ภาวะ “Grumpy Staying” ในคนทำงาน รู้สึกเบื่องาน แต่ไม่มีที่ไป

20 ม.ค. 2567 | 03:08 น.

คนทำงานเลือกอดทนทำงานที่ไม่อยากทำ และมีความคิดที่จะลาออกน้อยลงเพียง 2.4% ในปี 2566 จากปัจจัยด้านโครงสร้างเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ คนจึงจำเป็นต้องทำงานต่อไป

“Grumpy Staying” เป็นคำที่หลายคนอาจไม่ค่อยได้ยิน แต่หากได้สำรวจตัวเองให้ดี เราอาจกำลังเผชิญอยู่กับภาวะนี้อยู่ก็เป็นได้ เมื่อแปลความหมายทีละคำ Grumpy แปลว่า ไม่พอใจ และ Stay หรือ Staying แปลว่า การอยู่ หรือ คงอยู่ พอนำมาต่อกันเป็นคำว่า Grumpy Staying ก็จะสื่อได้ว่าเป็น “การทนอยู่อย่างไม่พอใจ”

เป็นภาวะที่คนทำงานรู้สึกไม่มีความสุขหรือไม่พอใจกับงานที่ทำ แต่ก็ยังเลือกที่จะทำงานที่เดิมต่อไป เพราะเงื่อนไขในชีวิตหรือปัจจัยต่างๆ ส่งผลให้ไม่มีทางเลือกมากนัก เรียกให้เข้าใจง่ายๆก็คือ “ภาวะเบื่องาน แต่ไม่มีที่ไป”

ภาวะ “Grumpy Staying” ในคนทำงาน รู้สึกเบื่องาน แต่ไม่มีที่ไป

โดย Business Insider ได้รายงานเกี่ยวกับภาวะ "Grumpy Staying" หรือการทนอยู่อย่างไม่พอใจ ว่าเป็นการที่พนักงานไม่มีอำนาจที่จะลาออก และในบางคนก็อยู่โดยไม่ได้มีความพอใจที่จะอยู่ต่อ นั่นแสดงให้เห็นว่าหากนายจ้างไม่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง พนักงานที่รับเข้ามาก็จะอยู่ด้วยอายุงานที่สั้น แต่ถึงอย่างนั้น คนวัยทำงานก็ไม่ได้มีการเปลี่ยนงานที่รวดเร็วเหมือนอย่างที่เคยมีมาในปี 2565 

จากการวิเคราะห์ของ Dr.Nela Richardson หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของสถาบันวิจัยด้านตลาดแรงงาน สหรัฐอเมริกา ADP พบว่า ผู้ที่ลาออกในปี 2566 มีจำนวนน้อยลง รวมถึงจากรายงานตำแหน่งงานว่างและการหมุนเวียนของแรงงานก็พบว่า จากเดือนเมษายนปี 2566 ซึ่งเป็นเดือนล่าสุดที่ทำการรวบรวมข้อมูลไว้ ยังมีอัตราการลาออกอย่างต่อเนื่อง แต่มีอัตราที่ลดลงทีละน้อยจนเหลือเพียง 2.4% 

ซึ่งการชะลอตัวนี้เกิดขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หลายบริษัทขาดแคลนแรงงาน ทำให้พนักงานสามารถที่จะเจรจาเรื่องค่าตอบแทนและสวัสดิการต่างๆจากนายจ้าง ที่กำลังต้องการแรงงานได้มากขึ้น แต่เมื่อสถานการณ์การขาดแคลนแรงงานคลี่คลายลง และกลับเข้าสู่ภาวะปกติ สวนทางกับโครงสร้างพื้นฐานของเศรษฐกิจที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง และผู้คนก็จำเป็นต้องทำงาน 

ภาวะ “Grumpy Staying” ในคนทำงาน รู้สึกเบื่องาน แต่ไม่มีที่ไป

จากรายงานผลสำรวจประจำปี 2566 ของแพลตฟอร์มแบบสำรวจพนักงานและวัฒนธรรมองค์กร Gallup (แกลลัพ) พบว่า พนักงาน 122,416 คนทั่วโลก มีผู้อยู่ในภาวะ Quiet quitting หรือการทำงานตามหน้าที่ เฉพาะที่ระบุไว้ในใบสมัครงานเท่านั้น ไม่มีแรงจูงใจในการทำงานอื่นๆ เพิ่มเติม มากถึง 59%

และมีผู้ที่อยู่ในภาวะ Loud quitting หรือการไม่พอใจในงานและโครงสร้างองค์กร จนต้องออกมาแสดงความคิดเห็นก่อนที่จะลาออกไป อีก 18% ซึ่งภาวะเหล่านี้สามารถแปรเปลี่ยนไปเป็นภาวะ Grumpy Staying ได้

แม้ว่าภาวะนี้จะเป็นปัญหาเฉพาะบุคคล แต่ถ้าปล่อยให้นานไป โดยที่องค์กรและพนักงานไม่ได้มีการพูดคุยหารือกัน ก็อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อโครงสร้างและการทำงานในอนาคตได้ การพูดคุยเพื่อสร้างจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนร่วมกัน อาจส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานดียิ่งขึ้น รวมถึงปฏิสัมพันธ์ภายในองค์กรดีขึ้นอีกตามไปด้วย


ขอบคุณที่มา : Business Insider , Gallup (แกลลัพ)