ผู้มีสิทธิ 5 กลุ่ม รับเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ ข้าราชการ 2567

03 เม.ย. 2567 | 23:32 น.

เช็ครายละเอียดของข้าราชการผู้มีสิทธิ 5 กลุ่ม เตรียมตัวรับเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไปตามมติคณะรัฐมนตรีครั้งล่าสุด

ข้าราชการไทย เตรียมตัวให้กร้อมกับการรับ เงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ ภายหลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ออกมาเป็นที่เรียบร้อย โดยจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ แรกบรรจุทุกคุณวุฒิ 

สาระสำคัญเป็นการปรับปรุงอัตราเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ เพื่อกำหนดให้ผู้ได้รับหรือมีสิทธิได้รับเบี้ยหวัดหรือบำนาญซึ่งเมื่อรวมกับเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญแล้วต่ำกว่าเดือนละ 11,000 บาท ให้ได้รับเงินช่วยค่ครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญเพิ่มขึ้นจนครบเดือนละ 11,000 บาท

สำหรับสาระสำคัญเป็นการปรับปรุงอัตราเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ ข้าราชการ เพื่อกำหนดให้ผู้ได้รับหรือมีสิทธิได้รับเบี้ยหวัดหรือบำนาญ ซึ่งเมื่อรวมกับเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญแล้วต่ำกว่าเดือนละ 11,000 บาท ให้ได้รับเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญเพิ่มขึ้น จนครบเดือนละ 11,000 บาท

ล่าสุดการจัดเตรียมจัดเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ นั้น ทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ตรวจพิจารณาร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวเป็นการล่วงหน้าแล้ว และให้ดำเนินการต่อไปได้ตามขั้นตอน

 

ภาพประกอบข่าว ผู้มีสิทธิได้รับเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ ข้าราชการ 1 พ.ค.2567

ผู้มีสิทธิได้รับเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ

สำหรับผู้มีสิทธิที่จะได้รับเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ เดือนละ 11,000 บาท ตามมติครม. ที่ออกมาในครั้งนี้ มีด้วยกัน 5 กลุ่ม ดังนี้

1.ผู้รับเบี้ยหวัดตามข้อบังคับของกระทรวงกลาโหม 

รายละเอียด : เป็นไปตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยเงินเบี้ยหวัด พ.ศ. 2495 ครอบคลุมนายทหารชั้นสัญญาบัตร ที่มีเวลาราชการไม่น้อยกว่า 1 ปีแล้วออกจากราชการเป็นนายทหารกองหนุน, นายทหารชั้นสัญญาบัตรนอกประจำการ, นายทหารประทวนและพลทหาร ซึ่งรับราชการในกองประจำการครบตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหารแล้ว และนายทหารประทวนและพลทหารกองหนุน ที่ไม่ได้รับเบี้ยหวัดหรือบำนาญ

2.ผู้รับบำนาญปกติ 

รายละเอียด :  ตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 กำหนดให้ข้าราชการมีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญปกติด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง จำนวน 4 เหตุ ได้แก่ เหตุทดแทน เหตุทุพพลภาพ เหตุสูงอายุ เหตุรับราชการนาน

3.ผู้รับบำนาญพิเศษเพราะเหตุทุพพลภาพ 

รายละเอียด : ตามมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญฯ กำหนดให้บำเหน็จบำนาญเหตุทพพลภาพนั้น ให้แก่ข้าราชการผู้ป่วยเจ็บทุพพลภาพ ซึ่งแพทย์ได้ตรวจและแสดงความเห็นว่าไม่สามารถที่จะรับราชการในตำแหน่งหน้าที่ซึ่งปฏิบัติอยู่นั้นต่อไป

4.บำนาญพิเศษ

รายละเอียด : บำนาญพิเศษ คือ เงินที่จะต้องจ่ายให้แก่ทายาทของข้าราชการผู้นั้น เพราะเหตุเสียชีวิต อันมาจากการปฏิบัติงานในหน้าที่

5.บำนาญตกทอดในฐานทายาทหรือผู้อุปการะหรือผู้อยู่ในอุปการะ

รายละเอียด : ปัจจุบัน คือ เงินบำเหน็จตกทอด (เงินที่รัฐจ่ายให้แก่ทายาทของผู้ที่ถึงแก่ความตาย ซึ่งจ่ายเป็นเงินก้อนครั้งเดียว) แต่บำนาญตกทอดในฐานะทายาทหรือผู้อุปการะหรือผู้อยู่ในอุปการะเป็นคำในกฎหมายเดิม ซึ่งปัจจุบันยังมีผู้ใด้รับเงินประเภทนี้อยู่

 

ภาพประกอบข่าว ผู้มีสิทธิได้รับเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ 2567

 

ผลกระทบเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ

กระทรวงการคลัง ประมาณการการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ ตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 แล้ว โดยงบประมาณที่ต้องใช้ในการปรับเพิ่มเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ ต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นประมาณ 2.33 ล้านบาทต่อเดือน หรือ 27.96 ล้านบาทต่อปี 

โดยจะใช้งบกลาง รายการเงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ ซึ่งจะช่วยให้ผู้รับเบี้ยหวัดและผู้รับบำนาญสามารถดำรงชีพอยู่ได้ในสภาพเศรษฐกิจและค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน และให้สอดคล้องกับการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุและการปรับเงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป