บอร์ด รฟท. ตีกลับ “ต่อขยายสายสีแดง” Missing Link 4.4 หมื่นล้าน

27 พ.ค. 2567 | 00:00 น.

บอร์ด รฟท.สั่งทบทวน “ส่วนต่อขยายรถไฟสายสีแดง” Missing Link วงเงิน 4.4 หมื่นล้านบาท แนะปรับแบบย้ายสถานีราชวิถีเชื่อมรพ.รามาธิบดี จ่อชงบอร์ดไฟเขียวรอบใหม่ มิ.ย.นี้

นายอนันต์  โพธิ์นิ่มแดง รองผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. โดยมีนายจิรุตม์  วิศาลจิตร เป็นประธาน ให้กลับไปทบทวนรายละเอียดเพิ่มเติมกรณีปรับกรอบวงเงินโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ –พญาไท - มักกะสัน - หัวหมาก และสายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ – หัวลำโพง (Missing Link) ระยะทาง 25.9 กิโลเมตร (กม.) ในการปรับแบบสถานีราชวิถีและย้ายตำแหน่งสถานีใหม่ เพื่อให้ผู้โดยสารเดินเชื่อมเข้าสู่อาคารโรงพยาบาลรามาธิบดีได้สะดวก และให้นำกลับมาเสนอบอร์ดอีกทีในการประชุมอีกครั้งเดือนมิถุนายน 2567

 

ส่วนสาเหตุที่ตีกลับโครงการฯนั้น รายละเอียดที่ต้องกลับไปทบทวนดูรายละเอียดของงานโครงการ เช่น เรื่องของการย้ายตำแหน่งสถานี เนื่องจากครั้งนี้มีการขอขยับตำแหน่งสถานีโรงพยาบาลรามาธิบดี ในส่วนของขอบเขตงานว่าหลักการเหตุผลของการขยับสถานีคืออะไรให้ชัดเจน เนื่องจากจากเดิมอยู่ฝั่งตรงข้ามราชวิถี ซึ่งจากการศึกษาเบื้องต้นจะย้ายมาอยู่อีกฝั่งคือโรงพยาบาลรามาธิบดี โดยจะย้ายตำแหน่งสถานีใหม่ เพื่อให้ผู้โดยสารเดินเชื่อมเข้าสู่อาคารโรงพยาบาลรามาธิบดีได้สะดวก 
 

“ต้องอธิบายหลักการเหตุผล เช่น ย้ายทำไม ย้ายแล้วได้ประโยชน์ตรงไหน มีผลกระทบกับรถไฟเชื่อมสามสนามบินหรือไม่และได้หารือกันหรือยัง ต้องมีเอกสารยืนยันด้วย ซึ่งบอร์ดต้องการให้มายืนยันให้ชัดเจนเจนว่าการขยับสถานีครั้งนี้ไม่กระทบโครงการอื่นๆ เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน  ทั้งนี้ในการปรับแบบดังกล่าวจะส่งผลให้วงเงินปรับเพิ่ม 400 กว่าล้านบาท จากค่างานเดิม วงเงิน 44,157 ล้านบาท ตามมติครม.เมื่อปี 2559 ”

 

รายงานข่าวจากรฟท. กล่าวว่า ด้านการเวนคืนที่ดินช่วงบางซื่อ – พญาไท – มักกะสัน - หัวหมาก และช่วงบางซื่อ - หัวลำโพง (Missing Link) ใช้งบประมาณในการเวนคืน 61 ล้านบาท ซึ่งจะเริ่มดำเนินการเวนคืนที่ดินภายในเดือนตุลาคม 2567 – กันยายน 2568 ระยะเวลาเวนคืนที่ดิน 1 ปี โดยมีพื้นที่ที่ถูกเวนคืนที่ดินประมาณ 78 ตารางวา 2 แปลง 3 หลังคาเรือน 
 

อย่างไรก็ตามหากโครงการรถไฟส่วนต่อขยายสายสีแดงดำเนินการแล้วเสร็จ จะช่วยเชื่อมต่อโครงข่ายรถไฟในแนวเหนือ – ใต้ และ ตะวันออก – ตะวันตก เพื่อรองรับการเดินทางของผู้โดยสารบริเวณพื้นที่ปริมณฑลเข้าสู่พื้นที่กรุงเทพมหานครชั้นใน และรองรับการให้บริการด้วยระบบรถไฟชานเมือง รถไฟทางไกล และรถไฟขนส่งสินค้าได้อย่างสะดวก รวดเร็วในอนาคต