ชงครม.ไฟเขียวสร้าง “สะพานข้ามทะเลสาบสงขลา-เกาะลันตา” 6.6 พันล้าน

14 ก.พ. 2567 | 07:12 น.

“คมนาคม” เดินหน้าชงครม.เคาะแผนสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา-เกาะลันตา วงเงินรวม 6.6 พันล้านบาท หลังบอร์ดธนาคารโลกไฟเขียวแหล่งเงินกู้ ฟากทช.เล็งเปิดประมูลนานาชาติ เริ่ม มิ.ย.นี้

KEY

POINTS

  • “คมนาคม” เดินหน้าชงครม.เคาะแผนสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา-เกาะลันตา วงเงินรวม 6.6 พันล้านบาท
  • บอร์ดธนาคารโลกไฟเขียวแหล่งเงินกู้
  • ทช.เล็งเปิดประมูลนานาชาติ เริ่ม มิ.ย.นี้

ปัจจุบันกระทรวงคมนาคมพยายามเร่งรัดให้ทช.ดำเนินการก่อสร้าง 2 โปรเจ็กต์สะพานข้ามทะเลสาบสงขลา-เกาะลันตา  เพื่อดันเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่จะช่วยแก้ปัญหารถติด รวมทั้งเชื่อมต่อการเดินทางได้สะดวกมากขึ้นในอนาคต

 

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา -อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง ระยะทาง 7 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 4,841 ล้านบาท และโครงการก่อสร้างสะพานข้ามเกาะลันตา ตำบลเกาะกลาง-ตำบลเกาะลันตาน้อย อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ระยะทาง 2.2 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 1,800 ล้านบาท เบื้องต้นกระทรวงฯได้ร่วมหารือกับธนาคารโลก (World Bank) โดยคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) ธนาคารโลก เห็นชอบการขอแหล่งเงินกู้ให้กับทั้ง 2 โครงการดังกล่าว  

 

ทั้งนี้ธนาคารโลกได้พิจารณาให้เงินกู้ค่าก่อสร้างสะพานทั้ง 2 แห่ง ประกอบด้วย งานส่วนที่ 1 กิจกรรมก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลาและสะพานเชื่อมเกาะลันตา ปัจจุบันเตรียมการเรียบร้อยแล้ว และงานส่วนที่ 2 กิจกรรมสนับสนุนการอนุรักษ์โลมาอิรวดี ในบริเวณทะเลสาบสงขลา ซึ่งจะต้องเสนอ ครม. เห็นชอบขอเพิ่มวงเงินกู้สำหรับแผนอนุรักษ์โลมาอิรวดี ระยะ 5 ปี วงเงิน 402 ล้านบาท ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณา เนื่องจากเป็นเงื่อนไขในการกู้เงินของธนาคารโลก
 

“ขอให้พิจารณามอบหมายหน่วยงานที่จะเป็นผู้เสนอ ครม. เพื่อปรับกรอบวงเงินกู้เพิ่มเติม ตามแผนอนุรักษ์ฯ ระหว่างทช. หรือ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งกระทรวงการคลังจะเป็นหน่วยงานกู้เงิน โดยทช.จะเป็นผู้ใช้เงินกู้ในงานส่วนที่ 1 วงเงินรวม 4,550 ล้านบาท และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จะเป็นผู้ใช้เงินกู้ในส่วนที่ 2 วงเงินรวม 402 ล้านบาท”

 

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวต่อว่า หลังจากนั้นกระทรวงคมนาคมจะเสนอเรื่องดังกล่าวต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณา โดยจะเสนอทั้ง 2 โครงการต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบและอนุมัติลงนามสัญญาเงินกู้ภายในเดือนมีนาคม 2567 คาดว่ากระทรวงการคลังจะดำเนินการเซ็นสัญญาเงินกู้ภายในเดือนพฤษภาคม 2567

 

ขณะเดียวกันตามแผนทั้ง 2 โครงการ เบื้องต้น ทช. จะประกาศจัดซื้อจัดจ้างแบบนานาชาติ (International Bidding) ภายในเดือนมิถุนายน 2567 หลังจากนั้น ทช. ร่วมกับธนาคารโลกพิจารณาผลการจัดซื้อจัดจ้างแบบนานาชาติภายในเดือนกรกฎาคม 2567-กุมภาพันธ์ 2568 และเสนอต่อสำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาเห็นชอบสัญญาก่อสร้างแบบ FIDIC ภายในเดือนมีนาคม 2568 คาดว่าจะลงนามสัญญาภายในเดือนพฤษภาคม 2568 และเริ่มดำเนินงานก่อสร้างภายในเดือนมิถุนายน 2568 -มิถุนายน 2571 พร้อมเปิดให้บริการภายในเดือนกรกฎาคม 2571 
 

สำหรับโครงการสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา -อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง มีรูปแบบการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลาพร้อมถนนเชื่อมต่อกับถนนโดยรอบทะเลสาบสงขลา ขนาด 2 ช่องจราจร ซึ่งมีจุดเริ่มต้นแนวสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา โดยมีจุดเริ่มต้นจากแยกถนนทางหลวงชนบท พท.4004 ประมาณ กม.3+300 บริเวณหมู่ 1 บ้านแหลมจองถนน ตำบลจองถนน อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง โดยแนวเส้นทางโครงการไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือข้ามทะเลสาบสงขลา มีจุดสิ้นสุดโครงการที่หมู่ 2 บ้านแหลมยาง ถนนองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ตำบลเกาะใหญ่ อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา

ชงครม.ไฟเขียวสร้าง “สะพานข้ามทะเลสาบสงขลา-เกาะลันตา” 6.6 พันล้าน

เมื่อโครงการสะพานข้ามทะเลสาบสงขลาแล้วเสร็จจะช่วยลดระยะทางในการเดินทางจาก 80 กม. เหลือ 7 กม. และลดระยะเวลาในการเดินทางจาก 2 ชั่วโมง เหลือเพียง 15 นาที สามารถพัฒนาการขนส่งโลจิสติกส์และเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงทะเลอันดามัน - อ่าวไทย อีกทั้งเชื่อมโยง 3 จังหวัด คือ ตรัง พัทลุง และสงขลา ช่วยบรรเทาปริมาณการจราจรของถนนทางหลวงแผ่นดิน แก้ปัญหาการจราจรติดขัด และสามารถยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในการเดินทาง ในกรณีเกิดภัยพิบัติจะสามารถอพยพประชาชนในพื้นที่ได้อย่างรวดเร็ว 

 

ขณะที่โครงการก่อสร้างสะพานข้ามเกาะลันตา ตำบลเกาะกลาง-ตำบลเกาะลันตาน้อย อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ มีรูปแบบการก่อสร้างสะพานเป็นรูปแบบสะพานคานขึง (Extradosed Bridge) และสะพานคานยื่น (Balanced Cantilever Bridge) ความยาวสะพาน 1,825 เมตร ขนาด 2 ช่องจราจร โดยมีจุดเริ่มต้นจากทางหลวงหมายเลข 4206 กม. ที่ 26 + 620 ตำบลเกาะกลาง ไปบรรจบกับทางหลวงชนบท กบ.5035 ต.เกาะลันตาน้อย อ.เกาะลันตา พร้อมถนนต่อเชื่อมทั้งสองฝั่งรวมระยะทาง 415 เมตร รวมระยะทางตลอดโครงการ 2,240 เมตร

 

อย่างไรก็ตามเมื่อโครงการก่อสร้างสะพานข้ามเกาะลันตา แล้วเสร็จจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่ง ลดระยะเวลาการเดินทาง รวมทั้งสนับสนุนและอำนวยความสะดวกด้านพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม การบริการ และการท่องเที่ยวระหว่างเกาะลันตาและแผ่นดินใหญ่ และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและการบริการโลจิสติกส์ในพื้นที่