ไทม์ไลน์ สมรสเท่าเทียม ลุ้น สว. ผ่านร่าง เริ่มจดทะเบียนคู่แรกสิ้นปีนี้

31 มี.ค. 2567 | 01:17 น.

กางไทม์ไลน์ สมรสเท่าเทียม หลังผ่านการพิจารณาของ สส.​ แล้ว เตรียมนำเสนอเข้าที่ประชุม สว. พิจารณา หากผ่านฉลุย ไม่มีข้อติดขัด เร็วสุด เริ่มจดทะเบียนสมรสเท่าเทียมคู่แรกของไทยได้ สิ้นปีนี้

หลัง สภาผู้แทนราษฎร ประชุม พิจารณาร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่…) พ.ศ. …. หรือร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม มีมติเห็นชอบ วาระที่ 2-3 แล้วนั้น ขั้นตอนหลังจากนี้นำเรื่อง กฎหมายสมรสเท่าเทียม นำเสนอให้กับวุฒิสภาพิจารณาอีกชั้นหนึ่ง

นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา หรือ สว. ระบุว่า ร่างกฎหมายดังกล่าว น่าจะบรรจุก่อนปิดสมัยประชุมนี้ อาจจะเป็นวันที่ 2 เม.ย. หรือ วันที่ 9 เม.ย. 2567 ซึ่งกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาฯ ได้เตรียมตั้งกรรมาธิการไว้เรียบร้อย ซึ่งมีสัดส่วนมาจากสว. ประชาชนผู้เสนอร่างกฎหมาย และจากคณะรัฐมนตรี ตามสัดส่วนน่าจะมีกรรมาธิการ 27 คน

ทั้งนี้ เนื่องจากจะมีการปิดสมัยประชุม 9 เม.ย. นี้ สว.น่าจะพิจารณารับหลักการในวาระที่ 1 จากนั้น กรรมาธิการฯจะทำงานในช่วง ปิดสมัยประชุม ก่อนกลับมาพิจารณาวาระที่ 2-3 ในสมัยประชุมต่อไปในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม ซึ่งแม้ สว. ชุดนี้ทั้ง 250 คน ที่มาจาการแต่งตั้งโดย คสช. จะหมดวาระในวันที่ 11 พฤษภาคม แต่น่าจะยังทำหน้าที่รักษาการ ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป เพราะเป็นช่วงก่อนที่ กกต.จะประกาศรับรอง สว.ชุดใหม่ 200 คน

นายกิตตินันท์ ธรมธัช (แดนนี่) นายกสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย (RSAT) ระบุว่า การผ่านด่าน สว. ถือว่ามีความสำคัญมาก ๆ เพราะกฎหมายจะถูกบังคับใช้ช่วงใด ขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการพิจารณาของต่อจากนี้ แต่เชื่อมั่นว่าในชั้นของ สว. น่าจะไม่ติดปัญหาใด ๆ ไทม์ไลน์ ก็น่าจะออกมาดังนี้

 

สมาชิกวุฒิสภา (สว.) พิจารณาร่างกฎหมาย 3 วาระ

  • 2 , 9 เม.ย. 67 วาระที่ 1  “รับหลักการ” 
  • ก.ค. 67 วาระที่ 2 “ลงมติรายมาตรา” และวาระที่ 3 “เห็นชอบทั้งฉบับ”

 

ทั้งนี้วุฒิสภาไม่มีอำนาจปัดตก หรือทำให้ร่างกฎหมายที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎรแล้ว หายไปได้แล้ว โดยจะลงมติได้ 3 กรณี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 137 คือ เห็นชอบ ไม่เห็นชอบ และแก้ไขเพิ่มเติม

กรณีเห็นชอบ

  • เตรียมนำเข้าสู่ขั้นตอนประกาศใช้เป็นกฎหมาย
  • เริ่มบังคับใช้ภายใน 120 วันหลังประกาศในราชกิจจาฯ (เร็วสุดสิ้นปีนี้)

 

กรณีไม่เห็นชอบ

  • ส่งกลับไปยังสภาฯ ดำเนินการตามขั้นตอน
  • สภาฯยกร่างกฎหมายกลับมาพิจารณาใหม่ได้หลังพ้นไปแล้ว 180 วัน
  • หากพิจารณาใหม่แล้ว และลงมติยืนยันร่างเดิมด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่ง ถือว่าได้รับความเห็นชอบแล้ว จะเข้าสู่ขั้นตอนประกาศใช้เป็นกฎหมาย

 

กรณีมีมติแก้ไขเพิ่มเติม

  • ส่งร่างกฎหมายที่แก้ไขเพิ่มเติมกลับไปที่สภาฯ
  • หาก สส. เห็นชอบ นำไปสู่ขั้นตอนประกาศใช้เป็นกฎหมาย
  • หาก สส. ไม่เห็นด้วย ต้องตั้ง ‘คณะกรรมาธิการร่วม’ สองสภา เพื่อพิจารณาโดยมีจำนวน สส. และ สว. เท่ากัน
  • กรรมาธิการร่วมพิจารณาร่างกฎหมายเสร็จแล้ว เสนอต่อทั้ง 2 สภา
  • หากสภาทั้งสองเห็นชอบ นำไปสู่ขั้นตอนประกาศใช้เป็นกฎหมาย
  • หากสภาใดสภาหนึ่งไม่เห็นชอบให้ยับยั้งร่างกฎหมายนั้นไว้ก่อน (สส. อาจยกขึ้นมาพิจารณาใหม่ได้หลัง 180 วัน โดยอาจยืนยันร่างเดิม หรือร่างที่คณะกรรมาธิการร่วมกันพิจารณาก็ได้)