รฟฟท. ปลื้ม “สายสีแดง” ดันผู้โดยสารพุ่ง 7 ล้านคน รับรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย

02 ก.ค. 2567 | 10:43 น.
อัพเดตล่าสุด :02 ก.ค. 2567 | 11:08 น.

“รฟฟท.” เผยรถไฟสายสีแดงทุบสถิติ 8 เดือน ยอดผู้โดยสารพุ่ง 7 ล้านคน รับนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสาย ดึงผู้ใช้บริการอย่างต่อเนื่อง

นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด หรือผู้ให้บริการรถไฟฟ้าชานเมืองสาย สีแดง เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงคมนาคม ได้มอบนโยบายให้แก่บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ดำเนินภารกิจโดยมุ่งเน้นการอำนวยความสะดวกในด้านการเดินทางอย่างไร้รอยต่อ และสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้แก่ประชาชน

 

โดยเฉพาะนโยบายอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาท ซึ่งถือเป็นหนึ่งในโครงการ Quick Win ที่สำคัญของกระทรวงคมนาคม โดยรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ได้ขานรับและเริ่มดำเนินนโยบายดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2566 

รฟฟท. ปลื้ม “สายสีแดง” ดันผู้โดยสารพุ่ง 7 ล้านคน รับรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย

ทั้งนี้ในระยะแรกเป็นการเก็บค่าโดยสารแบบแยกแต่ละสาย ในระบบรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ทั้ง 2 เส้นทาง ได้แก่ สายธานีรัถยา ช่วงสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ - สถานีรังสิต และสายนครวิถี ช่วงสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ – สถานีตลิ่งชัน 

 

เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 ได้เริ่มให้บริการในระยะที่ 2 ซึ่งผู้โดยสารสามารถเดินทางข้ามสายระหว่างรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง และรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง ช่วงคลองบางไผ่ - เตาปูน ได้ในอัตราค่าโดยสารรวมกันสูงสุดเพียง 20 บาท โดยรถไฟฟ้าทั้งสองสายนั้น มีสถานีเชื่อมต่อการเปลี่ยนถ่ายระบบอยู่ที่สถานีบางซ่อน 
 

นายสุเทพ กล่าวต่อว่า โดยก่อนเริ่มนโยบายอัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาท รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง มีปริมาณผู้ใช้บริการเฉลี่ยในวันธรรมดา(จันทร์ - ศุกร์) อยู่ที่ 21,813 คน/วัน หลังจากเริ่มนโยบายอัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาท มีจำนวนผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 30,952 คน/วัน เพิ่มขึ้น 41.90% 

 

นอกจากนี้สามารถทำสถิติผู้ใช้บริการสูงสุด (New High) อยู่ที่ 39,567 คน เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567 หรือหากนับจำนวนผู้โดยสารรวมตั้งแต่เริ่มนโยบายอัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาท จนถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลากว่า 8 เดือน มีจำนวนผู้โดยสารรวมสูงถึง 7,078,082 คน 

 

นายสุเทพ กล่าวต่อว่า ก่อนเริ่มนโยบายดังกล่าวมีการประเมินว่าอาจส่งผลให้บริษัทฯมีรายได้ลดลง แต่เนื่องจากมีปริมาณผู้ใช้บริการเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงคาดการณ์ว่าเมื่อดำเนินการตามนโยบายฯครบ 1 ปี จะไม่ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของบริษัทฯ 

 

หากเปรียบเทียบกับช่วงก่อนเริ่มนโยบายฯ ทั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่า นโยบายอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาท ของกระทรวงคมนาคม ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างมาก สามารถบรรลุเป้าหมายตามวัตถุประสงค์ที่จะช่วยแบ่งเบาภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชนได้ 
 

ขณะเดียวกันนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ยังได้มอบหมายและติดตามผลการให้บริการประชาชนของบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด อย่างต่อเนื่องเป็นระยะ ทั้งในด้านการเดินทางเชื่อมต่อกับระบบขนส่งอื่น ต้องมีความสะดวกและไร้รอยต่อ 

 

รวมถึงมีความปลอดภัยในทุกการเดินทาง พร้อมสนับสนุนให้มีการนำนวัตกรรม เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาบูรณาการโครงข่ายคมนาคมทุกระบบเข้าด้วยกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ และคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนเป็นสำคัญ

 

อย่างไรก็ตามบริษัทฯยังคงมุ่งมั่น พัฒนาองค์กรสู่การเป็นผู้นำในการให้บริการเดินรถไฟฟ้าด้วยมาตรฐานระดับสากล มุ่งเน้นการสร้างความพึงพอใจสูงสุดแก่ผู้ใช้บริการ รักษามาตรฐานการปฏิบัติงานในด้านการเดินรถ และซ่อมบำรุง พัฒนาบุคลากรให้มีศักยภาพอยู่เสมอ 

 

รวมถึงรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจขององค์กร อีกทั้งสามารถเชื่อมโยงทุกการเดินทางกับระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ตลอดจนยกระดับคุณภาพชีวิตชานเมืองได้อย่างยั่งยืน