พิษโควิดฉุด ‘ธุรกิจเวดดิ้ง’ ทรุดยาว ตลาด 3 หมื่นล้านวูบ  

10 ก.ค. 2564 | 22:30 น.

พิษโควิดฉุดธุรกิจเวดดิ้ง 3 หมื่นล้านสะเทือน ทั้งรับจัดเลี้ยง เช่าชุด เช่าสถานที่ ออแกไนเซอร์ ยันช่างแต่งหน้าทำผม หลังรัฐออกมาตรการเข้มป้องกันการแพร่ระบาด ห้ามจัดเลี้ยง งดทำกิจกรรม ส่งยกเลิก- เลื่อนยาว

นางปิยาภัสร์ ค้ำชู เจ้าของร้านเช่าชุดแต่งงาน “Fullrichbride” เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในกลุ่มธุรกิจแต่งงานมีหลายส่วนประกอบกันทั้งบริการจัดเลี้ยง ตกแต่งสถานที่ ช่างแต่งหน้าทำผม ร้านตัด-เช่าชุดแต่งงาน organizer เครื่องเสียงวงดนตรี พิธีกร ไปจนถึงธุรกิจท่องเที่ยวช่วงฮันนีมูน

 

ในช่วงการระบาดของโควิดรอบ 1 ในส่วนของร้าน Fullrichbride ลูกค้าที่นัดลองชุดแต่งงาน ยกเลิกทั้งหมด และต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันที่ไม่มีลูกค้าใหม่เข้ามา แต่ยังคงค้างลูกค้าในมือจากโควิดรอบแรก ประมาณ 200 ราย จากเดิมที่เคยมีคู่รักจัดงานแต่งงานหลัก 100 คู่ต่อเดือนในช่วงไฮซีซั่น และน้อยสุดประมาณ 30 คู่ต่อเดือนในช่วงโลว์ซีซั่น

 

ส่วนหนึ่งที่ลูกค้าตัดสินใจเลื่อนหรือยกเลิกงานแต่งมาจากความกังวลว่าจะมีการแพร่ระบาดโควิดเกิดขึ้นในงานแต่งงาน ประกอบกับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นมาตรการปิดสถานที่จัดเลี้ยง ห้ามรวมตัวทำกิจกรรมเกิน 20-100 คนในบางพื้นที่ รวมทั้งมาตรการห้ามเดินทางข้ามจังหวัด เป็นต้น

พิษโควิดฉุด ‘ธุรกิจเวดดิ้ง’ ทรุดยาว ตลาด 3 หมื่นล้านวูบ  

อย่างไรก็ตาม การระบาดรอบแรกรัฐบาลมีมาตราการเยียวยาจากประกันสังคมจ่ายค่าชดเชย 50% ให้แก่พนักงาน แต่ในการระบาดระลอก 3 นี้กลับไม่ได้รับการชดเชยเพราะถูกจัดให้เป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยอ้อม

 

ซึ่งในความเป็นจริงทุกธุรกิจในวงการ wedding ได้รับผลกระทบจากประกาศที่ไม่ชัดเจน เช่น อนุญาตให้จัดงานแต่งงานได้โดยผู้ร่วมงานต้องไม่เกิน 20-50 คน แต่ห้องจัดเลี้ยง เป็นต้น

 

“เราเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างดีและพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับภาครัฐ ที่ผ่านมาผู้ประกอบการไม่เคยออกมาเรียกร้องอะไรจากการระบาดทั้ง 2 รอบแล้ว จนถึงรอบ 3 และกังวลว่าถ้ามีรอบที่ 4 และยังไม่มีการปรับกฎเกณฑ์อะไรบางอย่าง

 

นอกจากที่จะไม่ได้รับการชดเชยให้แก่พนักงานแล้ว เวลาลูกค้าไปขออนุญาตจัดงาน ทางเขตก็ไม่กล้าที่จะอนุญาตให้มีการจัดงานแต่งงาน เพราะกลัวว่าถ้ามีคลัสเตอร์งานแต่งงาน จะรับผิดชอบไม่ไหว”

ปิยาภัสร์ ค้ำชู

ผู้ประกอบการได้ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ชี้แจงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับคู่บ่าวสาว ผู้ประกอบการในธุรกิจเวดดิ้งอย่างไร และต้องยอมรับว่า เมื่อไม่มีรายได้เข้ามา ธุรกิจก็ขาดสภาพคล่อง จะมีมาตรการผ่อนปรน ยืดหยุ่นและทางออกที่เหมาะสมในการช่วยเหลือให้ธุรกิจขับเคลื่อนได้อย่างไร

 

นอกจากนี้เครือข่ายผู้ประกอบการธุรกิจการจัดงานแต่งงาน ยังได้ยื่นหนังสือต่อประธานรัฐสภาให้ช่วยเหลือเพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าต่อและบรรเทาความเดือนร้อนของผู้ประกอบการด้วย

 

สำหรับแนวทางการปรับตัวของร้าน Fullrichbride ในขณะนี้คือ ให้พนักงานทำงานที่บ้านไม่ว่าจะเป็น ตัดชุด ปักชุด เย็บหน้ากากอนามัยเพื่อจำหน่าย รวมทั้งนำสินค้าของเพื่อนมาไลฟ์ขาย เช่น สาหร่ายอบ,พริกทอด, กากหมู,บ๊วยคละรส ,อัลมอนด์อบเนย, ปลาร้า และชาโควเซรั่ม ควบคู่ไปกับการขายแบบเทเลเซล ให้ลูกค้าเก่า เพื่อให้พนักงานพอมีรายได้ในช่วงนี้

 

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ในแต่ละปีธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการแต่งงานมีมูลค่าสูงถึง 30,000 ล้านบาทต่อปี มีคู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสมากกว่าปีละ 300,000 คู่ และกว่า 80 - 90% ของคู่รักใช้เม็ดเงินในการจัดงานแต่งงานเฉลี่ย 500,000-1,000,000 บาทต่อครั้ง

 

หน้า 14-15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,694 วันที่ 8 - 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2564