นตระกูลแพลนต์เบส ในรูปของเนื้อเบอร์เกอร์ เนื้อทงคัตสึ ไส้กรอก ซึ่งบริษัทเล็งเห็นว่าเทรนด์รักสุขภาพและลดบริโภคเนื้อสัตว์กำลังมาแรง โดยกลุ่มเป้าหมายหลักคือ กลุ่มที่งดทานเนื้อสัตว์เฉพาะวัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม GEN Z และกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่บริษัทกำลังขยายฐานอยู่

  ‘เชอร์วู้ด’ โหมบุกอาหาร-เครื่องดื่ม ส่ง 2 แบรนด์ดังลุย CLMV-จีน              

ในส่วน non-food หรือกลุ่มของใช้จะดรอปลงเพราะมีการใช้น้อย ดีมานด์มีความจำกัดโอกาสในการเติบโตลดลง เฉลี่ยเติบโตราว 2-3% ต่อปี ทั้งเชนไดร้ท์และทีโพล์ ดังนั้นหากบริษัทต้องการเติบโตและมียอดขายทะลุหมื่นล้านบาทจะต้องต้องเน้นกลุ่มอาหารที่มีโอกาสเติบโตสูงกว่า

              

อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์โควิดในช่วงที่ผ่านมา ทำให้บริษัทต้องตัดสินใจเบรคการขยายสาขา “Hokkaido Milk” ซึ่งปัจจุบันมี 14 สาขา แต่จะโฟกัสการรีโนเวทสาขาเดิมให้สอดคล้องกับญี่ปุ่นทั้งในแง่ของ Product Quality และภาพลักษณ์ โดยปัจจุบัน “Hokkaido Milk” มีโมเดลธุรกิจ 2 แพลตฟอร์ม คือแฟลกชิพ สโตร์ในห้างสรรพสินค้าไว้รองรับลูกค้าที่เข้ามานั่งทานในร้าน เป็นการสร้างการรับรู้ต่อแบรนด์ ส่วนแพลตฟอร์มที่ 2 เน้นขยายในสถานีบริการน้ำมันในลักษณะคีออส หรือโมเดล Grab and Go

‘เชอร์วู้ด’ โหมบุกอาหาร-เครื่องดื่ม ส่ง 2 แบรนด์ดังลุย CLMV-จีน               

“จากสถานการณ์โควิด ทำให้เราต้องปรับตัวจากที่เคยอยู่ในห้างทั้งหมด เริ่มขยายในสถานีบริการน้ำมันและขยายเข้าซูเปอร์มาร์เก็ต เช่น Tops, Villa Market หรือ Gourmet Market มากขึ้นเพื่อให้คนเข้าถึงง่ายขึ้น และล่าสุดเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่คือ “น้ำส้มฮอกไกโด” ไซส์พิเศษวางจำหน่ายในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น โดยเฉพาะ รวมทั้งมีแผนออกผลิตภัณฑ์ใหม่ในกลุ่มของ “Hokkaido Milk” ออกมาเพื่อตอบโจทย์คนรักสุขภาพมากขึ้นเช่น Lactose Free, low Fat, low Sugar และ Zero Sugar เป็นซีรีย์ต่อในอนาคต”

 

นายเถกิงพล กล่าวอีกว่า ในแต่ละปีบริษัทตั้งงบลงทุนราว 50 ล้านบาท ซึ่งในช่วงหลายปีบริษัทไม่มีการขยายธุรกิจที่เป็นการลงทุนขนาดใหญ่แต่เป็นการลงทุนขนาดเล็ก               สำหรับปี 2566 บริษัทมองว่าภาพรวมธุรกิจจะดีขึ้นโดยงบลงทุนจะขยับขึ้นมาเป็น 80 ล้านบาท เพราะบริษัทมีแผนลงทุนขยายกำลังการผลิต “มารูโจ้” ซึ่งเป็นการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดใช้งบลงทุนประมาณ 30 ล้านบาทสำหรับปรับปรุงโรงงานและเครื่องจักรต่างๆ

 

นอกนั้นจะเป็นการลงทุนขนาดเล็กเช่นการใช้เครื่องจักรอัตโนมัติมากขึ้นใช้คนน้อยลง และมีบางส่วนที่เลื่อนมาจากปีนี้ ในส่วนของนมฮอกไกโดจะยังไม่มีขยายสาขาเพิ่มแต่จะคงจำนวนสาขาไว้เท่าเดิมและกลับมาโฟกัสด้านการตลาดต่างๆ ให้มากขึ้น โดย Refresh แบรนด์เพื่อทำให้แบรนด์มีความพรีเมี่ยมมากขึ้น โดยบริษัทตั้งเป้ารายได้ที่ 2,500 ล้านบาท

‘เชอร์วู้ด’ โหมบุกอาหาร-เครื่องดื่ม ส่ง 2 แบรนด์ดังลุย CLMV-จีน               

ในส่วนของการส่งออกซึ่งยังเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก เพราะธุรกิจดั้งเดิมเป็นธุรกิจเคมีคอล ที่ต้องใช้ระยะเวลาในการทดสอบความเป็นพิษ เพื่อขึ้นทะเบียนสำหรับการขายนานหลายปีและเป็นอุปสรรคที่ทำให้การส่งออกของบริษัทเติบโตช้า แต่ปัจจุบันบริษัทเริ่มทำธุรกิจกลุ่มอาหารมากขึ้น

 

เพราะฉะนั้นต่อไปการส่งออกน่าจะดีขึ้นจากเดิมที่มีการส่งออก มารูโจ้ และซุปเปอร์ไฟท์ไปประเทศเพื่อนบ้านกลุ่ม CLMV + China ซึ่งตลาด CLMV จะเน้นรูปแบบและแพกเกจเดียวกับประเทศไทยเพราะแพกเกจจิ้งภาษาไทยจะได้รับการตอบรับที่ดีในประเทศเหล่านี้ ส่วนตลาดจีนจะต้องการปรับปรับลุคเพื่อให้ดูอินเตอร์ขึ้นและสะดวกในการขนส่ง รวมทั้งปรับรสชาติให้เข้ากับแต่ละประเทศ

‘เชอร์วู้ด’ โหมบุกอาหาร-เครื่องดื่ม ส่ง 2 แบรนด์ดังลุย CLMV-จีน               

“ปีหน้าเราคาดว่ากำลังซื้อน่าจะดีขึ้น ประกอบกับประเทศไทยเน้นในเรื่องของการท่องเที่ยวเป็นหลักดังนั้นภาพรวมการท่องเที่ยวก็จะดีขึ้นและทำให้เม็ดเงินต่างๆ และภาพรวมเศรษฐกิจดีขึ้นตามไปด้วย ที่สำคัญปีหน้าไทยจะมีรัฐบาลใหม่เข้ามา ซึ่งน่าจะมีการอัดฉีดเต็มที่และทำให้เศรษฐกิจภาพรวมดีขึ้นสวนทางประเทศอื่นที่น่าจะถดถอยลงเล็กน้อย เพราะฉะนั้นปีหน้าโอกาสที่เราจะเติบโตและประสบความสำเร็จได้น่าจะมีมาก”

              

ด้านนางสาวอนงค์ มิเล ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาดบริษัท เชอร์วู้ด คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวเพิ่มเติม สัดส่วนธุรกิจในปัจจุบันมาจาก กลุ่มเคมิคอล 70% และอาหาร 30% ส่วนรายได้ยังคงมาจากกลุ่มเคมิคอลหรือ Non Food 80% และ Food and beverage 20%

 

ในอนาคตบริษัทตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนให้ Food and beverage ขึ้นมาอยู่ที่ 50% ซึ่งมีความเป็นไปได้เพราะขนาดและมูลค่าตลาดมีมากกว่า อย่างไรก็ตามนอกจากธุรกิจอาหาร 4 ธุรกิจบริษัทยังมีแผนจะเพิ่มโปรดักต์ใหม่ๆในกลุ่ม Healthy โดยเฉพาะเครื่องดื่ม โดยมีแผนจะเข้าซื้อกิจการเครื่องดื่มรายหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันเป็นธุรกิจที่แข็งแรงและเป็นที่รู้จักซึ่งอยู่ในขั้นตอนของการเจรจาพูดคุย คาดว่าจะสามารถสรุปผลได้ในเร็วๆนี้

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,835 วันที่ 13 - 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565