ประกันสังคมเฉลยผู้ประกันตนมาตรา 33 หลังเกษียณต่อเป็นผู้ประกันตนได้ไหม

20 มี.ค. 2567 | 04:13 น.

ประกันสังคมไขข้อสงสัยผู้ประกันตนมาตรา 33 หลังเกษียณอายุ 55 ปีขึ้นไปสามารถต่อเป็นผู้ประกันตนได้หรือไม่ หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการได้รับสิทธิ

วันนี้ 20 มีนาคม 2567  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานประกันสังคม ได้แจ้งว่า ผู้ประกันตนมีข้อสงสัยในเรื่องผู้ประกันตนมาตรา 33 หลังเกษียณอายุ 55 ปีขึ้นไปสามารถต่อประกันสังคมได้หรือไม่

ถาม:  ผู้ประกันตนมาตรา 33 หลังเกษียณอายุ 55 ปีขึ้นไป

สามารถต่อประกันสังคมได้หรือไม่?

ตอบ: ได้ โดยการสมัครเป็นผู้ประกันตนโดยสมัครใจ (มาตรา 39)  ภายใน 6 เดือน นับจากวันที่เกษียณอายุ และต้องจ่ายเงินสมทบ 432 บาท/เดือนเพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ที่มีอยู่ต่อไป

หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการได้รับสิทธิ

1. เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา33 และสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง

2. จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน (นับเงินสมทบทุกครั้งของการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา33 ในระบบประกันสังคมรวมกันจะทำงานกับนายจ้างกี่บริษัทก็ตาม)

3. ยื่นแบบคำขอเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา39 ภายใน 6 เดือนนับแต่วันที่สิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง

สิทธิที่จะได้รับ

จะได้รับการคุ้มครอง 6 กรณี

1. กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย

2. กรณีคลอดบุตร

3. กรณีทุพพลภาพ

4. กรณีเสียชีวิต

5. กรณีสงเคราะห์บุตร

6. กรณีชราภาพ

สำนักงานประกันสังคม

 

เอกสารการสมัคร

1.แบบขอเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 (สปส.1-20)

2.บัตรประชาชนตัวจริงหรือบัตรอื่นที่มีรูปถ่าย ซึ่งทางราชการออกให้

3.กรณีต้องการนำส่งเงินสมทบหักผ่านบัญชีธนาคารให้ถ่ายสำเนาสมุดบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์หน้าแรกที่มีชื่อและเลขที่บัญชี ของผู้ประกันตน

การยื่นใบสมัคร

1.ต้องยื่นใบสมัครตามแบบคำขอเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39

(แบบ สปส. 1-20) ด้วยตนเอง ภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่ลาออกจากงาน

2.สถานที่ยื่นใบสมัคร ยื่นได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ / จังหวัด / สาขา (ยกเว้นสำนักงานใหญ่บริเวณกระทรวงสาธารณสุข)

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันสังคมได้ที่ www.sso.go.th หรือโทรสายด่วน 1506 ให้บริการทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง.

ที่มา: สำนักงานประกันสังคม