สศช.แนะ 4 ข้อรับมือวิกฤตคุณภาพ “การศึกษาไทย” ก่อนสาย

05 มี.ค. 2567 | 00:03 น.

สศช. เสนอแนะแนวทางการรับมือปัญหาคุณภาพ “การศึกษาไทย” แก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง หวั่นเด็กไทยหลุดโฟกัส หลังเปิดข้อมูลสำคัญพบสถานการณ์การศึกษาของไทยเริ่มส่งสัญญาณวิกฤต คะแนน PISA ร่วงหนัก

ปัญหาน่าห่วงสำหรับ คุณภาพการศึกษาไทย ภายหลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุข้อมูลสำคัญผ่านบทความพิเศษ “พลิกมุม PISA ปัจจัยที่กระทบต่อคุณภาพการศึกษาและคุณภาพชีวิตของเด็กไทย" โดยพบว่า ปัจจุบันสถานการณ์การศึกษาของไทยเริ่มส่งสัญญาณเข้าขั้นวิกฤต เพราะเป็นปัญหาสะสมมานาน โดยเฉพาะโครงสร้างที่ยังไม่มีการแก้ไขอย่างเอาจริงเอาจัง 

พร้อมทั้งยกผลคะแนนสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (Programme for International Student Assessment :  PISA) ปี 2565 เป็นการประเมินสมรรถนะนักเรียนตามมาตรฐานสากล 3 ด้าน คือ การอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ใน 81 ประเทศหรือเขตเศรษฐกิจทั่วโลก โดยประเทศไทยได้คะแนนลดลงต่อเนื่อง ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) โดยมีเป็นคะแนนที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่การเข้าร่วมการประเมินในปี 2543 

นั่นเพราะปี 2565 เด็กไทยมีคะแนนเฉลี่ยด้านคณิตศาสตร์ 394 คะแนน ด้านวิทยาศาสตร์ 409 คะแนน และด้านการอ่าน 379 คะแนน ขณะที่กลุ่มประเทศสมาชิก OECD มีคะแนนเฉลี่ยด้านคณิตศาสตร์ 472 คะแนน ด้านวิทยาศาสตร์ 485 คะแนน และด้านการอ่าน 476 คะแนนเท่านั้น จนทำให้เพื่อนบ้านหลายประเทศแซงไปเป็นที่เรียบร้อย 

 

ภาพประกอบข่าว คุณภาพการศึกษาไทย สศช. ภาวะสังคมไทย ปี 2566

ทั้งนี้ สศช. ได้มีข้อเสนอแนะ หลังจากเห็นสถานการณ์ชัดเจนแล้วว่า เด็กไทยต้องเผชิญปัญหาในหลาย ๆ ด้านที่กระทบต่อคุณภาพการศึกษา พฤติกรรม รวมไปถึงการเติบโตอย่างมีคุณภาพของเด็ก ซึ่งนอกจากจะปฏิรูประบบการศึกษา และพัฒนาบุคลากรและระบบการเรียนการสอนต่าง ๆ แล้ว 

โดยผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายทั้งครอบครัว ชุมชน โรงเรียน ท้องถิ่น และรัฐ จำเป็นต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างที่จะลดความเหลื่อมล้ำในการจัดบริการการศึกษา รวมทั้งสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้และพัฒนาพฤติกรรมเพื่อให้เด็กเติบโตอย่างมีศักยภาพ ดังนี้

1.สถานศึกษาต้องได้รับการจัดสรรทรัพยากรทางการศึกษาที่เสมอภาค 

โดยหลักเกณฑ์ในการจัดสรรงบประมาณและบุคลากร ควรพิจารณาจากความต้องการและบริบทของสถานศึกษาร่วมด้วย นอกเหนือจากการพิจารณาตามขนาดโรงเรียน เพื่อให้โรงเรียนขนาดเล็กสามารถพัฒนาระบบการศึกษาให้มีคุณภาพทัดเทียมกับโรงเรียนขนาดใหญ่และช่วยให้คุณภาพทางการศึกษาได้รับการพัฒนาอย่างทั่วถึงและรอบด้าน

อีกทั้งควรสนับสนุนให้สถานศึกษามีการดำเนินการหลักสูตรฐานสมรรถนะได้อย่างเต็มศักยภาพและมีความยืดหยุ่นในการจัดทำหลักสูตร โดยเฉพาะในโรงเรียนขนาดเล็กและโรงเรียนขยายโอกาส เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนสามารถเลือกหลักสูตรที่เหมาะสมกับศักยภาพของตนได้

2. ภาครัฐต้องส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ 

โดยต้องส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ สอดคล้องกับผู้เรียน และมีกลไกรองรับเมื่อหลุดออกนอกระบบ ไม่เพียงเฉพาะกลุ่มเด็กที่มาจากครัวเรือนรายได้น้อยหรือเด็กกลุ่มช้างเผือก โดยใช้กลไกการเพิ่มโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่มีอยู่เดิมให้ดีขึ้น เช่น มีทุนการศึกษาให้เด็กยากจน ขยายบทบาทของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) 

ทั้งนี้ ควรสนับสนุนให้สถานศึกษามีการดำเนินการหลักสูตรฐานสมรรถนะได้อย่างเต็มศักยภาพและมีความยืดหยุ่นในการจัดทำหลักสูตร โดยเฉพาะในโรงเรียนขนาดเล็กและโรงเรียนขยายโอกาส เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนสามารถเลือกหลักสูตรที่เหมาะสมกับศักยภาพของตนได้

รวมทั้งต้องมีกลไกในการค้นหาและนำเด็กที่หลุดออกนอกระบบการศึกษาให้กลับเข้าสู่ระบบ ควบคู่กับการจัดทำฐานข้อมูลเด็กนอกระบบให้เชื่อมโยงเป็นระบบเดียว โดยอาจอาศัยกลไกระดับพื้นที่ เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชนภาคประชาสังคม เข้ามามีส่วนร่วมในการติดตามดูแลเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา ซึ่งอาจช่วยให้การแก้ไขปัญหาเด็กนักเรียนหลุดออกนอกระบบมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

3. ปรับสภาพแวดล้อมการเรียนให้เอื้อต่อการเรียนรู้เป็นพื้นที่ปลอดภัย 

โดยสภาพแวดล้อมที่ดีต้องปลอดภัยทั้งทางร่างกายและจิตใจ ในการมีพื้นที่ที่สามารถรับฟังความคิดเห็น ส่งเสริมบทบาทและการมีส่วนร่วมรวมทั้งสร้างบรรยากาศให้เด็กรู้สึกไว้วางใจและสนับสนุนการมีความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งอาจต้องมีการอบรมบุคลากรทางการศึกษาในการสร้างสิ่งแวดล้อมดังกล่าว 

รวมถึงต้องมีการหารือระหว่างบุคลากรทางการศึกษาและนักเรียนในการกำหนดข้อตกลงในการอยู่ร่วมกัน เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดี เช่น รูปแบบการเรียน แนวทางปฏิบัติเมื่อเกิดการกลั่นแกล้ง และอาจต้องมีเครื่องมือประเมินและปรับปรุงกระบวนการทำงานร่วมกันระหว่างครูและนักเรียนด้วย

4. การสนับสนุนครอบครัวมีบทบาทดูแลเด็กร่วมกับสถานศึกษา 

โดยเปิดพื้นที่การสื่อสารระหว่างผู้ปกครอง เด็ก ครู ให้สื่อสารพูดคุยเรื่องเรียน ความต้องการ พฤติกรรม ศักยภาพ และการสนับสนุนที่เหมาะสม โดยโรงเรียน/ครู ควรมีข้อมูลของนักเรียนที่เพียงพอต่อการติดตามดูแลช่วยเหลือนักเรียนเป็นรายคนตามลักษณะปัญหา รวมถึงมีการสังเกตสัญญาณความผิดปกติ เน้นความใส่ใจ รับฟัง ทำความเข้าใจ และไม่ปล่อยให้เด็กเผชิญปัญหาเพียงลำพัง