สงครามการค้า สหรัฐฯ-จีน ยืดเยื้อ แต่ไทยอาจได้ประโยชน์มากกว่าที่คาด

23 พ.ค. 2567 | 07:35 น.

ผลกระทบสงครามการค้า หรือ Trade War ระหว่างสหรัฐฯ-จีน ยังคงมีสัญญาณยืดเยื้อ หลังสหรัฐ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้ารอบใหม่กับจีน แม้จะกระทบการค้าโลก แต่อีกมุมหนึ่ง สศช. ประเมินประเทศไทยอาจได้ประโยชน์มากกว่าที่คาด

สงครามการค้า หรือ Trade War ระหว่างสหรัฐฯ-จีน ประเด็นสำคัญเขย่าเศรษฐกิจโลก โดยหลาย ๆ ประเทศต่างได้รับอานิสงส์ทั้งร้ายและดี แตกต่างกัน ล่าสุดสหรัฐฯ ยังคงดำเนินมาตรการกีดกันการค้าและการลงทุนต่อจีนอย่างต่อเนื่อง มุ่งเป้าไปที่อุตสาหกรรมสำคัญ ทั้ง การผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เหล็กกล้า และอุปกรณ์การแพทย์ 

ทั้งนี้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้มีการประเมินสงครามการค้า ระหว่างสหรัฐฯ-จีน ว่า การดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนยังคงยืดเยื้อต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2560 จนกระทั่งล่าสุดเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 สหรัฐฯ ได้ประกาศมาตรการปกป้องธุรกิจและแรงงานในประเทศ โดยการขึ้นภาษีนำเข้ารอบใหม่กับจีน ส่งผลให้การนำเข้าและส่งออกสินค้า ระหว่างทั้งสองประเทศลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

แต่ในทางกลับกันทั้งสองประเทศมีการนำเข้ามากขึ้นจากประเทศอื่น ๆ รวมถึงประเทศใน ASEAN และไทย โดยเฉพาะกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งเมื่อพิจารณาจากสัดส่วนที่สหรัฐฯ มีการนำเข้าจาก ASEAN (ไม่รวมไทย) พบว่า 

1. เซมิคอนดักเตอร์และส่วนประกอบ เพิ่มขึ้นจาก 25.40% ในช่วงก่อน Trade War เป็น 46.11% ในช่วงหลังโควิด-19 

2. โทรศัพท์ และชิ้นส่วน เพิ่มขึ้นจาก 9.02% ในช่วงก่อน Trade War เป็น 21.80% ในช่วงหลังโควิด-19

ส่วนสินค้าที่สัดส่วนการนำเข้าของสหรัฐฯ จากไทยเพิ่มขึ้น มีดังนี้

  1. เซมิคอนดักเตอร์และส่วนประกอบ เพิ่มขึ้นจาก 2.10% ในช่วงก่อน Trade War เป็น 12.56% ในช่วงหลังโควิด-19 
  2. แผงวงจรรวม เพิ่มขึ้นจาก 2.51% ในช่วงก่อน Trade War เป็น 4.33% ในช่วงหลังโควิด-19 เป็นต้น 

 

สงครามการค้า สหรัฐฯ-จีน ยืดเยื้อ แต่ไทยอาจได้ประโยชน์มากกว่าที่คาด

 

อย่างไรก็ดี พบว่า มีหลายสินค้าที่สัดส่วนสหรัฐฯ มีการนำเข้าจาก ASEAN (ไม่รวมไทย) เพิ่มขึ้นมากกว่าสัดส่วนที่นำเข้าจากไทย เมื่อเทียบช่วง Trade War กับช่วงหลังโควิด-19 เช่น โทรศัพท์และชิ้นส่วน เครื่องประมวลข้อมูลอัตโนมัติ และหม้อแปลงไฟฟ้า เป็นต้น 
อีกทั้งยังพบว่า ในสินค้าประเภทเดียวกัน ไทยมีสัดส่วนการนำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้นเช่นกัน คือ

  1. เซมิคอนดักเตอร์และส่วนประกอบที่มีสัดส่วนการนำเข้าจากจีน ในช่วงหลังโควิด-19 อยู่ที่ 8.59% จาก 2.93% ในช่วงก่อน Trade War 
  2. เครื่องปรับอากาศ มีสัดส่วนการนำเข้าจากจีนในช่วง หลังโควิด-19 อยู่ที่ 13.83% จาก 4.37% ในช่วงก่อน Trade War 
  3. โทรศัพท์และชิ้นส่วน มีสัดส่วนการนำเข้าจากจีนในช่วง หลังโควิด-19 อยู่ที่ 12.68% จาก 10.99% ในช่วงก่อน Trade War

เมื่อพิจารณาจากการขาดดุลหรือเกินดุลการค้ากับทั้งสองประเทศ พบว่า ประเทศสำคัญของ ASEAN ส่วนใหญ่มีการขาดดุลจากจีนและ เกินดุลจากสหรัฐฯ เร่งขึ้นหลังจากช่วงก่อนโควิด-19 โดยมูลค่าดุลการค้าปี 2566 พบว่า 

1. เวียดนาม ขาดดุลจากจีน อยู่ที่ 59,973 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จาก สินค้า เช่น โทรศัพท์และชิ้นส่วน และผลิตภัณฑ์แผ่นเหล็กรีด เป็นต้น ขณะที่เกินดุลจากสหรัฐฯ อยู่ที่ 94,982 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากสินค้า เช่น โทรศัพท์ และชิ้นส่วน และเซมิคอนดักเตอร์และส่วนประกอบ 

2. ไทย ขาดดุลกับจีนอยู่ที่ 37,305 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากสินค้า เช่น โทรศัพท์และชิ้นส่วน รถยนต์ และยานยนต์ และเซมิคอนดักเตอร์และส่วนประกอบ เป็นต้น ขณะที่เกินดุลจากสหรัฐฯ อยู่ที่ 27,992 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากสินค้า เช่น โทรศัพท์และ ชิ้นส่วน เครื่องประมวลผลข้อมูลอัตโนมัติ และยางนอกชนิดอัดลม เป็นต้น 

3. มาเลเซีย ขาดดุลจากจีน อยู่ที่ 14,584 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากสินค้า เช่น น้ำมันปิโตรเลียม โทรศัพท์และชิ้นส่วน เครื่องประมวลผลข้อมูลอัตโนมัติ เป็นต้น ขณะที่เกินดุลจากสหรัฐฯ อยู่ที่ 15,928 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากสินค้า เช่น แผงวงจรรวม โทรศัพท์และชิ้นส่วน และเซมิคอนดักเตอร์และส่วนประกอบ เป็นต้น 

ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบดุลการค้าทั้งจีนและสหรัฐฯ ทั้ง 3 ประเทศในปี 2566 พบว่า เวียดนามและมาเลเซีย มีมูลค่าเกินดุลการค้าจากสหรัฐฯ สูงกว่าการขาดดุลการค้าจากจีน 35,009 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ 1,344 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามลำดับ ขณะที่ไทยขาดดุลการค้าจากจีนมากกว่าเกินดุลจากสหรัฐฯ 9,313 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แสดงให้เห็นว่า ทั้งเวียดนามและมาเลเซียมีแนวโน้มที่จะได้ประโยชน์จากสถานการณ์การเบี่ยงเบนทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน มากกว่าไทย

 

สงครามการค้า สหรัฐฯ-จีน ยืดเยื้อ แต่ไทยอาจได้ประโยชน์มากกว่าที่คาด

 

กล่าวโดยสรุปพบว่า การเบี่ยงเบนทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ สามารถสร้างประโยชน์ให้กับประเทศในกลุ่ม ASEAN โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีที่สหรัฐฯ ลดการนำเข้าจากจีน โดยเฉพาะกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ โดยสินค้าที่ไทยได้รับผลประโยชน์มากขึ้น (สัดส่วนการนำเข้าของสหรัฐฯ จากไทย เพิ่มขึ้น) เช่น เซมิคอนดักเตอร์และส่วนประกอบ แผงวงจรรวม และเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น 

อย่างไรก็ดี พบว่ามีบางสินค้าที่ ASEAN และไทยได้รับผลประโยชน์ แต่ ASEAN ได้รับประโยชน์มากกว่าไทย (การเพิ่มขึ้นของสัดส่วนการนำเข้าของสหรัฐฯ จาก ASEAN มากกว่าการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนการนำเข้าจากไทย) เช่น โทรศัพท์และชิ้นส่วน เครื่องประมวลผลข้อมูลอัตโนมัติ และหม้อแปลงไฟฟ้า เป็นต้น 

ส่วนบางสินค้าที่ ASEAN ได้รับผลประโยชน์มากขึ้น ขณะที่ไทยได้รับผลประโยชน์ลดลง (สัดส่วนการนำเข้าของสหรัฐฯ จาก ASEAN เพิ่มขึ้น ขณะที่สัดส่วนการนำเข้าจากไทยลดลง) เช่น ยางนอกชนิดอัดลม เป็นต้น 

นอกจากนี้แม้ว่าไทยจะเกินดุลจากสหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ไทยก็ยังคงเป็นประเทศที่มีการขาดดุลการค้าจากจีนมากกว่า โดยส่วนหนึ่งมาจากสินค้าที่ไทยเกินดุลจากจีนยังคงเป็นสินค้าเกษตรที่มูลค่าเพิ่มไม่มาก ขณะที่ชนิดสินค้าที่ไทยขาดดุลจากจีนจะเป็นสินค้า อุตสาหกรรมที่มีความซับซ้อนและมูลค่าเพิ่มสูง 

ดังนั้น เพื่อให้ไทยสามารถได้รับประโยชน์จากสถานการณ์การเบี่ยงเบนทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ มากขึ้น การเสริมสร้างขีดความสามารถของภาคเกษตรและอุตสาหกรรมของไทยจากภาครัฐ ทั้งเรื่องของเทคโนโลยี องค์ความรู้ และแรงจูงใจภาคเอกชน จะทำให้ไทยสามารถพัฒนาและส่งออกสินค้าภาคเกษตรและอุตสาหกรรมที่อาศัยเทคโนโลยีนวัตกรรมที่ซับซ้อนและสร้างมูลค่าเพิ่มได้สูงขึ้น ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ไทยสามารถเข้าร่วมห่วงโซ่มูลค่าในตลาดโลกได้มากขึ้นในระยะถัดไป