“กทม.” เปิดผลงานครบรอบ 2 ปี ดันกรุงเทพฯขึ้นแท่นเมืองน่าอยู่

28 พ.ค. 2567 | 08:20 น.

“ชัชชาติ” นำทีมผู้บริหาร กทม.เปิดผลงานครบบรอบ 2 ปี ปรับปรุงแอปร้องเรียน Traffy Fondue แก้ปัญหา 5.8 แสนเรื่อง เดินหน้าจัดระเบียบหาบเร่-แผงลอย ลุยถอดบทเรียนน้ำท่วม เร่งขุดลอกท่อระบายน้ำ หวังยกระดับกรุงเทพฯขึ้นแท่นเมืองน่าอยู่

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นำทีมรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ในโอกาสการครบรอบ 2 ปีของการทำงาน ภายใต้ชื่องาน 2 ปี ทำงาน เปลี่ยน ปรับ ยกระดับเมืองน่าอยู่ นั้น Traffy Fondue คือหนึ่งในตัวอย่างที่ได้ทำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาของประชาชน โดยตัดขั้นตอนจากที่ต้องใช้เอกสารมากมายเปลี่ยนมาเป็นการออนไลน์ตั้งแต่ต้นจนจบ ซึ่ง 2 ปีที่เปิดให้ประชาชนร้องเรียนความเดือดร้อนผ่าน Traffy Fondue ได้ลงมือแก้ไขเสร็จสิ้นแล้ว 465,291 เรื่อง

“กทม.” เปิดผลงานครบรอบ 2 ปี ดันกรุงเทพฯขึ้นแท่นเมืองน่าอยู่

จากที่มีการร้องเรียนเข้ามาทั้งหมด 588,842 เรื่อง คิดเป็น78% อยู่ระหว่างแก้ไข 58,456 เรื่อง ส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 40,655 เรื่อง และติดตาม 11,545 เรื่อง เฉลี่ยระยะเวลาที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ประชาชนร้องเรียนมา ลดลง 97% จากเดิมใช้เวลาประมาณ 2 เดือน เหลือเพียง 2 วัน

 

“ขณะนี้ได้เพิ่มความสะดวก ลดขั้นตอนให้แจ้งเรื่องร้องเรียนได้ง่ายขึ้น โดยลดคำถามจากเดิม 5 คำถาม เหลือ 3 คำถาม และนำ AI เข้ามาใช้ในการระบุประเภทของเรื่องร้องเรียน อีกทั้งเพิ่มเติมการติดตามเรื่องร้องเรียนที่อยู่บริเวณใกล้เคียง พร้อมให้ประชาชนเข้าไปตรวจสอบและให้คะแนนการแก้ไขของ กทม. เพิ่มเติมได้ เพื่อให้ กทม. กลับไปแก้ไขเพิ่มในส่วนที่ยังไม่พึงพอใจ”

 

 นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า การทำทางเท้าให้น่าเดิน สวยงาม และปลอดภัย เป็นสิ่งที่ กทม. มุ่งมั่นในการทำทางเท้าให้เอื้อต่อการใช้งานของคนทุกเพศทุกวัย โดยยึดมาตรฐานทางเท้าที่แข็งแรง คงทน และสวยงามด้วย ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ได้ปรับปรุงทางเท้าไป 785 กม. ขณะเดียวกันได้ปรับพื้นทางเข้าออกอาคารให้เรียบเสมอทางเท้า ลดความสูงของทางเท้าเหลือ 10 ซม. และ 18 ซม. และติดเบรลล์บล็อกแนวตรงสำหรับคนพิการและผู้สูงวัยได้ใช้ง่าย เดินง่ายขึ้นด้วย

 

นอกจากนี้ยังได้จัดระเบียบหาบเร่-แผงลอยให้ประชาชนเข้าถึงอาหารราคาถูกได้โดยไม่เบียดเบียนทางเดินเท้า ทำไปแล้ว 257 จุด เช่น จุดที่ถนนสารสิน ขณะนี้ได้จัดพื้นที่ขายชั่วคราวให้ก่อนจะขยับขยายเข้ามาอยู่ใน Hawker Center ที่จะสร้างเสร็จในปีนี้ พร้อมทั้งจัดระเบียบสายสื่อสารที่ไม่เรียบร้อยในถนนสายต่าง ๆ รวมระยะทาง 627 กม. รวมทั้งเปลี่ยนหลอดไฟฟ้าแสงสว่างให้เป็นหลอด LED ที่มีอายุการใช้งานยาวกว่า เชื่อมระบบ IOT สามารถตรวจสอบหลอดไฟดวงที่เสียได้อัตโนมัติและแก้ไขได้รวดเร็ว

นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า ส่วนปัญหาฝนตก น้ำไม่ระบาย เดินทางลำบาก ซึ่งอยู่คู่กับกรุงเทพฯ มายาวนาน นับตั้งแต่มีการถอดบทเรียนและรวบรวมข้อมูลจุดน้ำท่วมทั่วกรุงเทพฯ ในปี 2565 พบจุดสำคัญที่ต้องแก้ไข 737 จุด ขณะนี้แก้ไขแล้ว 370 จุด และจะแก้ไขได้ทันในปี 67 อีก 190 จุด

 

ขณะเดียวกันยังให้ความสำคัญกับการเตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วมก่อนที่จะเกิดฝน โดยการล้างท่อระบายน้ำทำไปแล้ว 4,200 กม. ทำความสะอาดคลองเปิดทางน้ำไหล 1,960 กม. ขุดลอดคลอง 217 กม. พร้อมทั้งทำการบำรุงรักษาประตูระบายน้ำ สถานีสูบน้ำ ล้างอุโมงค์ระบายน้ำทุกแห่ง และตรวจสอบเครื่องสูบน้ำทุกเครื่องให้พร้อมใช้งาน

“กทม.” เปิดผลงานครบรอบ 2 ปี ดันกรุงเทพฯขึ้นแท่นเมืองน่าอยู่

 ด้านศูนย์กีฬาแบบใหม่ครบวงจร กทม.ได้ปรับปรุงแล้ว 11 แห่ง เช่น ศูนย์กีฬาเบญจกิติ ศูนย์กีฬาบางขุนเทียน ศูนย์นันทนาการวัดดอกไม้ เตรียมขยายผลอีก 13 แห่ง เช่น ศูนย์กีฬาตลาดพลู ศูนย์กีฬาวังทองหลาง ศูนย์กีฬาเสนานิเวศน์ ศูนย์กีฬาทวีวัฒนา ศูนย์นันทนาการทุ่งครุ เป็นต้น ที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนในการทำศูนย์กีฬาแบบใหม่ ที่มีกิจกรรมหลากหลายและประเภทกีฬาใหม่ ๆ อาทิ พิกเคิลบอล, เทกบอล, ปิงปอง, บาสเกตบอล โดยที่สวนเบญจกิติเป็นต้นแบบขยายศูนย์กีฬาไปยังสวนอื่น ๆ ทั่วกรุงเทพฯ ต่อไป

 

 สำหรับการเข้าถึงบริการสาธารณสุขของคนกรุงเทพฯ ปัญหาหมออยู่ไกล เข้าถึงยาก ไม่สะดวก เสียเวลา ถูกคลี่คลายลงด้วยการพัฒนาบริการต่าง ๆ เช่น โครงการตรวจสุขภาพฟรี 1,000,000 คน ได้ทุกคน ไม่จำกัดสิทธิ์ ซึ่งจะเปิดยาวไปถึงเดือนกันยายน 2567 มีการตรวจคัดกรองมากกว่า 14 รายการพื้นฐาน เพื่อรู้สัญญาณของโรคก่อนที่จะเป็นอันตราย มีเพิ่มเจาะเลือดส่งตรวจแล็บ เอ็กซเรย์ปอด ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และภาวะแทรกซ้อนทางตา ประชาชนสามารถตรวจสอบปฏิทินตรวจสุขภาพของแต่ละเดือนและเลือกวันเวลาและสถานที่ที่สะดวกไปรับบริการได้ ซึ่งประชาชนที่ไปรับบริการมีความพึงพอใจที่ไม่ต้องรอคิว ไม่ต้องเดินทางไกล และลดภาระค่าใช้จ่าย

 

ส่วนการเปิดฐานข้อมูล (Open Data) ได้มีการเปิดเผยข้อมูลด้านนโยบาย งบประมาณ สัญญาจ้าง ภาษี ฯลฯ ไปแล้วมากกว่า 1,000 ชุดข้อมูล มีผู้ใช้งานมากกว่า 3 ล้านครั้งต่อปี ด้านการเปิดระบบจัดซื้อจัดจ้าง ได้มุ่งให้เกิดความโปร่งใสตั้งแต่การประกวดราคาจนถึงการบริหารสัญญา โดยเร็ว ๆ นี้ มีระบบที่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าแข่งขันประมูลงานของ กทม. ด้วยการ Subscribe ให้ผู้รับจ้างรับการแจ้งเตือนโครงการใหม่และติดตามความคืบหน้าได้

นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในช่วง 2 ปี จากนี้ คนกรุงเทพฯ จะเดินทางสะดวกขึ้น และการจราจรจะคล่องตัวขึ้น โดยมีการอัพเกรดสัญญาณไฟจราจรทั่วกรุงเทพฯ ให้เป็น Adaptive Signaling ปรับสัญญาณไฟให้สอดคล้องกับปริมาณจราจร 541 ทางแยก พร้อมทั้งมอนิเตอร์เมือง สังเกต และสั่งการผ่าน Command Center ทั้งในเรื่องการติดตั้ง CCTV ไฟส่องสว่าง เซ็นเซอร์วัดระดับน้ำท่วมขังบนถนน โดยส่งข้อมูลมาที่ Open Digital Platform 

“กทม.” เปิดผลงานครบรอบ 2 ปี ดันกรุงเทพฯขึ้นแท่นเมืองน่าอยู่

รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การยกระดับการบริการด้านสาธารณสุขของคนกรุงเทพฯ ในช่วง 2 ปีหลังนี้ จะการผลักดันโรงพยาบาลเดิม 3 แห่ง และเพิ่มโรงพยาบาลใหม่ในสังกัด กทม. อีก 4 แห่ง เพื่อขยายเตียงดูแลคนกรุงเทพฯ ให้ได้ครอบคลุมยิ่งขึ้น อีก 1,272 เตียง โดยจะเพิ่มที่โรงพยาบาลกลาง อีก 150 เตียง โรงพยาบาลบางนาเพิ่ม 324 เตียง โรงพยาบาลคลองสามวา เพิ่ม 268 เตียง

 

ส่วนโรงพยาบาลแห่งที่จะเปิดใหม่ ได้แก่ โรงพยาบาลพระมงคลเทพมุนี ขนาด 150 เตียง โรงพยาบาลดดอนเมือง ขนาด 200 เตียง โรงพยาบาลสายไหม ขนาด 120 เตียง และโรงพยาบาลทุ่งครุ ขนาด 60 เตียง นอกจากนี้ยังพัฒนาศูนย์บริการสาธารณสุขให้เข้าถึงง่าย กระจายทั่วกรุงเทพฯ โดยก่อสร้างอาคารใหม่ 21 แห่ง และปรับปรุงใหม่อีก 31 แห่ง ในช่วง 2 ปีต่อจากนี้ 
     


นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การพัฒนาคน คือการพัฒนาเมือง สิ่งที่ กทม. มุ่งมั่นในช่วง 2 ปีข้างหน้านี้ คือ การยกระดับจากการศึกษา สู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong learning) ซึ่งหมายถึง การดูแลตั้งแต่ระดับเด็กปฐมวัย การศึกษาภาคบังคับ และการพัฒนาทักษะอาชีพ  โดยการศึกษาปฐมวัยเป็นการดูแลเด็กก่อนวัยเรียน จาก 83,264 คน เพิ่มเป็น 100,000 คน ปรับปรุงศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและเริ่มรับเด็กเร็วขึ้นที่อายุ 1 ขวบครึ่ง เพิ่มชั้นอนุบาลสำหรับเด็ก 3 ขวบ

 

ทั้งนี้ยังมีแผนขยายให้ครอบคลุมทุกโรงเรียนในปี 69 ปรับปรุงหลักสูตรสร้างพัฒนาสมวัยผ่านการเล่น (play-base-learning) พร้อมทั้งปรับปรุงกายภาพของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียนสังกัด กทม. ทั้งห้องน้ำ สนามเด็กเล่น และห้องเรียนปลอดฝุ่น 

 

ส่วนการศึกษาภาคบังคับ จะเปลี่ยนหลักสูตรที่เน้นการคิดวิเคราะห์ นำความรู้ไปใช้บนหลักสูตรฐานสมรรถนะ (skill-base-learning) และพัฒนาห้องเรียนดิจิทัล สร้าง Active Learning สำหรับเด็ก ป.4 - ม.3 ทุกโรงเรียน โดยทุกห้องเรียนมีคอมพิวเตอร์ เป็นการต่อยอดจากที่ได้มีการนำร่องห้องเรียน Chromebook ในปีการศึกษาที่ผ่านมาพบว่ามีคะแนนเฉลี่ยมากกว่าห้องเรียนปกติ 28%

 

นอกจากนี้กทม.ยังงมีการพัฒนาทักษะอาชีพ จะเน้นที่การพัฒนาทักษะวิชาชีพที่ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน โดยดำเนินการร่วมกับสถานประกอบการ เช่น หลักสูตรขับรถสามล้อไฟฟ้า (Muvmi) หลักสูตรแม่บ้านการโรงแรม ซึ่งทำร่วมกับสมาคมโรงแรมไทย และหลักสูตรตัดขนสุนัข ที่ทำร่วมกับโรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ เป็นต้น