"อาหาร-ท่องเที่ยว"หนุน “ซอฟต์พาวเวอร์” เพิ่มรายได้ประเทศ 4 ล้านล้าน

10 ม.ค. 2567 | 03:33 น.

เอกชนหนุน “ซอฟต์พาวเวอร์” 11 สาขา หวังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มรายได้ประเทศ 4 ล้านล้านเป็นจริง หอการค้าฯ แนะโปรโมท 4 ตลาดใหญ่มีศักยภาพ สาขาอาหารเล็งช่วยหนุนส่งออกพ่วงบริโภคภายในโตปีละ 10% หลังตัวเลขล่าสุดตลาดโตกว่า 4 ล้านล้าน ททท.สั่งลุย 3 หมื่นอีเวนต์ดูดรายได้

คณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ อยู่ระหว่างการผลักดันโครงการซอฟต์พาวเวอร์ใน 11 สาขา รวม 54 โครงการ ประกอบด้วย สาขาเฟสติวัล, อาหาร, ท่องเที่ยว,ภาพยนตร์ ละครและซีรีส์, กีฬา, ศิลปะ, เกม, แฟชั่น, ออกแบบ, ดนตรี และหนังสือ โดยตั้งเป้าหมายเพิ่มรายได้ให้ประเทศ 4 ล้านล้านบาทต่อปี ภายในเวลา 4 ปีของรัฐบาล โดยจะใช้งบประมาณในการขับเคลื่อนกว่า 5,291 ล้านบาท

ทั้งนี้ในการขับเคลื่อนจะแบ่งเป็น 3 ส่วน 1.ต้นนํ้า มุ่งเน้นการฝึกอบรมคน 20 ล้านคน จาก 20 ล้านครัวเรือนตามโครงการ 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์  2.กลางนํ้าเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ใน 11 สาขาข้างต้น และ 3.ปลายนํ้า ส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ไทยสู่เวทีโลก ผ่านการทำงานของทูต และทูตพาณิชย์ในต่างประเทศ

\"อาหาร-ท่องเที่ยว\"หนุน “ซอฟต์พาวเวอร์” เพิ่มรายได้ประเทศ 4 ล้านล้าน

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ซอฟต์พาวเวอร์จะเป็นอีกพลังสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างรายได้ให้กับประเทศในปีนี้ โดยซอฟพาวเวอร์ 11 สาขาที่รัฐบาลจะเร่งผลักดันจะเป็นอีกตัวช่วยในการสร้างมูลค่าเพิ่มและสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวของไทยให้กลับมาเติบโตได้อย่างโดดเด่น ในส่วนของหอการค้าฯ เสนอให้รัฐบาลโปรโมทการท่องเที่ยวผ่านซอฟพาวเวอร์ในตลาดใหม่ที่มีศักยภาพและมีแนวโน้มเติบโตสูง เช่น อินเดีย รัสเซีย เกาหลีใต้ มาเลเซีย รวมถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายใน เน้นไทยเที่ยวไทยให้มากขึ้น

สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

“ในปี 2566 ตัวเลขนักท่องเที่ยว ต่างชาติเที่ยวไทยกว่า 28 ล้านคน ซึ่งการยกเลิกวีซ่าระหว่างไทย-จีนจะเป็นโมเมนตัมสำคัญที่ทำให้ภาคการท่องเที่ยวของไทยยังคงเติบโตอย่างโดดเด่นต่อเนื่อง ขณะที่ในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ยังมีเทศกาลสงกรานต์ที่เพิ่งได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้จากยูเนสโก ซึ่งรัฐบาลและหอการค้าฯ จะมีการยกระดับงานสงกรานต์ให้เป็นอีเวนต์ระดับโลก รวมถึงจะมีการดำเนินกิจกรรมด้านการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ตลอดทั้งปี เชื่อมั่นว่าจะเป็นอีกส่วนสำคัญที่ทำให้จีดีพีไทยในปีนี้ขยายตัวได้ประมาณ 3.2% และช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยสู่เป้าหมาย 35 ล้านคนในปีนี้”

 ด้าน นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย กล่าวว่า ในการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์สาขาอาหาร ที่จะใช้งบ 1,000 ล้านบาท รัฐบาลโดยคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ แห่งชาติส่วนหนึ่งจะใช้งบมุ่งเน้นในการฝึกอบรมคนทำอาหารหรือเชฟที่มีทักษะสูง ที่เป็นเชฟอยู่แล้ว และที่ยังไม่เคยเป็น (เป้าหมาย 1 หมื่นคนในปี 2567) เพื่อเพิ่มทักษะการประกอบอาหารไทยในรสชาติที่เป็นไทยแท้ รวมถึงการคิดค้นเมนูใหม่ ๆ โดยใช้วัตถุดิบในการปรุงอาหารในแต่ละท้องถิ่นที่มีอยู่ รวมทั้งมีการจัดแข่งขันการทำอาหารในรูปแบบที่หลากหลาย

วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย

“ปกตินักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเที่ยวไทยส่วนใหญ่จะดูใน 3 เรื่องคือ 1.สถานที่ท่องเที่ยว 2.ที่พัก และ 3.เรื่องอาหาร ส่วนใหญ่มาแล้วก็อยากลิ้มลองอาหารไทยที่เป็นเมนูและรสชาติไทยแท้ รวมถึงเมนูดัง ๆ ในแต่ละท้องถิ่น ซึ่งไม่ว่าเขาจะมาทานในร้านอาหารดัง ๆ ร้านอาหารที่ได้มิชลินสตาร์ ร้านท้องถิ่น หรือร้านสตรีทฟู้ด เมื่อทานแล้วมีความชื่นชอบ ก็จะไปบอกต่อทำให้ผู้บริโภคทั่วโลกสนใจอาหารไทยมากขึ้น ซึ่งจะเป็นพลังที่แข็งแกร่งมาก”

ทั้งนี้ผลที่จะตามมา จากการสร้างการรับรู้ในเรื่องชื่อเสียงอาหารไทยที่แพร่กระจายออกไป ทั้งจากผ่านนักท่องเที่ยว จากอินฟลูเอนเซอร์ ที่เป็นคนดังหรือคนที่มีชื่อเสียง หรือผ่านการได้รับรางวัลจากการจัดอันดับอาหารยอดเยี่ยมระดับนานาชาติ และช่องทางอื่น ๆ จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มในการบริโภคอาหารไทยในประเทศ และช่วยเพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้าอาหารไทย ตลอดจนเครื่องปรุงรส เครื่องเทศ และวัตถุดิบในการประกอบอาหาร ทั้งผ่านร้านอาหารไทยในต่างประเทศ ผ่านการชมภาพยนตร์ไทย รวมถึงในครัวเรือนของชาวต่างชาติที่เคยมาเที่ยวเมืองไทยที่ซื้อวัตถุดิบไปปรุงทานเองที่บ้าน ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าการส่งออกอาหารของไทยได้อีกมาก

“ข้อมูลล่าสุดของศูนย์วิจัยกสิกรไทย มูลค่าการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มในประเทศปี 2565 อยู่ที่ 2.57-2.59 ล้านล้านบาท (+1.9 ถึง 2.7%) ขณะที่การส่งออกอาหารอยู่ที่ 1.51 ล้านล้านบาท (+22.3%) รวมสองตลาดกว่า 4 ล้านล้านบาท เพิ่มจากปี 2564 ที่การบริโภคในประเทศอยู่ที่ 2 ล้านล้านบาท และการส่งออกอยู่ที่ 1 ล้านล้านบาท หากซอฟต์พาวเวอร์สามารถทำได้อย่างแข็งแรงและมีพลัง และสามารถทำให้การบริโภคภายในและการส่งออกโตได้ปีละ 10% จะทำให้ตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศขยายตัวได้อีกมาก” นายวิศิษฐ์ กล่าว

สอดคล้องกับ นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ททท.จะเน้นขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ เพื่อสร้างจุดขายด้านการท่องเที่ยวของไทย ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหาร ซึ่งเป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์ที่ทรงอิทธิพลทางวัฒนธรรมระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นการโปรโมทอาหารถิ่น และการสนับสนุน คู่มือ มิชลิน ไกด์ ประเทศไทย ที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยวของไทยให้เติบโตผ่านรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงอาหาร

โดยสามารถดึงดูดให้นักท่องเที่ยวจำนวนมากเดินทางมาเยือนไทยเพิ่มขึ้น จากผลการศึกษาวิจัยจำนวน 3 ครั้ง ตั้งแต่เริ่มโครงการในปี 2560 คาดว่า มิชลิน ไกด์ ประเทศไทย สามารถสร้างรายได้มูลค่าส่วนเพิ่มด้านอาหารของประเทศไทยให้กับการท่องเที่ยวแล้วสูงกว่า 1,300 ล้านบาท รวมถึงการส่งเสริมการจัดงานเฟสติวัลต่างๆ ที่ตลอดทั้งปีทั่วไทย รวมกว่า 3 หมื่นอีเว้นท์ ที่จะสร้างให้มีกิจกรรม 365 วันทั่วไทย โดยกิจกรรมหลักจะเป็นมหาสงกรานต์ World water Festival

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3956 วันที่ 11 - 13 มกราคม พ.ศ. 2567