กทม.ถกเคที-บีทีเอส 8ก.พ. "เคลียร์หนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว" 2.3 หมื่นล้าน

07 ก.พ. 2567 | 11:10 น.

8 ก.พ.นี้ กทม.นัดถกเคที-บีทีเอส จ่ายหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว 2.3 หมื่นล้านบาท หลังสภากทม.เห็นชอบสั่งเร่งดำเนินการ เล็งตั้งคณะกรรมการฯศึกษาสัญญาสัมปทานฯ ยึดพ.ร.บ.ร่วมทุน PPP คาดได้ข้อสรุป 5 เดือน

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่จะสิ้นสุดในปี 72 ว่า ขณะนี้ระยะเวลาสัมปทานเหลือประมาณ 5 ปี เมื่อสัมปทานหมดจะกลายเป็นของกทม.โดยนโยบายที่หาเสียงไว้จะดำเนินการตามพ.ร.บ.ร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) ซึ่งจะต้องดำเนินการตามกระบวน เบื้องต้นจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาเพื่อศึกษาสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยมีหลายหน่วยงานเข้ามาเป็นคณะกรรมการฯด้วย คาดว่าจะใช้ระยะเวลาศึกษาไม่เกิน 5 เดือน หลังจากนั้นหากได้ข้อสรุปแล้วจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.)พิจารณาต่อไป

 

"ส่วนกรณีที่ตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาเพื่อศึกษาสัญญาสัมปทานฯในครั้งนี้จะกระทบต่อคำสั่งม.44 ของคสช. หรือไม่ คงต้องรอดูอีกที เพราะปัจจุบันกทม.อยู่ระหว่างดำเนินการเตรียมชำระหนี้ค่าจ้างการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ (E&M) ของรถไฟฟ้าสายสีเขียวแก่เอกชน ประมาณ 2.3 หมื่นล้านบาท ทำให้เรื่องที่ค้างอยู่ในคำสั่งม.44 เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากหนี้ก้อนนี้ถูกรวมอยู่ในการเจรจาด้วย ซึ่งจะต้องเสนอต่อกระทรวงมหาดไทยพิจารณา"

 

นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า ในวันพรุ่งนี้ (8 ก.พ.นี้) กทม.จะมีการหารือร่วมกับบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) และบริษัทระบบขนส่งกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ในประเด็นที่สภากทม.มีมติให้กทม.ชำระหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวแก่เอกชน เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนสูงสุด

"ส่วนกรณีที่เอกชนฟ้องร้องต่อศาลปกครองให้กทม.และเคทีชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ปัจจุบันเรื่องนี้ยังอยู่ในกระบวนการของศาลปกครอง ซึ่งกทม.พยายามใช้งบประมาณอย่างจำกัดเพื่อนำมาชำระหนี้ให้กับเอกชนด้วยขณะที่ความเป็นไปได้ที่กทม.จะนำเงินมาชำระหนี้แก่เอกชนภายในปีนี้นั้น ตามมติสภากทม.สั่งให้เราดำเนินการเรื่องนี้ให้เร็วที่สุด"

 

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี กล่าวว่า กรณีที่กทม.จะนัดบริษัทหารือถึงการชำระหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวนั้น ขณะนี้ยังไม่ทราบรายละเอียด ซึ่งบริษัทอยู่ระหว่างกทม.นัดหารือในเรื่องนี้ คาดว่าตนจะเข้าไปร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย

 

"ที่ผ่านมาสภากทม.มีมติให้กทม.ชำระหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวแก่บริษัทนั่นหมายความว่ากทม.มีความพร้อมที่จะชำระหนี้ 2.3 หมื่นล้านบาท โดยบริษัทคาดว่ากทม.จะสามารถชำระหนี้แก่บริษัทได้ภายในสิ้นเดือนมี.ค.นี้"

 

นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า กรณีที่สัญญาณสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวจะสิ้นสุดในปี 72 นั้น เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับกทม.เป็นผู้พิจารณา เพราะปัจจุบันบริษัทมีสัญญาจ้างเดินรถกับกทม.อยู่แล้วต้องยึดตามสัญญา

" หากกทม.จะเปลี่ยนนโยบาย บริษัทก็พร้อมเจรจา ซึ่งจะต้องพิจารณาเงื่อนไขด้วยว่าเป็นอย่างไรสามารถดำเนินการได้หรือไม่ ปัจจุบันภาครัฐมีหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวค้างชำระกับบริษัทกว่า 50,000 ล้านบาท"

 

สำหรับหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวของภาครัฐ ทั้งหมดกว่า 1 แสนล้านบาท ประกอบด้วย 1.ค่าก่อสร้างรถไฟฟ้าส่วนขยายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ที่โอนมาจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในปี 2561 รวม 69,105 ล้านบาท

 

2.ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 (อ่อนนุช-แบริ่ง และสะพานตากสิน-บางหว้า) และช่วงที่ 2 (แบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) ประมาณ 30,000 ล้านบาท

 

 3.ค่าติดตั้งงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) รวมกว่า 22,800 ล้านบาท