สมาคมฟ้าสีรุ้ง ชี้ สมรสเท่าเทียม ดันไทยคว้าเจ้าภาพ World Pride 2030

30 มี.ค. 2567 | 00:30 น.

สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย ปลื้ม พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมผ่านสภา 3 วาระ มั่นใจ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทย คึกคัก ลุ้นไทยเจ้าภาพจัดงาน World Pride 2030 กระตุ้นการท่องเที่ยว

นายกิตตินันท์ ธรมธัช (แดนนี่) นายกสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย (RSAT) กล่าวกับ ‘ฐานเศรษฐกิจ‘ ว่า ในฐานะที่เป็นหนึ่งในผู้ขับเคลื่อนร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่…) พ.ศ. …. หรือ ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม สู่การบังคับใช้ได้สำเร็จ มีความรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง และ เป็นข่าวดีสำหรับชาวไทย ที่จะได้มีการสมรสแบบเท่าเทียมทุกเพศ หลังจากพยายามผลักดันร่างกฎหมายนี้มากว่า 10 ปี และถือเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศ 

ทั้งนี้ ในมุมของเศรษฐกิจ การผ่านร่างกฎหมายดังกล่าว เชื่อว่าจะส่งผลดีเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะมุมของธุรกิจการจัดงานแต่งงาน เพราะน่าจะมีปริมาณงานที่เพิ่มขึ้นแน่นอน แต่เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะหากมีผลบังคับใช้แล้ว ก็จะเป็นข่าวดังไปทั่วโลก ทำให้สามารถดึงเม็ดเงินจากต่างชาติเข้ามาในไทยได้จากการย้ายภูมิลำเนาเข้ามาเป็นประชากรไทย เพราะต้องการจดทะเบียนสมรสอย่างถูกกฎหมาย

"ที่สหรัฐอเมริกา ในปี 2015 มีการอนุญาตให้สมรสเท่าเทียม ส่งผลให้มีเม็ดเงินในสะพัดในระบบเศรษฐกิจเพิมขึ้นราว 4 แสนล้านบาทในปีเดียว โดยไทยจะกลายเป็นหมุดหมายใหม่ของ LGBTQIA+ เพราะกฎหมายเปิดกว้างให้คนทุกชาติสามารถมาแต่งงานจดทะเบียนได้ตามกฎหมายไทยด้วย"

ขณะเดียวกัน ไทยยังจะได้ประโยชน์จากการย้ายถิ่นฐานเข้ามาของชาวต่างชาติ ในแง่ของการสร้างทรัพยากรบุคคล เพราะกฎหมายเปิดช่องให้สามารถรับบุตรบุญธรรมเข้ามาไว้ในอุปการะได้ ส่งผลระยะยาวถึงกระบวนการทางสาธารณสุข การศึกษา และกระบวนการยุติธรรม 

ส่วนในแง่ของผลดีทางสังคมนั้น การปรับแก้กฎหมายฉบับนี้ จะช่วยให้สถาบันครอบครัวแข็งแกร่งขึ้น เกิดความยอมรับทางเพศกันในสังคมไทยอย่างเปิดกว้าง ก็จะส่งผบให้สถาบัน สังคม แข็งแกร่งขึ้น มีความสุขมากขึ้น

สำหรับในส่วนของภาคการท่องเที่ยว เชื่อว่าจะได้รับผลดีมากที่สุด โดยปัจจุบันมี LGBTQIAN+ ทั่วโลกมากกว่า 600 ล้านคน จะมีความต้องการท่องเที่ยวไทยมากขึ้นแน่นอน จากเดิมที่สถิติของ LGBT Travel Index จัดอันดับให้ไทยอยู่ที่ 80 กว่าของโลก ก็จะสูงขึ้น จากกฎหมายฉบับนี้ นอกจากนี้ กฎหมายฉบับนี้จะช่วยให้การเสนอตัวเป็นเจ้าภาพการจัดงาน World Pride ปี 2030 ของไทย มีความเป็นไปได้มากขึ้น

“การเสนอตัวเป็นเจ้าภาพการจัดงาน World Pride นั้น มีเงื่อนไขว่า ประเทศนั้น ๆ จะต้องมีกฎหมายสนับสนุน LGBT บังคับใช้ ซึ่งไทยเราถือว่าก้าวหน้า หากทำได้จริว เม็ดเงินด้านการท่องเที่นวจะเข้าไทยมหาศาล”

กฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

สำหรับกฎหมายฉบับต่อไปที่เกี่ยวข้องและเตรียมเสนอเข้าสู่สภาฯ คือ ร่าง พ.ร.บ.รับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพฯ ที่กำหนดให้บุคคลมีสิทธิในการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศตามกฎหมาย มีเสรีภาพในการพัฒนาตนเองให้สอดคล้องกับอัตลักษณ์ทางเพศสภาพของตน รวมทั้งต้องได้รับการรับรองชื่อตัว ภาพถ่าย และเพศที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ทางเพศสภาพของตนในเอกสารแสดงตน

ทั้งนี้ปัจจุบัน ภาคประชาชน โดย สมาคมฟ้าสีรุ่งแห่งประเทศไทย สมาคมบุคคลข้ามเพศแห่งประเทศไทย มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกระเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน (Thai TGA) ได้จัดทำร่างเรียบร้อยแล้ว รวบรวมรายชื่อได้มากกว่า 12,000 ราย เช่นเดียวกับร่างกฎหมายดังกล่าวจากกระทรวง พม. และพรรคกก้าวไกลก็พร้อมเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯภายในเดือนมิถุนายนนี้ 

นอกจากนี้ยังมี พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ.2558 หรือ พ.ร.บ. อุ้มบุญ ที่ต้องปรับแก้ให้เปิดกว้างมากกว่าคู่รักชายหญิง ไปจนถึงกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล ซึ่งกระทรวงยุติธรรมอยู่ระหว่างจัดทำ เน้นไปที่ 13 กลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก สตรี ผู้พิการ แรงงานข้ามชาติ กลุ่มชาติพันธุ์ ฯลฯ 

“ทั้งหมดนี้ ไม่ใช่แค่เรื่องของความเท่าเทียมทางเพศ แต่เป็นความเท่าเทียมทุกบรรทัดฐานของการใช้ชีวิต บนพื้นฐานที่ว่า คนทุกคนเท่ากัน ดังนั้น กฎหมายสมรสเท่าเทียม เป็นเพียงแค่การเริ่มต้นของหลาย ๆ กฎหมายที่จะออกมาต่อจากนี้”