"สรท."ชี้ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์สร้างโอกาสธุรกิจ แนะรักษาตลาดเดิม-สร้างใหม่

31 ม.ค. 2567 | 23:29 น.

"สรท."ชี้ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์สร้างโอกาสธุรกิจ แนะรักษาตลาดเดิม-สร้างใหม่ ระบุโจทย์การทำธุรกิจยากขึ้น เพราะมีตัวแปรมากขึ้น และตัวแปรดังกล่าวมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน และปรับเปลี่ยนเร็วมาก

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยในการเสวนางาน Geopolitics 2024 หัวข้อ “รัฐปรับตัว ธุรกิจปรับแผน พลิกวิกฤติสู้โอกาส” ซึ่งจัดโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ว่า ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ส่งผลกระทบไปทั่วโลก แต่ทุกวิกฤตย่อมมีโอกาส โดยที่โจทย์ของการทำธุรกิจยากขึ้น เพราะมีตัวแปรมากขึ้น และตัวแปรดังกล่าวเหล่านี้ก็มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันและปรับเปลี่ยนเร็วมาก

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาเกิดวิกฤตทะเลแดงซึ่งส่งผลทำให้เรือสินค้าไม่สามารถผ่านได้ โดยที่บางสายต้องเดินเรือทะเลอ้อมแหลมกู๊ดโฮป จากปกติทีมีเรือขนส่งสินค้า 100-150 ลำก็ลดลงเหลือ 50-60 ลำ ทำให้ค่าระวางเรือเพิ่มขึ้น 4-5 เท่า และระยะเวลาส่งมอบสินค้าเพิ่มขึ้นเป็น 15-20 วัน ทำต้นทุนสินค้าเพิ่มขึ้น

อีกทั้งยังทำให้เกิดความล่าช้าในการชำระเงิน โดยอาจส่งผลต่อสภาพคล่องทางการเงินของผู้ส่งออก ซึ่งจากปัญหาที่เกิดขึ้นผู้ส่งออกต้องวางกลยุทธ์ และทำงานร่วมกับภาครัฐ

"ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะได้ส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศ และซัพพลายเชน สิ่งที่เกิดขึ้นนี้จะต้องมีแนวทางรับมือกับพายุเศรษฐกิจในปี 2567 และปรับตัวรุกเพื่อพลิกวิกฤตสู่โอกาส"

"สรท."ชี้ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์สร้างโอกาสธุรกิจ  แนะรักษาตลาดเดิม-สร้างใหม่

โดยต้องมีกลยุทธ์เชิงรุกและเชิงรับการส่งออก ทั้งการรักษาตลาดเดิม เสริมตลาดใหม่ โดยเฉพาะตลาดแอฟริกา อินเดีย เร่งขยายตลาดที่มีเอฟทีเอ การลดต้นทุนด้านพลังงาน การเสาะหาเส้นทางขนส่งใหม่ 

นอกจากนี้ต้องลดต้นทุน บริหารสินค้าคงคลัง รวมถึงต้องมีการขยายตลาดอีคอมเมิร์ซให้มากขึ้น และลงทุนในระบบออโตเมติก (AI)

ส่วนกลยุทธ์เชิงรุก และเชิงรับเพื่อการส่งออกนั้น จะต้องเร่งสร้างนวัตกรรมใหม่ และสร้างแบรนด์ไทย เร่งสร้างตลาดใหม่ โดยเฉพาะการขยายตลาดอีคอมเมิร์ซซึ่งนับวันจะมีความสำคัญมากขึ้น 

อย่างไรก็ดี จะต้องมีการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ตอบโจทย์ต้นทุน เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม เสริมสภาพคล่องทางการเงิน และเสริมความรู้ ทักษะ เพื่อเพิ่มผลิตภาพและกำลังคน