สศช.ติงจัดงบสภาผู้บริโภค 360 ล้าน ห้ามใช้เบี้ยหัวแตก จัดประชุมสัมมนา

28 ก.พ. 2567 | 06:35 น.

สศช. เสนอแนะ ครม. หลังจัดเงินอุดหนุน สภาองค์กรของผู้บริโภค 360 ล้าน ติงห้ามใช้เบี้ยหัวแตกจัดประชุมสัมมนา จ่ายค่าอาหาร ที่พัก เดินทาง เพิ่มตัวชี้วัดให้คนเห็นประโยชน์มากขึ้น

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อไม่นานมานี้ มีมติน่าสนใจเรื่องที่เสนอเข้ามาโดยสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อขอรับการจัดสรรเงินอุดหนุนเป็นรายปีเป็นการจ่ายขาดให้กับ สภาองค์กรของผู้บริโภค ภายใต้งบประมาณรายจ่ายปรพจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 360 ล้านบาทเศษ โดยที่ประชุมครม.ได้มอบหมาให้รับข้อเสนอแนะของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ไปพิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับการใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์ 

สำหรับข้อเสนอของสศช. ซึ่งรายงานความเห็นประกอบการพิจารณาของครม.ครั้งนี้ มีสาระสำคัญระบุว่า สศช.พิจารณาแล้ว เห็นควรให้ความเห็นชอบในหลักการการจัดสรรเงินอุดหนุนเป็นรายปีเป็นการจ่ายขาดให้แก่สภาองค์กรของผู้บริโภค เพื่อให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีนำไปจัดทำคำของบประมาณ

เพื่อจัดสรรเงินอุดหนุนเป็นรายปีเป็นการจ่ายขาดให้แก่ สภาองค์กรของผู้บริโภค ในคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 เพื่อนำไปใช้ในการดำเนินงานให้ความคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค 

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการใช้จ่ายงบประมาณ สศช.มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ดังนี้

1. ควรพิจารณากำหนดและเพิ่มตัวชี้วัดที่สามารถสะท้อนผลลัพธ์ไปยังประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น อาทิ หน่วยงานประจำจังหวัดสามารถแก้ไขปัญหาให้ผู้บริโภคจนได้ข้อยุติเพิ่มขึ้น นอกเหนือจากการกำหนดเพียงจำนวนสมาชิกและหน่วยงานประจำจังหวัด 

รวมถึงปรับตัวชี้วัดบางตัวให้มีความท้าทายยิ่งขึ้น เช่น การเสนอแนะนโยบายหรือมาตรการที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ต่อคณะรัฐมนตรีหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่กำหนดค่าเป้าหมายไม่น้อยกว่า 10 เรื่อง ขณะที่ปี 2566 มีข้อเสนอแนะแล้ว 25 เรื่อง
 

2. ควรพิจารณาความจำเป็นและความเหมาะสมของรูปแบบกิจกรรมในแผนงานพัฒนานโยบายเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค โดยเฉพาะการจัดกิจกรรมในลักษณะการประชุมสัมมนาหรือการประชุม หารือระยะสั้นเพียง 1-2 ครั้ง ในแผนงาน โดยทิ้งบส่วนใหญ่เป็นค่าอาหาร ค่าที่พัก และค่าเดินทาง ซึ่งอาจไม่สามารถนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายในการสร้างความร่วมมือด้านนโยบายที่กำหนดไว้ 

3.เนื่องด้วยงบประมาณกว่า 40% เป็นการสนับสนุนการดำเนินงานในแผนงานสนับสนุนสมาชิก หน่วยงานประจำจังหวัด หน่วยงานเขตในพื้นที่ โดยเป็นการเพิ่มจำนวนสมาชิกและหน่วยงานในพื้นที่ 

ดังนั้น ควรพิจารณาประสานใช้กลไกการดำเนินงานของหน่วยงานอื่นที่มีอยู่แล้วในพื้นที่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด อาทิ เครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่มีเครือข่ายหลัก กระจายอยู่ทั่วประเทศกว่า 500 เครือข่าย 

ทั้งนี้ หากจำเป็นต้องมีการจัดตั้งหน่วยงานประจำจังหวัดเพิ่ม สภาองค์กรของผู้บริโภคควรต้องคำนึงถึงความซ้ำซ้อนกับกลไกอื่นที่มีการดำเนินงานในลักษณะเดียวกันในพื้นที่ด้วย หรืออาจพิจารณาจัดตั้งในลักษณะของเขตพื้นที่ที่เป็นการรวมกลุ่มจังหวัดใกล้เคียง เพื่อให้การใช้งบประมาณเกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภคมากที่สุด