รื้อกฎหมาย รุก “ธุรกิจอวกาศ” รัฐบาล หวังแชร์ส่วนแบ่งตลาด 35 ล้านล้าน

06 มี.ค. 2567 | 07:50 น.

รัฐบาลรื้อกฎหมาย ร่าง พ.ร.บ. กิจการอวกาศ เปิดรับฟังความคิดเห็นอีกรอบ หลังกลับมาทบทวนเสนอครม. ไฟเขียว ปรับปรุงรายละเอียด ตั้งสำนักงานใหม่ ตั้งกองทุน หวังแชร์ส่วนแบ่งตลาด “ธุรกิจอวกาศ” 35 ล้านล้านบาท

KEY

POINTS

  • “ธุรกิจอวกาศ” มีแนวโน้มขยายตัว จากการประเมินเศรษฐกิจอวกาศโลกจะโตต่อเนื่องอีก 20 ปีข้างหน้า และมีมูลค่าถึง 1.1 ล้านล้านดอลลาร์ หรือกว่า 35 ล้านล้านบาท
  • รัฐบาลกำลังผลักดัน ร่าง พ.ร.บ. กิจการอวกาศ พ.ศ. .... เพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับอวกาศ เป็นอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศในอนาคต
  • การผลักดัน ร่าง พ.ร.บ. กิจการอวกาศ ฉบับใหม่ อยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็น หลังจากมีการปรับปรุงรายละเอียดหลายอย่าง ก่อนเสนอครม.ไฟเขียวอีกครั้ง
     

“ธุรกิจอวกาศ” นับเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่มีมูลค่าสูง ซึ่งประเทศไทยต้องการผลักดัน เพราะที่ผ่านมา อัตราการเติบโตของธุรกิจและอุตสาหกรรมอวกาศในระดับโลก มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีการประเมินว่า เศรษฐกิจอวกาศโลกจะมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องอีก 20 ปีข้างหน้า และมีมูลค่าถึง 1.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 35 ล้านล้านบาท

กรณีประเทศไทย จากการศึกษาอุตสาหกรรมอวกาศในประเทศ พบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีกิจการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอวกาศและอุตสาหกรรมต่อเนื่องจำนวนมากกว่า 35,600 กิจการ ก่อให้เกิดประโยชน์ทางต่อเศรษฐกิจและสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศได้ประมาณ 56,122 ล้านบาทต่อปี

ปัจจุบัน สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ สทอภ. ได้มีการยกร่างกฎหมายสำคัญ นั่นคือ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กิจการอวกาศ พ.ศ. .... เพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับอวกาศ ซึ่งจะเป็นอุตสาหกรรมที่สามารถขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศได้ในอนาคต

ล่าสุด การผลักดันกฎหมายฉบับนี้ ยังอยู่ระหว่างการส่งกลับมาให้รัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” พิจารณาใหม่อีกครั้ง หลังจากผ่านการอนุมัติหลักการจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) สมัยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปแล้ว 

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล บอกกับฐานเศรษฐกิจว่า หลังจากกฎหมายฉบับนี้ผ่านครม.ไปและได้เสนอไปยังสภาแล้ว แต่ได้ส่งกลับมาให้รัฐบาลใหม่พิจารณารายละเอียดอีกครั้งว่า จะผลักดันอย่างไรต่อไป เบื้องต้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการปรับปรุงรายละเอียดของร่างกฎหมายใหม่ทั้งหมด

โดยปรับแก้บางมาตรการเพื่อให้เกิดความทันสมัยมากขึ้น และได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นแล้ว ก่อนจะสรุปเรื่องเสนอเข้ามาให้ครม.พิจารณาได้อีกครั้งในเร็ว ๆ นี้

สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. กิจการอวกาศ

สำหรับสาระสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ. กิจการอวกาศ พ.ศ. .... มีเรื่องสำคัญ คือ กำหนดให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ และจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ โดยในระยะแรกจะห้ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ ตามพ.ร.บ.นี้ ไปพลางก่อน 

รวมทั้งในวาระเริ่มแรก ให้คณะรัฐมนตรีจัดสรรเงินทุนประเดิมให้แก่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติและกองทุนส่งเสริมกิจการอวกาศ ตามความจำเป็น และยังมีการกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับกำกับการดำเนินกิจกรรมอวกาศที่เกี่ยวข้องกับการส่งวัตถุอวกาศและการส่งพาหนะนำส่งวัตถุอวกาศ และบทลงโทษด้านต่าง ๆ ด้วย

นอกจากนี้ยังให้โอนบรรดาสิทธิและหน้าที่ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ตามสัญญามอบสิทธิบริหารจัดการทรัพย์สินของโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศภายหลังสิ้นสุดสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ ระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กับบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ลงวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ.2564  ไปเป็นของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

เหตุผลที่ต้องยกร่างพ.ร.บ. กิจการอวกาศ

ที่ผ่านมา ประเทศไทย ยังไม่มีกฎหมายและหน่วยงานกลางทำหน้าที่กำหนดนโยบายและแผนกิจการอวกาศ รวมทั้งบูรณาการการพัฒนาและกำกับการดำเนินกิจการอวกาศ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนากิจการอวกาศให้เกิดประโยชน์แก่เศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ 

ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ ในการประชุม เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2560 เล็งเห็นความสำคัญของการออกกฎหมาย จึงได้มีมติมอบหมายให้สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ สทอภ. จัดทำร่างพระราชบัญญัติกิจการอวกาศ พ.ศ. .... 

พร้อมทั้งเสนอต่อคณะอนุกรรมการและคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2563 และมอบหมาย สทอภ. ให้นำ ร่างพระราชบัญญัติกิจการอวกาศ พ.ศ. .... เสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณา ซึ่งคณะรัฐมนตรี พิจารณาแล้วมีมติเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 อนุมัติในหลักการ 

เพื่อให้ประเทศไทยมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์อวกาศ และมีกลไกสนับสนุนและส่งเสริมภาครัฐและเอกชนให้มีส่วนร่วมในการพัฒนากิจการอวกาศได้อย่างเหมาะสม สอดคล้องกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอวกาศและความต้องการของภาครัฐและเอกชนด้านการใช้ประโยชน์จากห้วงอวกาศมากขึ้น 

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีดาวเทียมสื่อสารและดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการใช้ประโยชน์เป็นของตนเอง และเข้าร่วมเป็นภาคีสนธิสัญญาว่าด้วยหลักเกณฑ์การดำเนินกิจการของรัฐในการสำรวจและการใช้อวกาศภายนอก รวมทั้ง ดวงจันทร์และเทหะในท้องฟ้าอื่น ๆ ค.ศ.1967 และความตกลงว่าด้วยการช่วยชีวิตนักอวกาศ การส่งคืนนักอวกาศและการคืนวัตถุที่ส่งออกไปในอวกาศภายนอก ค.ศ.1968

รวมทั้งอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมในการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความรับผิดระหว่างประเทศต่อความเสียหายอันเนื่องจากวัตถุอวกาศ ค.ศ.1972 และอนุสัญญาว่าด้วยการจดทะเบียนวัตถุที่ส่งออกไปในอวกาศภายนอก ค.ศ.1975