พิชัย เตรียมถก ผู้ว่าแบงก์ชาติ ทบทวนกรอบเงินเฟ้อ-ลดดอกเบี้ยนโยบาย

27 พ.ค. 2567 | 12:43 น.

พิชัย-คลัง แย้ม ถก ผู้ว่าแบงก์ชาติ ทบทวนกรอบอัตราเงินเฟ้อ-ลดดอกเบี้ยนโยบาย เคาะ อัตรา “ยืดหยุ่น” ก่อนถึงรอบปลายปี

วันนี้ (27 พฤษภาคม 2567) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจ ครั้งที่ 1/2567 ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นประธาน รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ รวมถึงนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ "ผู้ว่าแบงก์ชาติ" ว่า ภายในเร็ววันนี้อาจจะมีมาตรการอะไรบางอย่าง หลังจากพบกับนายเศรษฐพุฒิ ก่อนหน้านี้และเตรียมนัดหารือกันอีกหลายครั้งในอนาคต

นายพิชัยกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้ให้ข้อคิดเห็นและสรุปว่า ให้กลับไปดูว่าอะไรที่ทำได้เลย สองอาทิตย์ให้กลับมารายงานความคืบหน้า เพื่อให้เกิดการผลักดันและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปพร้อมกับระบบการเงินการคลังร่วมกัน 

พิชัย เตรียมถก ผู้ว่าแบงก์ชาติ ทบทวนกรอบเงินเฟ้อ-ลดดอกเบี้ยนโยบาย

เมื่อถามว่า เรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะเห็นการประสานนโยบายการเงินกับการคลังในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งหน้าวันที่ 12 มิ.ย.67 หรือไม่ นายพิชัยกล่าวว่า ถ้าตกลงเรื่องกรอบเงินเฟ้อได้ ซึ่งกระทรวงการคลังตั้งไว้ขั้นต่ำ 1 % ขั้นสูง 3 % บางประเทศเกิน 1 % บางประเทศ 2-4 % ก็มี บางประเทศตั้งค่าเดียว คือ 2.5 % ส่วนของเราจะตั้งเท่าไหร่ก็ต้องมาคุยกัน

“ถ้าเราให้ของถูก เราก็ให้ดอกเบี้ยแพงหน่อย ถ้าจะให้ของแพงขึ้นมาหน่อยดอกเบี้ยก็ต้องลดลงมา แล้วมาดูว่ากรอบเงินเฟ้อควรจะเป็นเท่าไหร่ ค่าเงินเฟ้อเท่าไหร่ถึงจะพอดี ทำให้ผู้บริโภคก็อยู่ได้ ผู้ผลิตอยู่รอดได้ เดี๋ยวจะมาคุยกัน เมื่อเข้าใจโจทย์ตรงกัน การคุยกันก็จะเข้าใจกัน”นายพิชัยกล่าว

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง กล่าวว่า ในการประชุมครั้งนี้ การหารือกันนั้นมีการพูดคุยกันในเรื่องของเงินเฟ้อที่ต่ำ และการเข้าถึงสินเชื่อของเอสเอ็มอีโดยในส่วนของเงินเฟ้อที่ต่ำกว่ากรอบเงินเฟ้อที่กำหนดไว้ในแต่ละปีที่ 1-3% นั้น ทั้งกระทรวงการคลังและ ธปท.ก็เห็นพ้องกันว่าต้องมีการหารือในเรื่องนี้ก่อนระยะเวลาที่มีการกำหนดไว้ตามปกติที่จะมีการหารือเรื่องนี้ในช่วงปลายปี

พิชัย เตรียมถก ผู้ว่าแบงก์ชาติ ทบทวนกรอบเงินเฟ้อ-ลดดอกเบี้ยนโยบาย

นายเผ่าภูมิกล่าวว่า โดยในเรื่องของเงินเฟ้อนั้นถือว่ามีประเด็นสำคัญ 2 เรื่องคือกรอบเงินเฟ้อในปัจจุบันนั้นเหมาะสมหรือไม่ และกรณีที่เงินเฟ้อไม่เป็นไปตามเป้าหมายจะมีเครื่องมือหรือแนวทางอย่างไรให้เงินเฟ้อกลับมาสู่กรอบที่กำหนดไว้ ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของกระทรวงการคลังและธปท.

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลังกล่าวถึงโอกาสที่กนง.จะลดดอกเบี้ยนโยบายในครั้งหน้าหรือไม่ว่า อยู่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ของ ครม. ซึ่งที่ประชุมได้หารือถึงสถานการณ์และกรอบเงินเฟ้อที่เหมาะสม แต่ไม่ได้ลงในรายละเอียดของการประชุมกนง. อย่างไรก็ตามทางเทคนิคหากมีการปรับกรอบเงินเฟ้อก็จะทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายเกิดความยืดหยุ่นมากขึ้น   

“เรื่องกรอบเงินเฟ้อเป็นการหารือระหว่างกระทรวงการคลังและธปท.เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องที่จะต้องไปหารือกันต่อ ซึ่งปัจจุบันอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 1-3% การจะทำอะไรต้องเป็นการตกลงร่วมกัน”นายจุลพันธ์กล่าว