5 ซีนารีโอ วิกฤตเศรษฐกิจฉบับ ป.ป.ช. แจก เงินดิจิทัลวอลเล็ต วิกฤตแบบไหน?

09 ก.พ. 2567 | 01:30 น.

ชั่วโมงนี้ คำว่า “วิกฤต” หรือ “ไม่วิกฤต” กลายเป็นข้อถก-เถียงสาธารณะ ถูกพูดถึงความจำเป็นในการแจก เงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ในทุกวงการ ตั้งแต่แม่ค้าร้านตลาด นักการเมืองรัฐบาล-ฝ่ายค้าน ไปจนถึงนักธุรกิจ-นายแบงก์

1 ใน 4 ประเด็น “ความเสี่ยง” ในรายงานข้อเสนอแนะ-ท้วงติง ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ฉบับกำใส่มือ “รัฐบาลเศรษฐา” คือ "ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ" โดยมี "ตัวบ่งชี้" วิกฤตทางเศรษฐกิจ ประกอบเป็น "ฉากทัศน์" สะท้อนเศรษฐกิจไทยขณะนี้ วิกฤตแบบไหนกันแน่ ?

ซีนารีโอแรก วิกฤตภาคการเงินและสถาบันการเงิน (Financial and banking crisis)

สภาวะที่สภาบันการเงินหลายแห่งประสบปัญหาสภาพคล่อง เกิดปัญหาด้านฐานะการเงิน นำไปสู่การล้มละลาย สาเหตุเกิดจากถือสินทรัพย์ไม่ก่อให้เกิดรายได้สูง เกิดจากปัญหาประชาชนและภาคธุรกิจประสบปัญหาการชำระคืนหนี้ หรือ เกิดควบคู่กับมูลค่าสินทรัพย์ลดลงจากมูลค่าพันธบัตรที่ธนาคารถือลดลง หรือ ราคาอสังหาริมทรัพย์ลดลงมาก การแห่ถอนเงินจำนวนมากเกินกว่าสถาพคล่องที่มี ซึ่งเกิดขึ้นมาจากขาดความเชื่อมั่นระบบการเงิน 

วิกฤตต้มยำกุ้ง 2540 มาจากการปล่อยสินเชื่อและกำกับดูแลไม่รัดกุม ภาคธุรกิจผิดนัดชำระในวงกว้าง โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ลงทุนเกินกว่ากำลังซื้อตลาด ส่งผลให้หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) พุ่งสูง สถาบันการเงินได้รับผลกระทบจากการลอยตัวค่าเงินบาท ขาดความเชื่อมั่นรุนแรงกับสถาบันการเงิน รัฐบาลต้องสั่งปิดสถาบันการเงิน 58 แห่ง 

วิกฤตซับไพรม์ปี 2551-2552 วิกฤตการเงินของสหรัฐฯ สาเหตุจากการเก็งกำไรราคาอสังหาริมทรัพย์ สถาบันการเงินปล่อยกู้สินเชื่อที่อยู่อาศัยสูงขึ้น โดยพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ไม่รัดกุม ประเมินความเสี่ยงไม่รอบด้าน ภาวะฟองสบู่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯ แตก ราคาอสังหาริมทรัพย์ตกต่ำ ผิดนัดชำระหนี้ในวงกว้าง ลุกลามไปยังประเทศอื่น เช่น ยุโรป ส่งผลบริษัทใหญ่หลายแห่งขาดทุนหนัก ว่างงานเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจสหรัฐณ และยุโรปเข้าสู่ภาวะถดถอย 

ซีนารีโอที่สอง วิกฤตดุลการชำระเงิน (Balance of payment crisis)

ประเทศไม่มีเงินตราต่างประเทศหรือเงินสำรองระหว่างประเทศเพียงพอในการชำระค่าสินค้านำเข้าที่จำเป็นหรือชำระคืนหนี้ต่างประเทศ เนื่องจากดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลสูงเป็นเวลานานจากมูลค่าส่งออกต่ำ นำเข้าสูง เช่น น้ำมัน เงินทุนจากต่างประเทศไหลออก (ระยะสั้น) ขาดความเชื่อมั่นต่อเสถียรภาพด้านต่างประเทศ ค่าเงินบาทอ่อนลงมาก ทุนสำรองระหว่างประเทศลดลง 

วิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 หนี้ต่างประเทศเพิ่มสูงถึง 109,276 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเฉพาะหนี้ต่างประเทศระยะสั้นร้อยละ 65 ของหนี้ต่างประเทศทั้งหมด ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลสูงขึ้นต่อเนื่องถึงร้อยละ 8 ของจีดีพี ส่งออกหดตัวรุนแรง นำเข้าสูงขึ้น เกิดการโจมตีค่าเงินบาท เงินทุนไหลออก เงินสำรองระหว่างประเทศลดลงจากการดูแลค่าเงินบาทจาก 38.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เหลือ 2.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จนต้องประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ขอความช่วยเหลือจากกองทุนไอเอ็มเอฟ 

ซีนารีโอที่สาม วิกฤตภาคการคลัง (Fiscal crisis)

ขาดดุลงบประมาณสูงต่อเนื่องและเรื้อรัง จนต้องปรับลดรายจ่าย เพิ่มการเก็บภาษี หนี้สาธารณะสูง ส่งผลต่อความเชื่อมั่นการชำระหนี้รัฐบาล กู้ยืมในอัตราดอกเบี้ยสูง สะท้อนจากผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสูง ซ้ำเติมภาระทางการคลังชำระหนี้คืน ต้นทุนกู้ยืมเงินของภาคเอกชนสูงตาม 

วิกฤตหนี้สาธารณะในกรีซปี 2553 ก่อหนี้สาธารณะสูง (หนี้สาธารณะต่อจีดีพีจากร้อยละ 109 ในปี 2551 เป็นร้อยละ 127 ในปี 2552) อันดับความน่าเชื่อถือลดลงต่อเนื่องจนเป็น Junk bond และต่ำสุดระดับ C ในช่วง 2 ปี ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 10 ปี สูงขึ้นจากร้อยละ 5 สิ้นปี 52 เป็นร้อยละ 40 มีนาคม 55 นำไปสู่ปัญหาสภาพคล่องและการว่างงาน กำลังซื้อลด เศรษฐกิจถดถอย 

ซีนารีโอที่สี่ วิกฤตเงินเฟ้อสูงรุนแรง (Hyper inflation crisis)

ระดับราคาสินค้าและบริการสูงขึ้นรวดเร็ว วงกว้าง ค้างเป็นเวลานาน ในอดีตเกิดขึ้นช่วงหลังสงครามโลกทั้งสองครั้ง รัฐบาลต้องพิมพ์เงินออกมาใช้จ่าย แต่ระยะหลังรัฐบาลใช้วิธีพิมพ์เงินชดเชยขาดดุลงบประมาณ สุดท้ายสกุลเงินด้อยค่าลง 

วิกฤตเงินเฟ้อในเวเนซุเอลาปี 2559 จนถึงปัจจุบัน เงินเฟ้อสูงจากร้อยละ 56 ปี 56 เป็นร้อยละ 274 ปี 59 สูงขึ้นต่อเนื่องจนเกินร้อยละ 60,000 ปี 61 สาเหตุภาครัฐใช้จ่ายเกินตัว นโยบายประชานิยมสังคมสงเคราะห์มหาศาล รายจ่ายภาครัฐเพิ่มสูงขึ้น ประชาชนขาดความเชื่อมั่นภาครัฐรุนแรง ค่าเงินไม่น่าเชื่อถือ ลดต่ำมหาศาล สินค้าราคาสูงก้าวกระโดด เกิดการกักตุนสินค้า 

ซีนารีโอที่ห้า วิกฤตจากปัจจัยภายนอกหรือสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด

เศรษฐกิจหดตัวหรือตกต่ำเป็นระยะเวลาหนึ่งจากปัจจัยภายนอกเปลี่ยนแปลงรวดเร็วหรือไม่ได้คาดคิดมาก่อน ผลกระทบวงกว้าง ทั้งการบริโภค ส่งออก ลงทุน จ้างงาน เมื่อปัจจัยภายนอกคลี่คลาย เศรษฐกิจจึงทยอยฟื้นตัว 

เศรษฐกิจไทยปี 2551-2552  เริ่มจากวิกฤตการเงินในสหรัฐฯ ในครึ่งหลังของปี 2551 เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2551 เศรษฐทั้งปี 2551 ขยายตัวร้อยละ 1.7 ชะลอตัวลงจากปี 2550 ปี 2552 หดตัวร้อยละ 0.7 เป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 10 ปี ส่งออกสินค้าและบริการหดตัวร้อยละ 12.1 นักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงจากความไม่สงบทางการเมืองในประเทศ การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนหดร้อยละ 0.9 และ 17.4 

เศรษฐกิจสหรัฐฯ ปี 2563 การแพร่ระบาดของโควิด-19 เกิดเศรษฐกิจถดถอย ทั้งปีหดตัวร้อยละ 2.2 หลังโควิด-19 เผชิญภาวะเงินเฟ้อ ถดถอยทางเทคนิคในช่วงไตรมาส 1-2 ของปี 2565 จีดีพี หดตัวร้อยละ 2 และร้อยละ 0.6 ต่อปี 

เศรษฐกิจไทยปี 2563-2564 การโควิด-19 จนต้องออกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดอย่างเข้มงวด กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดลงวงกว้าง การท่องเที่ยวหดตัวแรง การส่งออกสินค้าหดตัวตาม รายได้และความเชื่อมั่นลดลง เศรษฐกิจไทยปี 2563 หดตัวร้อยละ 6.1 มากสุดในรอบ 22 ปี แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ K-shaped