ก้าวใหม่ประเทศไทย ในมุมมองเอกชน-นักวิชาการ

21 ก.พ. 2567 | 06:46 น.

บิ๊กเอกชน-นักวิชาการ มองก้าวใหม่ประเทศไทย จี้รัฐเร่งขับเคลื่อนโครงสร้างเศรษฐกิจ ลุยอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ ปรับเปลี่ยนเทคโนโลยี ดันดิจิทัล กรีนอีโคโนมี เติบโตยั่งยืน หวังปลุกจีดีพี ขยายตัวไม่ต่ำกว่า 5% ต่อปี พ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลางสู่ประเทศพัฒนาแล้วใน 10 ปี

10 ปีย้อนหลังเศรษฐกิจหรือจีดีพีไทยขยายตัวต่ำอย่างน่าใจหาย เฉลี่ยไม่เกิน 3% ต่อปี ตัวเลขปี 2566 ล่าสุด สภาพัฒน์เผยจีดีพีไทยขยายตัวเพียง 1.9% ต่ำกว่าที่ทุกสำนักพยากรณ์คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้  และยังขาดโมเมนตัมในการขับเคลื่อนปี 2567 ส่วนหนึ่งจากงบประมาณรายจ่ายปี 2567 ของรัฐบาลยังออกมาล่าช้า สวนทางกับหนี้ครัวเรือนไทย ณ สิ้นปี 2566 อยู่ที่ 16.4-16.5 ล้านบาทหรือมีสัดส่วนสูงกว่า 90% ต่อจีดีพี ฉุดรั้งกำลังซื้อ ขณะที่โครงสร้างการผลิตและการส่งออกสินค้าไทยซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศ 10 ปีที่ผ่านมายังไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมนัก

ดังนั้นจึงถือเป็นวาระเร่งด่วนที่ทุกภาคส่วนองค์ประกอบของเศรษฐกิจไทยจะต้องเร่งยกเครื่องสู่ยุคใหม่(THAILAND NEW ERA) เพื่อเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ให้กลับมาเจิดจรัสเป็นดาวเด่นในภูมิภาคอีกครั้ง ซึ่งผู้นำภาคธุรกิจ นักวิชาการ และนักเศรษฐศาสตร์มีคำแนะนำ และพร้อมร่วมขับเคลื่อนไปกับภาครัฐ

ก้าวใหม่ประเทศไทย ในมุมมองเอกชน-นักวิชาการ

เน็กซ์เจนอินดัสตรีความหวังใหม่

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สถานการณ์ภาคการผลิตของไทยทุกวันนี้เปลี่ยนไปแล้ว ทั้งเรื่องแรงงานราคาถูก และมีแรงงานจำนวนมากไม่มีแล้ว ค่าแรงแพงขึ้นและต้องนำเข้าแรงงานจากต่างประเทศ ต้นทุนด้านต่างๆ สูงขึ้น ภาคการผลิตของไทยจำเป็นต้องเร่งปรับตัวเพื่ออยู่รอด และเข้าสู่หมวด Next-Gen Industry ที่สำคัญคือ อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-Curve) เช่น ยานยนต์สมัยใหม่ เกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม แพทย์ครบวงจร อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ที่ใช้เทคโนโลยี ใช้ระบบดิจิทัล มีนวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้ามากขึ้น

รวมถึงการใช้พลังงานสะอาดที่เป็นทิศทางของโลกเพื่อลดการถูกกีดกันการค้ามากขึ้น การผลักดันอุตสาหกรรม BCG (Bio-Circular-Green) ลดปล่อยก๊าซคาร์บอน ที่เป็นเทรนด์ของโลก ซึ่งภาพเหล่านี้ภาคเอกชนและภาครัฐ เช่น บีโอไอได้เห็นตรงกัน โจทย์ท้าทายคือทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมกันขับเคลื่อนและสร้างอีโคซิสเต็มรองรับอย่างไร เพื่อให้บังเกิดผลที่เป็นรูปธรรมในการสร้างมูลค่าเศรษฐกิจใหม่ให้กับประเทศในห้วงเวลานับจากนี้ไป

 “จีดีพีไทย 10 ปีที่ผ่านมาเฉลี่ยโตไม่เกิน 2% ทำให้เห็นภาพชัดว่า ถ้าเราไม่ทำอะไรเราจะโตแบบเตี้ยเรี่ยดิน เทียบกับเพื่อนบ้านเขาโตกันปีละ 4-6% ทำให้เรากลายเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตของจีดีพีอยู่ท้ายๆ ของภูมิภาคอาเซียน ดังนั้นเราต้องมาคุยกันอย่างซีเรียสในเรื่องการปรับโครงสร้างเพื่อมุ่งสู่อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ข้างต้น”
 

 

ดัน SME ฟันเฟืองขับเคลื่อน ศก.

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่ไทยต้องเร่งดำเนินการคือ การเพิ่มขีดความสามารถของประเทศ ในด้านการผลักดันธุรกิจรายย่อย หรือ SME ให้สามารถส่งออกและใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) เพื่อเพิ่มมูลค่าการส่งออกของประเทศไทยให้มากขึ้น เนื่องจากการส่งออกถือเป็นแกนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตต่อเนื่อง

 “FTA เป็นความตกลงระหว่าง 2 ประเทศขึ้นไป หรือเป็นการรวมกลุ่มเศรษฐกิจ วัตถุประสงค์เพื่อจะลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างกันให้เหลือน้อยที่สุด หรือลดภาษีศุลกากรระหว่างกันให้เหลือเป็น 0% ปัจจุบันประเทศไทยมีการจัดทำ FTA ระดับทวิภาคีและในนามกลุ่มอาเซียนแล้วกับหลายประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เปรู ล่าสุดได้มีการลงนามความตกลงแล้วกับศรีลังกา และอยู่ระหว่างการเจรจากับสหภาพยุโรป(อียู) ซึ่งอยากให้ภาครัฐขยายการเจรจาเอฟทีเอกับอีกหลายประเทศ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันส่งออกสินค้าไทย และดึงดูดการลงทุน”

ก้าวใหม่ประเทศไทย ในมุมมองเอกชน-นักวิชาการ

ส่งออกยุคใหม่ใช้พลังงานสะอาด

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวยอมรับว่า โครงสร้างสินค้าส่งออกของไทยในช่วงที่ผ่านมา สินค้าส่งออกหลักยังอยู่ในกลุ่มสินค้าเดิมๆ การจะปรับเปลี่ยนโครงสร้างสินค้าส่งออก เพื่อตอบรับตลาดโลกยุคใหม่ ผู้ประกอบการและภาครัฐต้องเร่งดำเนินการใน 4 เรื่องสำคัญคือ 1.การปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีและนำระบบออโตเมชั่นมาใช้ให้มากขึ้นลดการใช้แรงงานคนที่ขาดแคลน 2.รัฐบาลต้องปฏิรูปการศึกษาอย่างจริงจัง เพื่อให้สอดรับและตอบโจทย์ตลาดแรงงานหากจะมุ่งสู่ New S-Curve 3.การสนับสนุนการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร และ 4.การสนับสนุนให้บริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกที่จะเข้ามาลงทุนในไทย เช่น บริษัทด้านอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์สมัยใหม่ เช่น รถอีวี ลงทุนตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนา (R&D) และขอให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี และทักษะฝีมือให้กับแรงงานไทย

 “การส่งออกยุคใหม่ที่มีการแข่งขันรุนแรง สินค้าไทยต้องมีนวัตกรรมของสินค้า เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม มีการสร้างแบรนด์ตัวเองมากขึ้น ร่วมมือกับลูกค้าในการพัฒนาสินค้า โดยใส่ความคิดสร้างสรรค์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าส่งออกไทย การส่งเสริมตราสินค้าเมด อิน ไทยแลนด์เพื่อสร้างซอฟต์พาวเวอร์ การส่งเสริมกลุ่มสตาร์ทอัพหรือนิวเทคด้านเงินทุน และสร้างโครงสร้างพื้นฐานเช่น พลังงานสะอาดรองรับ เพราะประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมจะถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นทางการค้ามากขึ้น”

ก้าวใหม่ประเทศไทย ในมุมมองเอกชน-นักวิชาการ

เส้นทางไทยสู่ประเทศพัฒนาแล้ว

รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระและผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กล่าวว่า ช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยพึ่งพาการส่งออกเป็นหลักสัดส่วน 60% ของจีดีพี ขณะเดียวกันช่วง 10 ปีที่ผ่านมาไทยพึ่งพิงการนำเข้ามากขึ้น ทำให้สัดส่วนการส่งออกและนำเข้าต่อจีดีพีใกล้เคียงกันมาก เสมือนว่าได้เงินมาก็จ่ายเงินออกเช่นกัน ขณะที่เศรษฐกิจในประเทศพึ่งพิงการบริโภคเป็นหลัก และรายได้มาจากภาคบริการที่มาจากค้าส่งค้าปลีกและการท่องเที่ยวมากขึ้น ขณะที่การลงทุนที่เป็นอีกภาคส่วนสำคัญของเศรษฐกิจมีสัดส่วนต่อจีดีพีลดลง

ดังนั้น การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจสู่ยุคใหม่ เพื่อให้จีดีพีกลับมาขยายตัวได้ที่ระดับ 5% ต่อปีเหมือนในอดีตโดยไม่ต้องพึ่งพานโยบายประชานิยมมากนัก จำเป็นต้องดำเนินการได้แก่ 1.การพัฒนาศักยภาพและทักษะแรงงานในอุตสาหกรรมสมัยใหม่ 2.การแก้ปัญหาเดิมของภาคการผลิต ที่มีต้นทุนสูง ประสิทธิภาพการผลิตต่ำ 3.มุ่งพัฒนาและปรับห่วงโซ่อุตสาหกรรม ให้สอดคล้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เน้นนวัตกรรมและเทคโนโลยี และสร้างมูลค่าเพิ่มจากฐานการผลิตจากสินค้าเกษตรกรรม

4.ใส่เงินวิจัยในทุกมิติเพื่อพัฒนาภาคเกษตร เพราะไทยมีจุดแข็งคือ มีผลผลิตทางการเกษตรมาก เพื่อยกระดับให้เป็นเกษตรอุตสาหกรรมสมัยใหม่ เช่น อาหารสุขภาพ อาหารแห่งอนาคต อาหารเป็นยา อาหารที่รักษ์สิ่งแวดล้อม สินค้าเกษตรคาร์บอนต่ำ

 ทั้งนี้ หากภาคการผลิต ภาคการส่งออก ภาคการท่องเที่ยว และมาตรการส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องบรรลุผล มองว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยกลับมาขยายตัวได้ในระดับ 5% ต่อปีขึ้นไป ภายในเวลาไม่เกิน 5 ปี และไทยจะสามารถก้าวผ่านกับดักประเทศรายได้ปานกลางสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วได้ภายใน 10 ปี