“ทอท.” เปิดแผนสร้างสนามบินภูเก็ต เฟส 2 บูมท่องเที่ยวแดนใต้

12 ม.ค. 2567 | 02:36 น.

“ทอท.” เดินหน้าจ้างบริษัทออกแบบรายละเอียด สร้างสนามบินภูเก็ต เฟส 2 วงเงิน 6.2 พันล้านบาท ลุยชงครม.ไฟเขียว ธ.ค.68 คาดเปิดประมูลหาผู้รับจ้าง เม.ย.69 พร้อมเปิดให้บริการปี 72 หวังดันยอดผู้โดยสารแตะ 18 ล้านคนต่อปี กระตุ้นเศรษฐกิจท่องเที่ยวภาคใต้

ปัจจุบันสนามบินภูเก็ตเป็นสนามบินหลักแห่งที่ 3 ของไทยต่อจากสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมือง พบว่ามีปริมาณผู้โดยสารราวอยู่ที่ 16.23 ล้านคน ซึ่งเกิดขีดความสามารถที่รองรับได้จริงเพียง 12 ล้านคนต่อปีเท่านั้น ทำให้ทอท. เร่งผลักดันโครงการพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต ระยะที่ 2 เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นการท่องเที่ยวที่จะเพิ่มสูงในอนาคต ตามนโยบายของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี

 

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต ระยะที่ 2 วงเงิน 6,211 ล้านบาท ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท. ปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดหาผู้รับออกแบบรายละเอียดความเหมาะสมของโครงการฯ ซึ่งจะดำเนินการได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ หลังจากนั้นจะเริ่มดำเนินการออกแบบรายละเอียดฯภายในเดือนมีนาคม 2567-กุมภาพันธ์ 2568

 

ขณะเดียวกันตามแผนจะเสนอต่อกระทรวงคมนาคมและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาเห็นชอบภายในเดือนมิถุนายน-พฤศจิกายน 2568 หลังจากนั้นจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติเห็นชอบภายในเดือนธันวาคม 2568 -มีนาคม 2569 คาดว่าจะเปิดประมูลหาผู้รับจ้างก่อสร้างโครงการฯภายในเดือนเมษายน -กันยายน 2569 โดยจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างภายในเดือนตุลาคม 2569-มีนาคม 2572 และเปิดให้บริการภายในปี 2572

สำหรับโครงการพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต ระยะที่ 2 พื้นที่ 73,000 ตารางเมตร (ตร.ม.) ประกอบด้วย 1. งานก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ (International) และอาคารเทียบเครื่องบินสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 5.5 ล้านคนต่อปี 2. งานก่อสร้างลานจอดอากาศยานรองรับอากาศยาน Code E จำนวน 2 หลุมจอด และ Code C จำนวน 5 หลุมจอด โดยเป็นการศึกษาจัดสรรหลุมจอดแบบค้างคืน (Overnight)

 

3. งานปรับปรุงระบบสาธารณูปโภค เช่น งานระบบประปา,งานระบบบำบัด,งานระบบไฟฟ้า,งานระบบถนน ฯลฯ หากโครงการแล้วเสร็จจะสามารถรองรับปริมาณผู้โดยสารรวมเป็น 18 ล้านคนต่อปี จากปัจจุบันที่สามารถรองรับปริมาณผู้โดยสารได้ 12.5 ล้านคนต่อปี และรองรับ 25 เที่ยวบินต่อชั่วโมง จากเดิมที่สามารถรองรับได้ 20 เที่ยวบินต่อชั่วโมง

 

ที่ผ่านมาจากปริมาณผู้โดยสารที่ใช้บริการท่าอากาศยานภูเก็ต พบว่าในช่วงปี 2562 ก่อนเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 มีผู้โดยสารระหว่างประเทศ (International) อยู่ที่ 10.6 ล้านคนต่อปี คิดเป็น 113% ขณะที่ปริมาณผู้โดยสารภายในประเทศ (Domestic) อยู่ที่ 7.4 ล้านคนต่อปี คิดเป็น 0.64% รวมปริมาณผู้โดยสารทั้งภายในประเทศและผู้โดยสารระหว่างประเทศอยู่ที่ 18.1 ล้านคนต่อปี ซึ่งเกิดขีดความสามารถในการรองรับปริมาณผู้โดยสารของท่าอากาศยานภูเก็ต

ทั้งนี้การพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต ระยะที่ 2 พบว่าพื้นที่ภายในของท่าอากาศยานฯ รวมทั้งทางวิ่งเครื่องบิน (รันเวย์) ยังมีศักยภาพ ซึ่งช่วยตอบโจทย์ความแออัดในการรองรับปริมาณผู้โดยสารที่ต้องการเดินทาง หากเพิ่มการพัฒนาขยายอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ (International) จะทำให้เกิดความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจและการเงิน

“ทอท.” เปิดแผนสร้างสนามบินภูเก็ต เฟส 2 บูมท่องเที่ยวแดนใต้

นอกจากนี้ทอท.ยังมีแผนพัฒนาสนามบินภูเก็ต ระยะที่ 3 วงเงินลงทุน 12,000 ล้านบาท โดยมุ่งเน้นการขยายพื้นที่ใน Airside ประกอบด้วย การก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ ,การก่อสร้างจุดจอดรถแท็กซี่, การเพิ่มหลุมจอดอากาศยาน,การก่อสร้างอาคารจอดรถ จำนวน 1,500 คัน และการก่อสร้างสะพานเชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้ารางเบา ระยะทาง 150 เมตร หากระยะที่ 3 ก่อสร้างแล้วเสร็จจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นเป็น 25 ล้านคนต่อปี

 

 อย่างไรก็ตามทอท.ประเมินว่าในปีงบประมาณ 2567 หรือภายในเดือนตุลาคม 2566-กันยายน 2567 จะมีปริมาณผู้โดยสารใช้บริการสนามบินของทอท.อยู่ที่ 120-130 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2566 ที่มีปริมาณผู้โดยสารใช้บริการอยู่ที่ 100 ล้านคน ซึ่งใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19