ค้าปลีก-พาณิชย์-กนอ. ตั้งการ์ดสูงรับมือน้ำท่วม

15 ก.ย. 2565 | 20:01 น.

ตั้งการ์ดรับมือน้ำท่วมหนัก “บิ๊กซี” จัดทีมเฉพาะกิจเน้นบริหารความเสี่ยง สต็อกสินค้าเพิ่ม จ่อหาพื้นที่ใหม่ตั้งคลังสินค้าสำรองหากมวลน้ำทะลัก สมาคมค้าส่งฯ ย้ำลุ้นต่อ ต.ค. เหตุน้ำทะเลหนุนสูง กรมการค้าภายในถกห้างห้ามสินค้าขาดแคลน กนอ. สั่งทุกนิคมฯเฝ้าระวังเข้มข้น

นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ห้างค้าปลีกในกลุ่มบีเจซี เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า บริษัทวางแผนรองรับสถานการณ์น้ำท่วมโดยได้จัดตั้งทีมบริหารความเสี่ยงสถานการณ์น้ำท่วม ที่จะคอยรายงานสถานการณ์โดยรวม จากข้อมูลหลายๆ ภาคส่วน เพื่อประเมินสถานการณ์น้ำวันละ 2 รอบ พร้อมวางแผนบริหารจัดการสต็อกสินค้าให้เพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภค

 

แผนงานจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1. พื้นที่ที่ประสบภัยน้ำท่วม จัดเตรียมสต็อกสินค้าเพิ่ม สำหรับสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นสำหรับประชาชนทั้งที่สาขาและคลังสินค้า 2.เตรียมสต็อกเพิ่มเติมสำหรับสินค้าที่ขายดีที่มีสัดส่วนการขายมากกว่า 50% ขณะเดียวกันในส่วนคลังสินค้า มีการทบทวนอัตราการเข้าทำงานของพนักงานทุกวัน
 

อัศวิน เตชะเจริญวิกุล


เพื่อให้พร้อมกับปริมาณงานที่วางแผนไว้ รวมไปถึงการวางแผนการปรับย้ายการส่งสินค้า ระหว่างคลังสินค้าและการส่งตรงจากคู่ค้าไปที่สาขา หากมีคลังสินค้าใดประสบภัยน้ำท่วม ในส่วนสาขา มีการกำหนดสาขา Hub ทั่วประเทศ เพื่อช่วยรับและกระจายสินค้าให้กับสาขาที่ใกล้เคียง

           

ด้านการขนส่ง บริษัททำการตรวจสอบสภาพเส้นทางจราจรในทุกพื้นที่เสี่ยง และประสานงานกับทีมสาขา เพื่อเตรียมการรับสินค้า หากต้องปรับเปลี่ยนเส้นทาง ไปถึงล่าช้ากว่าเวลารับสินค้าปกติ รวมทั้งเพิ่มรถขนส่งและกระจายสินค้าออกจากสาขา Hub ที่กำหนดไว้ นอกจากนี้ยังเตรียมหาคลังสินค้าสำรอง ในบริเวณพื้นที่ปลอดจากน้ำท่วม เช่น บางนา หรือแหลมฉบัง ในกรณีที่คลังสินค้าไม่สามารถปฏิบัติงานรับและส่งสินค้าได้หากน้ำท่วมหนักบริเวณพื้นที่โดยรอบคลังสินค้า

           

ขณะที่นายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าส่งค้าปลีกไทย กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในขณะนี้ยังไม่ส่งผลกระทบทำให้สินค้าอุปโภคบริโภคขาดแคลน แม้สินค้าบางรายการจะจัดส่งช้าเนื่องจากการขนส่ง แต่ต้องรอดูสถานการณ์ในเดือนตุลาคมอีกครั้งเพราะเป็นช่วงน้ำทะเลหนุนสูง ขณะเดียวกันพบว่าสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง น้ำปลา น้ำดื่ม ฯลฯ มียอดขายเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะการซื้อที่เพิ่มขึ้นและการซื้อเพื่อนำไปบริจาคต่อให้กับผู้ประสบภัย

 

ด้านร้อยตรีจักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า จากสถานการณ์ฝนตกหนักและมีน้ำท่วมในหลายพื้นที่ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด กรมการค้าภายในได้ประสานขอความร่วมมือห้างส่งค้าปลีกค้าให้จัดเตรียมสต๊อกสินค้าให้เพียงพอกับความต้องการของประชาชน โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพ เช่น ข้าวสาร อาหารแห้ง อาหารกระป๋อง น้ำดื่ม อุปกรณ์ซักล้างและทำความสะอาด เป็นต้น และขอให้กระจายสินค้าให้ทั่วถึงทุกพื้นที่ทั่วประเทศ รวมทั้งพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหรือได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม

 

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 12 ก.ย. ที่ผ่านมากรมได้ประชุมหารือกับห้างค้าส่งค้าปลีกและร้านสะดวกซื้อ ร้านจำหน่ายอุปกรณ์และวัสดุก่อสร้าง และสมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย เพื่อติดตามสถานการณ์สต๊อกและการกระจายสินค้า ซึ่งห้างร้านต่างยืนยันว่าได้จัดเตรียมสต๊อกสินค้าไว้เพิ่มขึ้นตามที่กรมได้ขอความร่วมมือแล้ว และยังสามารถบริหารจัดการสต๊อกและกระจายสินค้าไปยังสาขาทั่วประเทศได้ จึงเชื่อมั่นว่าจะไม่เกิดปัญหาสินค้าขาดแคลน

 

นอกจากนี้กรมได้ขอความร่วมมือห้างจัดโปรโมชั่นลดราคาสินค้าอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น หรืออุปกรณ์และวัสดุก่อสร้างที่ต้องใช้ในการซ่อมแซมที่พักอาศัยและอาคารสถานที่ต่างๆ ในช่วงน้ำท่วมและหลังจากน้ำท่วม เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน ซึ่งห้างยินดีให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่

 

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า จากสถานการณ์อุทกภัยที่ไม่น่าไว้ใจ กนอ.ได้ให้แนวทางการบริหารจัดการปัญหาน้ำท่วมในนิคมอุตสาหกรรมอย่างเคร่งครัด อาทิ การพร่องน้ำภายในพื้นที่นิคมฯ ให้อยู่ในระดับต่ำสุด เพื่อเป็นพื้นที่แก้มลิงรองรับน้ำ การตรวจสอบ และบำรุงรักษาเครื่องสูบน้ำ รวมถึงเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองที่มีอยู่ให้พร้อมใช้งานได้ 100% ในกรณีฉุกเฉิน พร้อมประสานจัดเตรียมเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่สำรองจากภายนอก ทั้งแบบใช้น้ำมันและแบบใช้ไฟฟ้า เข้ามาสนับสนุนทันที
 

ค้าปลีก-พาณิชย์-กนอ. ตั้งการ์ดสูงรับมือน้ำท่วม


นอกจากนี้กำหนดให้ทุกนิคมซ้อมแผนฉุกเฉินรองรับอุทกภัยเป็นประจำ ในกรณีที่มีความเสี่ยงว่าจะเกิดปัญหาให้รีบรายงานผู้บริหารทราบจนกว่าสถานการณ์จะยุติ มีการติดตามสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งคาดการณ์ปริมาณฝนในพื้นที่ เพื่อสื่อสารให้ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม รวมทั้งประชาชนที่เกี่ยวข้อง ให้ทราบถึงสถานการณ์ล่าสุดอย่างต่อเนื่อง

 

โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความเสี่ยง เช่น นิคมฯบางปะอิน นิคมฯบ้านหว้า (ไฮเทค) และนิคมฯนครหลวง ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดอยุธยา ที่เป็นพื้นที่ราบลุ่มต่ำและติดแม่น้ำเจ้าพระยา เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมฉับพลันได้ รวมไปถึงนิคมอุตสาหกรรมบางปู จังหวัดสมุทรปราการ ที่พื้นที่อยู่ใกล้ทะเล อาจจะเกิดน้ำทะเลหนุนได้ในบางช่วง และยังอยู่ใกล้กับชุมชนอีกด้วย