รัฐบาลร่วมมืออวกาศจีน สร้างสถานีวิจัยดวงจันทร์-สำรวจดาวอังคาร

04 เม.ย. 2567 | 04:18 น.

รัฐบาล ไฟเขียวร่างบันทึกความเข้าใจ 2 ฉบับ ร่วมมือกับประเทศจีน ศึกษาวิจัยด้านอวกาศ ทั้งการสร้างสถานีวิจัยดวงจันทร์ระหว่างประเทศ และ การสำรวจอวกาศ ทั้ง ดวงจันทร์ และดาวอังคาร เฝ้าระวัง-จัดการจราจรทางอวกาศ

นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ขณะนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มติเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจ 2 ฉบับ เพื่อช่วยการศึกษาวิจัยด้านอวกาศของประเทศไทย คือ

  1. ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านสถานีวิจัยดวงจันทร์ระหว่างประเทศระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม แห่งราชอาณาจักรไทย และสำนักงานบริหารอวกาศแห่งชาติจีน
  2. ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการสำรวจและการใช้อวกาศส่วนนอกเพื่อสันติ ระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม แห่งราชอาณาจักรไทย และสำนักงานบริหารอวกาศแห่งชาติจีน 

ทั้งนี้เพื่อเป็นการวางรากฐานความร่วมมือในการร่วมสร้างสถานีวิจัยดวงจันทร์ระหว่างประเทศ การสำรวจและใช้ประโยชน์จากอวกาศ และอวกาศส่วนนอกเพื่อสันติ รวมถึงดวงจันทร์และวัตถุในท้องฟ้าอื่น ๆ ซึ่งไทยจะได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้และขยายความร่วมมือด้านการสำรวจอวกาศเพื่อนำไปสู่การพัฒนากำลังคนในสาขาที่เป็นเทคโนโลยีขั้นสูง 

รวมทั้งการประยุกต์ใช้อวกาศเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ และกระชับความร่วมมือไทย – จีนในด้านอวกาศอย่างยั่งยืน ตลอดจนการพัฒนากำลังคนและพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศของไทยต่อไป

นางรัดเกล้า กล่าวว่า จากการคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ว่า ตลาดอุตสาหกรรมอวกาศทั้งโลกในอีก 20 ปีข้างหน้าจะมีมูลค่าประมาณ 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เทคโนโลยีอวกาศแม้จะดูเหมือนไกลตัว แต่แท้จริงแล้วอยู่ในรอบตัวชีวิตประจำวัน ทั้ง ด้านการติดต่อสื่อสาร แต่ก็เป็นเรื่องใหญ่ที่จำเป็นต้องอาศัยความเชี่ยวชาญ และความร่วมมือจากหลายฝ่ายนำองค์ความรู้ ความสามารถและโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ มาร่วมทำงานให้เกิด ผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม 

“ความร่วมมือระหว่างประเทศด้านเทคโนโลยีอวกาศเป็นไปเพื่อพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากร รวมถึงยกระดับการพัฒนาเทคโนโลยีและวิศวกรรมขั้นสูงในประเทศ โดยความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนระหว่างกันในครั้งนี้จะเป็นความร่วมมือที่ช่วยพัฒนากำลังคน โครงสร้างพื้นฐาน และระบบนิเวศน์สำหรับพัฒนาเทคโนโลยีและเศรษฐกิจอวกาศของประเทศให้เกิดขึ้นต่อไปได้อย่างยั่งยืน สู่การสร้างเทคโนโลยีดาวเทียมวิจัยวิทยาศาสตร์ฝีมือคนไทยในอนาคต” รองโฆษกฯ ระบุ

สาระสำคัญของร่างความร่วมมือ 2 ฉบับ

1.ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านสถานีวิจัยดวงจันทร์ระหว่างประเทศ

ความร่วมมือระหว่าง : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งราชอาณาจักรไทย และสำนักงานบริหารอวกาศแห่งชาติจีน

สาระสำคัญ : เพื่อวางรากฐานความร่วมมือในการร่วมสร้างสถานีวิจัยดวงจันทร์ระหว่างประเทศ โดยเป็นความร่วมมือในระดับกระทรวงที่ครอบคลุมขอบเขตความร่วมมือในด้านต่าง ๆ เช่น การวิจัยทางวิทยาศาสตร์บนพื้นผิวดวงจันทร์ การใช้ประโยชน์จากอวกาศในการสำรวจ ซึ่งเป็นการดำเนินการภายใต้สนธิสัญญาว่าด้วยหลักเกณฑ์การดำเนินกิจการของรัฐในการสำรวจและการใช้อวกาศส่วนนอก รวมทั้งดวงจันทร์และเทหะ (วัตถุ) ในท้องฟ้าอื่น ๆ 

2.ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการสำรวจและการใช้อวกาศส่วนนอกเพื่อสันติ

ความร่วมมือระหว่าง : ระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งราชอาณาจักรไทย กับสำนักงานบริหารอวกาศแห่งชาติจีน

สาระสำคัญ : ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการสำรวจและการใช้อวกาศส่วนนอกเพื่อสันติครอบคลุม 5 สาขา ได้แก่ 

  1. การสำรวจอวกาศ (ดวงจันทร์/ดาวอังคาร) โดยให้ความสำคัญกับความร่วมมือด้านสถานีวิจัยดวงจันทร์ระหว่างประเทศ 
  2. การเฝ้าระวังทางอวกาศ/การจัดการจราจรทางอวกาศ
  3. การประยุกต์ใช้อวกาศโดยให้ความสำคัญกับความร่วมมือในการแบ่งปันและการประยุกต์ใช้ข้อมูลการสำรวจระยะไกล 
  4. การพัฒนากำลังคนด้านอวกาศ ซึ่งไม่จำกัดเฉพาะ การปล่อยจรวด การร่วมพัฒนาดาวเทียม อุปกรณ์รองรับภารกิจของดาวเทียม และโครงสร้างอำนวยความสะดวกภาคพื้นดิน 
  5. ความร่วมมือในสาขาอื่น ๆ

ขณะที่รูปแบบความร่วมมือ ภายใต้ร่างบันทึกความเข้าใจฯ ครอบคลุม 5 กิจกรรม ได้แก่ 

  1. การวางแผนและดำเนินโครงการร่วมด้านอวกาศ 
  2. การดำเนินการโครงการแลกเปลี่ยนและการฝึกอบรมบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์อย่างเป็นรูปธรรม 
  3. การแลกเปลี่ยนอุปกรณ์ เอกสาร ข้อมูล ผลการทดลองและข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ โดยเป็นไปตามข้อกฎหมายของทั้งสองฝ่าย 
  4. การร่วมจัดประชุมทางวิชาการและประชุมเชิงปฏิบัติการด้านวิทยาศาสตร์ 
  5. ความร่วมมือรูปแบบอื่น ๆ ตามที่เห็นพ้องกัน 

ทั้งนี้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมและสำนักงานบริหารอวกาศแห่งชาติจีนจะส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือระหว่างองค์กร สถาบันและหน่วยงานในภาคอุตสาหกรรมของไทย - จีน รวมทั้งสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์วิจัยหรือห้องปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินโครงการร่วมระหว่างหน่วยงาน