ยกเครื่อง ศก.ไทย 10 ปีโตรั้งท้ายเพื่อนบ้าน ส่งออกรถใช้น้ำมันสิ้นมนต์ขลัง

09 ก.พ. 2567 | 09:19 น.

เอกชน-นักวิชาการจี้รัฐยกเครื่องเศรษฐกิจไทยครั้งใหญ่ หลัง 10 ปีโตแค่ปีละ 2-3% รั้งท้ายเพื่อนบ้าน ห่วงจีดีพี 18 ล้านล้านอนาคตเครื่องน็อก ภาคผลิต-ส่งออก-ท่องเที่ยว ยังโครงสร้างเดิม กระทุ้งเร่งอุตสาหกรรมใหม่ เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ ชี้อีก 5 ปีส่งออกรถสันดาปสูญตลาด 8 แสนล้าน

KEY

POINTS

  • โครงสร้างเศรษฐกิจไทยยังน่าห่วง หลัง 10 ปี  ภาคการผลิต ภาคการส่งออก ภาคการท่องเที่ยว และอื่น ๆ ส่วนใหญ่ยังไม่มีการปรับเปลี่ยนไปจากเดิมมากนัก กระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และความสามารถในการแข่งขัน
  • ข้อเท็จจริงโครงสร้างภาคการผลิต และการส่งออกสินค้าไทย ณ ปัจจุบันในการสร้างมูลค่าเพิ่มเศรษฐกิจใหม่ที่กำลังปรับเปลี่ยน แต่ยังเป็นไปค่อนข้างช้า
  • ความท้าทายเศรษฐกิจไทยท่ามกลางภัยคุกคามในยุคดิจิทัล ความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์ และโลกมุ่งสู่ความยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 

 

เป้าหมายรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน จะผลักดันเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวไม่ตํ่ากว่า 5% ต่อปี ในช่วง 4 ปีของรัฐบาล เริ่มต้นเครื่องยังแผ่ว สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) คาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) หรือเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ล่าสุด คาดจะขยายตัวได้เพียง 1.8% ขณะที่ตัวเลขย้อนหลัง 10 ปี จีดีพีไทยขยายตัวเฉลี่ย 2-3% เท่านั้น ซึ่งอยู่รั้งท้ายเพื่อนบ้านย่านอาเซียน

สอดรับกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ที่ออกมาชี้โครงสร้างของเศรษฐกิจไทยในหลายสาขา ยังมีปัญหาสะสมมานาน และเริ่มเห็นผลรุนแรงขึ้น เช่น ภาคการผลิตและส่งออก สินค้าไทยที่เคยส่งออกได้ดีเริ่มสูญเสียความสามารถในการแข่งขันต่อเนื่อง อาทิ ข้าว ผลผลิตต่อไร่ของไทยค่อนข้างตํ่าทรงตัวมานานกว่า 20 ปี ส่วนแบ่งตลาดข้าวไทยในตลาดโลกลดลงจาก 25% ในปี 2546 มาอยู่ที่ 13% ในปี 2565 และไทยเสียแชมป์ส่งออกข้าวเบอร์ 1 ของโลกให้กับอินเดียมาตั้งแต่ปี 2555

ขณะที่กระแสดิจิทัล ทั่วโลกต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อมุ่งสู่เศรษฐกิจดิจิทัล แต่ไทยยังส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ปลายนํ้าที่มีมูลค่าเพิ่มตํ่า ที่ไม่ค่อยเป็นที่ต้องการของตลาดแล้ว และยังไม่ได้ผลิตชิ้นส่วนเกี่ยวกับ AI จึงได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์น้อย เป็นต้น

ยกเครื่อง ศก.ไทย 10 ปีโตรั้งท้ายเพื่อนบ้าน ส่งออกรถใช้น้ำมันสิ้นมนต์ขลัง

  • ดันอุตฯไทยเร่งยกเครื่องใหม่

นายเกรียงไกร  เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปัจจุบันไทยหมดเสน่ห์ในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นแล้ว เพราะค่าแรงไม่ถูก และจำนวนแรงงานไทยไม่เพียงพอ ต้องนำเข้าจากเพื่อนบ้าน อย่างไรก็ดีไทยยังมีจุดเด่นด้านที่ตั้งประเทศที่อยู่ในจุดยุทธศาสตร์ และเป็นจุดเชื่อมโยงที่ดีของโลก ดังนั้นต้องเร่งปรับเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรมใหม่ เพื่อเป็นตัวขับเคลื่อนและสร้างมูลค่าเศรษฐกิจใหม่ให้ประเทศเติบโตอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ ที่ส.อ.ท.อยู่ระหว่างการเร่งผลักดันคือ อุตสาหกรรมแห่งอนาคต หรือ Next Gen-Industry เพื่อปรับเปลี่ยนให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง และความต้องการของตลาดโลก โดย หมวดที่ 1 คืออุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ 12 อุตสาหกรรม (เช่น ยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กรอนิกส์อัจฉริยะ เกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ แปรรูปอาหาร หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม การบินและโลจิสติกส์ ดิจิทัล แพทย์ครบวงจร เป็นต้น) หมวดที่ 2 BCG (Bio-Circular- Green) และหมวดที่ 3 เรื่องเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ทำอย่างไรผู้ประกอบการจะลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

“ทั้งหมดนี้คือทิศทางที่เราจะไปซึ่งจะต้องร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชนอย่างใกล้ชิด ซึ่งจะเห็นว่าเวลานี้นโยบายของกระทรวงต่าง ๆ ของรัฐบาล และบีโอไอ ก็ไปในทิศทางเดียวกันและเห็นภาพเดียวกันแล้ว แต่ในการนำไปสู่การปฏิบัติ คงต้องใช้เวลา เพราะต้องทำหลายอย่างในการรื้อโครงสร้าง โดยภาครัฐต้องเป็นผู้สนับสนุนและอำนวยความสะดวก เช่น การปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาใหม่ ทั้งระดับประถม มัธยม อุดมศึกษา และอาชีวศึกษา ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานภาคการผลิต ต้องมีการอัพสกิล รีสกิล และมีนิวสกิลที่สอดคล้องกับความต้องการและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปของโลก”

  • ครึ่งหนึ่งสมาชิกอัพเกรดแล้ว

เป้าหมายต่าง ๆ ข้างต้น ต้องทำ อีกหลาย ๆ อย่างไปพร้อมกัน และทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน เพื่อจะนำไปสู่การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมได้ เช่น ยุค AI กำลังต้องเร่งสร้างคนที่มีทักษะด้านดิจิทัลในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ การแก้ไขและยกเลิกกฎหมายที่ล้าสมัยที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจและเป็นต้นทุนแฝง ซึ่งหากโครงสร้างเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทยสามารถปรับเปลี่ยนได้จะเป็นเครื่องยนต์ตัวใหม่ที่ช่วยให้การขับเคลื่อนจีดีพีของไทยตามที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้คือขยายตัวปีละไม่ตํ่ากว่า 5% มีความเป็นไปได้ ซึ่งจะเป็นไปได้ในช่วง 5 นับจากนี้หรือไม่ขึ้น อยู่กับทุกฝ่ายจะร่วมมือร่วมใจกัน

“ในสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยมี 46 กลุ่มอุตสาหกรรม มีประมาณครึ่งหนึ่งที่ขณะนี้ได้ก้าวพ้น และบอกว่าไม่สนใจเรื่องค่าแรงขั้นตํ่าแล้ว จากได้ปรับตัวใช้เทคโนโลยีทดแทนคน แต่ยังมีอีกครึ่งหนึ่งที่ยังเป็นอุตสาหกรรมดั้งเดิมที่เป็นเอสเอ็มอีทั้งหลายยังมีการปรับตัวที่ช้าเพราะ1.ขาดความรู้ความเข้าใจ 2.ขาดเงินทุน 3.ขาดคนแนะนำ หน้าที่ของเราคือ ทำอย่างไรจะช่วยคนกลุ่มนี้สามารถก้าวข้ามและพัฒนาจากเอสเอ็มธรรมดาไปสู่สมาร์ทเอสเอ็มอีได้”

  • 10 ปีโครงสร้างส่งออกยังเดิม ๆ

ขณะที่จากการตรวจสอบข้อมูลของ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงสินค้าส่งออก และผู้ส่งออกรายใหญ่ของไทยในกลุ่ม 5 อันดับแรกช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่ายังอยู่ในกลุ่มสินค้าและผู้ส่งออกรายใหญ่ในกลุ่มเดิม ๆ โดยปี 2556 ไทยมีการส่งออกมูลค่า 6.90 ล้านล้านบาท สินค้าส่งออก 5 อันดับแรกได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ,นํ้ามันสำเร็จรูป, อัญมณีและเครื่องประดับ และเคมีภัณห์

ล่าสุดในปี 2566 ไทยมีมูลค่าส่งออก 9.80 ล้านล้านบาท สินค้าส่งออก 5 อันดับแรก ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ, เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, อัญมณีและเครื่องประดับ, ผลิตภัณฑ์ยาง และนํ้ามันสำเร็จรูป

  • 5 ปีส่งออกรถสันดาปสูญ 8 แสนล้าน

รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระและผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กล่าวว่า จีดีพีไทยปี 2566 มีมูลค่า 18.6 ล้านล้านบาท (ราคาตลาด) โดยภาคส่งออกมีสัดส่วนต่อจีดีพีมากสุด 65% ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาโครงสร้างสินค้าส่งออกแทบไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ดีโครงสร้างสินค้าส่งออกของไทยมองว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยแยกออกเป็น 2 กลุ่มสินค้า

กลุ่มแรก กลุ่มสินค้าเสี่ยงที่จะค่อย ๆ หมดอนาคตส่งออกในอีก 5 ปีข้างหน้า (2573) โดยมีมูลค่าความเสี่ยงมากกว่า 1 ล้านล้านบาท ได้แก่ 1.รถยนต์และชิ้นส่วนสันดาป เพราะในปี 2572 การใช้รถยนต์ไฟฟ้า(EV) จะเริ่มแซงหน้ารถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน(ICE) และราคารถยนต์ EV เริ่มถูกกว่ารถยนต์สันดาป ความต้องการใช้ชิ้นส่วนและรถยนต์สันดาปจะลดลงตามลำดับ เฉพาะการส่งออกไทยจะหายไปจากกลุ่มนี้ประมาณ 8 แสนล้านบาทต่อปี

2.นํ้ามันสำเร็จรูป (ดีเซล นํ้ามันเตา นํ้ามันเบนซิน) เมื่อความต้องการใช้รถยนต์สันดาปลดลง ความต้องการใช้นํ้ามันสำเร็จรูปก็ลดลงไปด้วย มูลค่าส่วนนี้จะหายไป 2 แสนล้านบาทต่อปี และ 3. เม็ดพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียว จะมีอัตราการขยายตัวที่ลดลงจากกระแสสิ่งแวดล้อม มูลค่ากลุ่มนี้ทั้งหมดอยู่ที่ 3 แสนล้านบาทต่อปี

รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระและผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

  • ยางพารา-อาหารสุขภาพยังสดใส

ส่วนกลุ่มที่ 2 ที่มองว่าจะมีโอกาสขึ้นมาแทนที่ 1 ใน 5 สินค้าส่งออกอันดับต้น ๆ ได้แก่ 1.กลุ่มยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง หากมีการปรับเปลี่ยนการทำตลาดตามกระแสความยั่งยืน และร่วมมือบริษัทใหญ่กับต่างประเทศจริงจัง อุตสาหกรรมยางพาราจะขึ้นมาเป็น 1 ใน 5 ของสินค้าส่งออก เพราะยางมีจุดเด่นที่ตอบสนองความต้องการของโลก คือ การดูดซับคาร์บอน และขายคาร์บอนเครดิตได้ ซึ่งจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ มากกว่า 5 แสนล้านบาท และ 2.กลุ่มอาหารสุขภาพ และอาหารแห่งอนาคต ซึ่งอยู่ในหลากหลายสินค้าเกษตร มูลค่าส่งออกจะมีมูลค่าส่งออกมากกว่า 1 ล้านล้านบาท”

สำหรับข้อเสนอแนะภาครัฐและเอกชน เพื่อปรับโครงสร้างการส่งออกไทยไปสู่เป้าหมายดังกล่าวได้มีข้อเสนอแนะดังนี้ 1. คัดเลือกกลุ่มสินค้า 3 อันดับแรกของกลุ่มสินค้าส่งออกมาผลักดันให้มูลค่าสูง โดยแยกเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป กลุ่มสินค้าเกษตร กลุ่มอุตสาหกรรม 2.ดันกลุ่มสินค้าเกษตรเป้าหมาย ให้สร้างมูลค่าเพิ่มตามกระแสสิ่งแวดล้อม เช่น อุตสาหกรรมยางพารา ข้าว และมันสำปะหลัง

3.ดันกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ใช้เซมิคอนดักเตอร์ โดยการดึงนักลงทุนต่างชาติ (FDI) จากสหรัฐฯ หรือญี่ปุ่น เพื่อสร้างเป็นฐานการผลิตอุปกรณ์ชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรม (เครื่องใช้ไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์) และ 4.ผลักดันกลุ่มสินค้าเกษตรที่เป็นคาร์บอนตํ่า เช่น ข้าวคาร์บอนตํ่า เป็นต้น

  • ดันท่องเที่ยวเมืองรองจริงจัง

นายธีระยุทธ จิราธิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารโรงแรมและรีสอร์ทในเครือเซ็นทารา กล่าวว่า ประเทศไทยควรวางแผนกระจายแหล่งท่องเที่ยว ไม่อยากให้กระจุกตัวอยู่แต่ในเมืองใหญ่ ที่จะรองรับนักท่องเที่ยวที่ล้นเกินไป ควรมองไปยังจังหวัดที่มีศักยภาพด้านวัฒนธรรม กีฬาต่าง ๆ เพื่อขยายโลเคชั่นในการเดินทางท่องเที่ยวกระจายสู่เมืองรอง

รวมถึงนโยบายในการเข้าถึงแหล่งเงินของผู้ประกอบการ การแข่งขันที่เป็นธรรม ตอนนี้ที่ยังพูดกันไม่จบคือการทำธุรกิจของ Airbnb โดยการนำคอนโดมิเนียม หรือ บ้าน มาขายห้องพักในลักษณะของโรงแรม ถ้ารัฐบาลอยากให้เป็นแบบนี้ ก็ต้องมีความชัดเจนว่าจะควบคุมอย่างไร โดยเฉพาะเรื่องของมาตรฐานในการให้บริการ การส่งเสริมหรือกระตุ้นเพื่อดึงเที่ยวบินกลับมาให้บริการเพิ่มมากขึ้น แก้ปัญหาราคาตั๋วเครื่องบินที่มีราคาสูงมาก และแก้ปัญหาเรื่องของที่นั่งบนเครื่องบินไม่เพียงพอต่อความต้องการในการเดินทาง

  • รักษาสมดุลเที่ยวคุณภาพ-ปริมาณ

นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาคนที่ได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวจะกระจุกตัวอยู่เฉพาะในจังหวัดท่องเที่ยวไม่กี่จังหวัด เช่น ภูเก็ต กระบี่ เชียงใหม่ ชลบุรี และธุรกิจขนาดกลางและใหญ่จะได้ประโยชน์ แต่คนตัวเล็ก รวมถึงจังหวัดส่วนใหญ่ก็ยังมีโอกาสในการรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่น้อยมาก จึงอยากเห็นให้การท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นได้ประโยชน์กันทั้งประเทศ และเข้าสู่ฐานรากทุกคนได้ประโยชน์

“เสนอว่ารัฐบาลต้อง รี-ดีไซน์ การท่องเที่ยวใหม่ โดยฝั่งดีมานต์ ไม่มีปัญหาเพราะนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยมีการเติบโตที่ดี แต่เรามีปัญหาเรื่องซัพพลายไซด์ ในการรองรับนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมขนาดเล็ก ที่ติดปัญหาเรื่องเงินทุน เพราะติดขัดข้อกฎหมายไม่สามารถขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมได้ ทำให้ไม่สามารถกู้เงินได้ จึงอยากขอโอกาสให้กลุ่มคนตัวเล็ก การเติมทุน เติมนวัตกรรม เติมคน เพื่อยก ระดับผู้ประกอบการ”

รวมถึงแก้ปัญหาเรื่องโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยว โดยรักษาสมดุลระหว่างนักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพและปริมาณ เพราะเป็นไปไม่ได้ที่การท่องเที่ยวจะไม่เน้นปริมาณ เนื่องจากภาคธุรกิจท่องเที่ยวมีหลายระดับตั้งแต่ขนาดเล็กถึงขนาดใหญ่ ถ้าเอาแต่กลุ่มคุณภาพ คนตัวเล็กก็จะไม่ได้รายได้เลย คนก็จะตกงาน

  • อัดเล่นเกมการเมืองฉุด ศก.อืด

นายมิลินทร์ วีระรัตนโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ตั้งงี่สุน ซูเปอร์สโตร์ จำกัด กล่าวว่า สถานการณ์เศรษฐกิจไทยตอนนี้ไม่ดี มีการเล่นเกมการเมืองมาก การทำงานของแต่ละหน่วยงานก็ไม่สอดคล้องกันทำให้การแข่งขันทางเศรษฐกิจ สู้ต่างชาติไม่ได้ แม้ภาวะเศรษฐกิจและตลาดโลกจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบอย่างมาก แต่หลายประเทศก็พยายามค่อย ๆ ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ประเทศไทยทั้งการค้าขายและการส่งออกกลับยังคงอยู่ในภาวะที่ไม่ดี ซึ่งภาคเอกชนทั่วประเทศทั้งรายเล็กรายใหญ่ต้องขยับและขับเคลื่อนองค์กรด้วยตัวเอง ทั้งจัดแคมเปญต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไป