ก้าวต่อไป China Evergrande หลังศาลฮ่องกงสั่งเลิกกิจการ

29 ม.ค. 2567 | 08:46 น.

ก้าวต่อไป China Evergrande หลังศาลฮ่องกงสั่งเลิกกิจการ ขายทรัพย์ชำระหนี้ ทำให้หุ้นดิ้งกว่า 20% ซึ่งอาจผลไปยังเศรษฐกิจจีน รวมทั้งตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่เปราะบางอยู่แล้ว

ศาลฮ่องกงสั่งให้บริษัทอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่ ตัวแทนของวิกฤตอสังหาฯ ของจีน ไชน่า เอเวอร์แกรนด์ (China Evergrande) ขายสินทรัพย์เพื่อนำเงินมาชำระหนี้กว่า 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 11.5 ล้านล้านบาท โดยราคาหุ้นของไชน่าเอเวอร์แกรนด์ (China Evergrande) ปรับตัวลดลง 20% หลังจากศาลฮ่องกงพิพากษา 

หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัล รายงานว่า คำสั่งนี้มีขึ้นหลังจากกลุ่มเจ้าหนี้ในต่างประเทศของไช่า เอเวอร์แกรนด์ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงการปรับโครงสร้างหนี้เป็นครั้งที่ 11 ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

ภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน คิดเป็น 1 ใน 4 ของเศรษฐกิจ ความเคลื่อนไหวดังกล่าวอาจส่งแรงกระแทกไปยังจีน รวมทั้งตลาดอสังหาริมทรัพย์ของจีนที่เปราะบางอยู่แล้ว กระบวนการดังกล่าวอาจมีความซับซ้อน โดยอาจมีการพิจารณาทางการเมือง เนื่องจากมีหน่วยงานหลายแห่งที่เกี่ยวข้อง

 

ประเด็นที่น่าจับตามองก็คือ จะเกิดอะไรขึ้นต่อไปหลังจากที่ China Evergrande สั่งให้เลิกกิจการ ?  สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า เมื่อมีการออกคำสั่งชำระบัญชี จะแต่งตั้งผู้ชำระบัญชีชั่วคราวและผู้ชำระบัญชีอย่างเป็นทางการ อาจเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ หรือพนักงานจากบริษัทคู่ค้า เพื่อควบคุมและเตรียมการขายทรัพย์สินของผู้พัฒนาโครงการเพื่อชำระหนี้ โดยหลังการประชุมกับผู้ให้กู้แล้ว จะมีการแต่งตั้งผู้ชำระบัญชีอย่างเป็นทางการ 

ผู้ชำระบัญชีสามารถเสนอแผนการปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ให้กับเจ้าหนี้ในต่างประเทศที่ถือหนี้ 2.3 หมื่นล้านดอลลาร์  ในไชน่า เอเวอร์แกรนด์ หากพิจารณาว่าบริษัทมีสินทรัพย์เพียงพอหรือนักลงทุนสนใจ ยังคงจะสอบสวนกิจการของบริษัทต่อไป และอาจส่งเรื่องไปยังอัยการฮ่องกง บริษัทสามารถอุทธรณ์คำสั่งเลิกกิจการได้ แต่กระบวนการชำระบัญชีจะดำเนินการต่อไป เพื่อรอการพิจารณาอุทธรณ์

ขณะที่ หุ้น เอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป และบริษัทในเครือถูกระงับจากการซื้อขายหลังคำสั่งเลิกกิจการ กฎการจดทะเบียนกำหนดให้บริษัทต้องแสดงให้เห็นโครงสร้างธุรกิจที่มีการดำเนินธุรกิจและมูลค่าทรัพย์สินที่เพียงพอ 

ประเด็นต่อมาคือ เจ้าหนี้สามารถกู้หนี้ได้มากเพียงใด เอเวอร์แกรนด์ อ้างถึงการวิเคราะห์ของ Deloitte  ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลฮ่องกงในเดือนกรกฎาคมที่ประเมินการฟื้นตัวที่ 3.4% หากถูกเลิกกิจการ แต่หลังคำกล่าวนี้ในเดือนกันยายน “ฮุย กา ยัน” (Hui Ka Yan) ประธานบริษัท China Evergrande Group ถูกสอบสวนโดยทางการในข้อหาก่ออาชญากรรมที่ไม่ระบุรายละเอียด ขณะนี้เจ้าหนี้คาดว่าการฟื้นตัวจะน้อยกว่า 3%

พันธบัตรดอลลาร์ของ Evergrande ถูกเสนอราคาที่ประมาณ 1 เซนต์ต่อดอลลาร์ในวันศุกร์ (26 ม.ค.2567) ทรัพย์สินส่วนใหญ่ของถูกขายหรือถูกเจ้าหน้าที่ยึด ทำให้บริษัทจดทะเบียนในฮ่องกง อย่าง Evergrande Property Services Group และ กลุ่มยานยนต์พลังงานใหม่ มูลค่าตลาดรวมลดลง 973 ล้านดอลลาร์ เมื่อวันศุกร์ที่ 26 ม.ค.67 โดยผู้ชำระบัญชีสามารถขายการถือครองทั้งสองหน่วยนี้ได้ แม้ว่าการหาผู้ซื้ออาจทำได้ยากก็ตาม

หลังจากการชำระบัญชี ผู้ชำระบัญชีสามารถควบคุมบริษัทในเครือทั่วประเทศจีนได้โดยการเปลี่ยนตัวแทนทางกฎหมาย กระบวนการนี้อาจใช้เวลาหลายเดือนหรือหลายปี

รายงานระบุว่า นี่ถือเป็นความท้าทายสำหรับผู้ชำระบัญชีในการเปลี่ยนตัวแทน เนื่องจาก กวางโจว ซึ่งเป็นที่ตั้งของ เอเวอร์แกรนด์ ไม่ใช่ 1 ใน 3 เมืองของจีนที่ยอมรับคำสั่งการชำระบัญชีร่วมกันกับฮ่องกง แม้ว่าผู้ชำระบัญชีจะต้องเข้าครอบครองยูนิตที่มีโครงการในประเทศ แต่หลายยูนิตก็ถูกเจ้าหนี้เข้าครอบครองไปแล้ว ถูกศาลแช่แข็ง มีมูลค่าเหลือเพียงเล็กน้อย หรืออยู่ในส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ เพราะราคาทรัพย์สินที่ตกต่ำ

ตลาดอสังหาริมทรัพย์จีนจะเป็นอย่างไร?

คาดว่าจะส่งผลกระทบผ่านตลาดทุน เมื่อพิจารณาถึงขนาดที่แท้จริงของโครงการและหนี้สิน กระบวนการนี้จะเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ และการพิจารณาทางการเมืองมากมาย การดำเนินการโครงการก่อสร้างบ้านที่กำลังดำเนินอยู่ให้เสร็จสิ้น จะถือเป็นเรื่องสำคัญสูงสุดสำหรับบริษัท ภาคส่วนธุรกิจ และ ภาครัฐ

ย้อนวิกฤตเอเวอร์แกรนด์

  • ปี 2021 บริษัท เอเวอร์แกรนด์ ผิดนัดชำระหนี้ครั้งใหญ่สร้างแรงกระเพื่อมต่อตลาดหุ้นทั่วโลก บริษัทพยายามเจรจาข้อตกลงกับผู้ปล่อยกู้สินเชื่อมาอย่างต่อเนื่องนับแต่ผิดนัดชำระหนี้
  • มี.ค. 2022 หุ้นของทางบริษัท ถูกระงับการซื้อขาย
  • ส.ค. 2023 ยื่นขอการคุ้มครองกรณีล้มละลายต่อศาลเเขวงนิวยอร์กของในสหรัฐฯ เพื่อขอพิทักษ์ทรัพย์ตามมาตรา 15 ของกฎหมายล้มละลาย หลังจากเอเวอร์แกรนด์ประสบปัญหาการผิดนัดชำระหนี้เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้วิกฤตหนี้สินภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนลุกลามเป็นวงกว้าง
  • รัฐบาลจีนออกมาตรการควบคุมภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งสกัดการก่อหนี้ โดยภาคอสังหาริมทรัพย์ถือเป็นเสาหลักสำคัญในการขยายตัวของเศรษฐกิจจีน และมีสัดส่วนผลผลิตทางเศรษฐกิจสูงเกือบ 30% 

ที่มาข้อมูล