โค้งสุดท้ายศึกชิง "ประธานส.อ.ท." เช็คคะแนน "เกรียงไกร-สมโภชน์" ใครเข้าวิน

18 มี.ค. 2567 | 07:14 น.

โค้งสุดท้ายศึกชิง "ประธานส.อ.ท." เช็คคะแนน "เกรียงไกร-สมโภชน์" ใครเข้าวิน ฐานเศรษฐกิจรวบรวมข้อมูลทั้งหมดไว้ให้แล้ว แหล่งข่าวชี้ต่างฝ่ายต่างมีฐานคะแนนเสียงสนับสนุน ด้านสุพันธุ์ยันไม่มีธรรมเนียมนั่ง 2 วาระ

ศึกชิงตำแหน่งประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ประธานส.อ.ท.) ใกล้จะถึงกำหนดวันชิงดำเข้ามาทุกที โดยตามกำหนดจะมีการเลือกตั้งประธานส.อ.ท.คนใหม่ในวันที่ 25 มี.ค.2567 

สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้เนื่องในวาระที่นายเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธาน ส.อ.ท. คนปัจจุบันกำลังจะหมดวาระสมัยที่ 1 ซึ่งในภาวะปกติจะมีธรรมเนียมให้ประธาน ส.อ.ท.ดำรงตำแหน่ง 2 วาระ รวม 4 ปี ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้นายเกรียงไกร ยังคงเสนอตัวเป็นประธาน ส.อ.ท.อีก 1 สมัย 

อย่างไรกดีมีสมาชิกส.อ.ท. บางส่วนได้เสนอชื่อนายสมโภชน์ อาหุนัย รองประธาน ส.อ.ท.และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรืออีเอ (EA) เป็นแคนดิเดตประธาน ส.อ.ท. อีก 1 ราย 

ขณะที่นายสมโภชน์เองก้ได้ประกาศเปิดตัวเป็นผู้สมัครส.อ.ท. อย่างเป็นทางการ พร้อมแสดงวิสัยทัศน์ไปเป็นที่เรียบร้อยเมื่อวันที่ 29 ก.พ. 67

โค้งสุดท้ายศึกชิง "ประธานส.อ.ท." เช็คคะแนน "เกรียงไกร-สมโภชน์" ใครเข้าวิน

ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" ตรวจสอบคะแนนเสียงของแคนดิเดตชิงตำแหน่งประธานส.อ.ท. ทั้ง 2 คนล่าสุด 

แหล่งข่าวจาก ส.อ.ท. ระบุว่า สมาชิกส.อ.ท. ส่วนใหญ่ยังคงให้ความไว้วางใจนายเกรียงไกร และต้องการให้ดำรงประธานส.อ.ท. อีก 1 วาระ เนื่องจากมองเห็นผลงานการทำงานที่ผ่านมาอย่างเป็นรูปธรรม

"นายเกรียงไกรมีผลงานเป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ทำให้สมาชิกส่วนใหญ่ยังคงสนับสนุนให้ทำงานต่ออีก 1 วาระ เพื่อสานต่อนโยบายที่วางเอาไว้"
 

อย่างไรก็ดี ยอมรับว่าสมาชิกส่วนหนึ่งก็มีความต้องการให้นายสมโภชน์ได้เป็นประธานส.อ.ท.คนใหม่ เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง และมองว่าวิสัยทัศน์ รวมถึงนโยบายของนายสมโภชน์ที่นำเสนอเป็นเรื่องน่าสนใจ

โค้งสุดท้ายศึกชิง "ประธานส.อ.ท." เช็คคะแนน "เกรียงไกร-สมโภชน์" ใครเข้าวิน

"ใครจะได้เป็นประธานส.อ.ท.คงต้องวัดพลังกันในช่วงสุดท้ายของการเดินสายหาเสียงกับสมาชิก โดยเชื่อว่าทั้ง 2 ท่านต่างก็มีกลยุทธ์เด็ดในการเรียกคะแนนเสียงให้กับตนเอง"

แหล่งข่าวจากส.อ.ท.อีกคน ระบุว่า ขณะนี้เสียงตอบรับจากสมาชิกที่มีต่อนายสมโภชน์ ถือว่าค่อนข้างดี เนื่องจากมองว่าเป็นผู้ที่มีความสามารถในการทำงาน รวมถึงมีวิสัยทัศน์ และนโยบายที่ดีในการจับเคลื่อน ส.อ.ท. ในระต่อไป 

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี อดีตประธาน ส.อ.ท. ให้สัมภาษณ์กับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า กรณีที่ผ่านมาสมาชิก ส.อ.ท.มักสนับสนุนให้ประธานสภาอุตสาหกรรมฯนั่ง 2 วาระ รวม 4 ปีว่า การที่บอกว่าเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ เป็นประธานแล้วต้องอยู่ต่อ 2 สมัยนี่ก็ไม่ใช่ ต้องมีการแข่งขันกัน เพราะสมัยตนก็อยู่สมัยเดียว (วาระปี 2557-2559) นายเจน นำชัยศิริ (อดีตประธาน ส.อ.ท.) ก็อยู่สมัยเดียว ก่อนที่ตนจะมาเป็นต่ออีก 2 สมัยในเวลาต่อมา (วาระปี2561-2563 และวาระปี 2563-2565) จากไม่มีคู่แข่งขัน

 “ขอชี้แจงเพื่อความเข้าใจ สมัยผมชนะการเลือกตั้งเป็นประธาน ส.อ.ท. สมัยแรก (ปี 2557-2559) ไม่มีความขัดแย้ง ผมชนะการเลือกตั้งจากคุณวิศิษฎ์ ลิ้มประนะ (อดีตรองประธานส.อ.ท.ที่สมัครลงแข่งขัน) หลังผมชนะแล้วก็พยายามรวบรวมทุกคนที่ทำงานได้ดีให้กับ ส.อ.ท.ทั้งฝั่งตรงข้ามที่ไม่เลือกผมกลับมาทำงาน เพราะฉะนั้นสภาอุตสาหกรรมฯก็เรียบร้อยมาตลอด”

ส่วนที่มีปัญหากันคือสมัยนายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล (อดีต ประธาน ส.อ.ท.วาระปี 2553-2555 และวาระปี 2555-2557) กับนายสันติ วิลาสศักดานนท์ (อดีตประธานส.อ.ท.ปี 2549-2553) ซึ่งปัญหาไม่ได้เกิดจากการแข่งขันเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานส.อ.ท. แต่มีปัญหาเกิดในช่วงของการดำรงตำแหน่งประธาน ส.อ.ท.ในวาระที่ 2 ของนายพยุงศักดิ์(ที่ทำงานไปแล้ว 1 ปี) จากมีปรับขึ้นค่าแรงขั้นตํ่าในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็น 300 บาททั่วประเทศ (ในปี 2555) ซึ่งสมาชิกก็มีความรู้สึกว่านายพยุงศักดิ์ไม่ได้ช่วยเหลือในการเจรจาต่อรองกับรัฐบาลเท่าที่ควร

“คุณสันติกับคนที่เห็นด้วยได้มาประท้วงและประชุมเพื่อจะปลดคุณพยุงศักดิ์ออกจากตำแหน่ง เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น ไม่ได้เกิดจากการเลือกตั้งแต่อย่างใด เพราะคุณพยุงศักดิ์ผ่านการเลือกตั้งมาด้วยความเรียบร้อย และก็ยังดำรงตำแหน่งครบ 2 วาระ และสมัยผมก็ได้รับการเลือกตั้งมาด้วยความเรียบร้อย อยากชี้แจงให้ทุกคนเข้าใจ ไม่ใช่ว่าเลือกตั้งทีไรสภาอุตสาหกรรมทะเลาะกันทุกที ผมไม่อยากให้เป็นอย่างนั้น ซึ่งเรื่องนี้อยู่ที่ผู้นำที่ชนะการเลือกตั้ง ต้องทำให้เกิดความสมัครสมานสามัคคีกันซึ่งผมก็ทำมาแล้ว”