นายสรรชาย นุ่มบุญนำ ผู้จัดการทั่วไป อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม ,คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ (BOI) ,สมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย (TAPMA)
,สมาคมอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทย (TDIA) ,สถาบันไทย-เยอรมัน (TGI) ,สมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย ,สมาคมผู้ประกอบการระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ไทย (TARA) และอีกกว่า 40 หน่วยงานและสมาคมที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการผลิต
ทั้งนี้ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมไทยสู่ยุคปลอดคาร์บอน โดยการนำเสนอผ่านงานอินเตอร์แมค 2024-ซับคอนไทยแลนด์ 2024 โดยเชื่อว่าเวทีดังกล่าวจะเชื่อมโอกาสและสร้างความได้เปรียบให้กับภาคอุตสาหกรรมไทย
โดยมีหมุดหมายการเป็นส่วนหนึ่งขับเคลื่อนไทยเป็นศูนย์กลางการนำเสนอเทคโนโลยีและเครื่องจักรที่ทันสมัยให้กับอุตสาหกรรมการผลิตและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอย่างครบครันในภูมิภาคอาเซียน จากทิศทางของเป้าหมายของประชาคมโลกที่พร้อมมุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการผลิตเป็นศูนย์ (Net Zero Carbon)
สำหรับงานดังกล่าวนี้ จะเป็นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมชั้นสูงจากไทยและต่างประเทศ ครอบคลุมทั้งเครื่องจักร ซอฟท์แวร์ ระบบอัตโนมัติหุ่นยนต์แขนกล เครื่องมือกล (Machine Tools) รวมถึงเทคโนโลยีการวัดขั้นสูง เทคโนโลยีเครื่องไฟเบอร์เลเซอร์กำลังวัตต์สูง หรือเทคโนโลยี ชีท เมทัล (SHEET METAL) หรืองานโลหะแผ่นทั้งงานตัด เจาะ กลึง พับ เชื่อม หรือตรวจวัด เป็นต้น
"บีโอไอนำ 7 ค่ายรถยนต์ EV รายใหญ่ที่ลงทุนในไทย ทั้ง BYD, SAIC Motor, Great Wall Motor, Neta, Changan, GAC Aion, และ OMODA & JAECOO มาร่วมแชร์ประสบการณ์และเผยถึงทิศทางของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าผ่านกิจกรรม BOI Symposium: EV Supply Chain"
นอกจากนี้ ซับคอนไทยแลนด์ยังเป็นเหมือนจุดนัดพบการลงทุนในระดับภูมิภาค ร่วมจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการชิ้นส่วนไทยและบริษัทรายใหญ่จากทั้งในและต่างประเทศ
นายสรรชาย กล่าวอีกว่า ด้วยศักยภาพของประเทศไทย ชาติชั้นนำในภาคอุตสาหกรรมการผลิตและเครื่องจักรของภูมิภาค เวทีการจัดงานดังกล่าวจะเป็นส่วนสนับสนุนที่สำคัญในการขานรับการขยายโอกาสในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ทางภาครัฐเร่งส่งเสริมและสนับสนุน
รวมถึงการต่อยอดไปยังอุตสากรรมปลายทางที่ในขณะนี้เป็นที่ต้องการในตลาดโลก อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า บรรจุภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ และพลังงานสะอาด โดยการพัฒนาและยกระดับขีดความสามารถของผู้จัดแสดงเรามั่นใจว่าจะเป็นการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญของภาคอุตสาหกรรมไทยไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนตามกรอบของเศรษฐกิจโลกหรือ Net Zero Carbon