ครม.สั่งมหาดไทยคุม "ปิดผับตี 4" ห้ามเสียงดังรบกวน หลังเจอร้องเพียบ

04 ม.ค. 2567 | 00:19 น.

ครม.สั่งการกระทรวงมหาดไทย คุมเข้ม "ปิดผับตี 4" หาวิธีแก้ปัญหาเสียงดังรบกวน หลัง สปน. รายงานข้อมูลร้องเรียนประชาชน พบเรื่องร้องเรียนจากเสียงดังรบกวนจากสถานบันเทิงสูงที่สุดกว่า 5,785 เรื่อง

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งล่าสุด ได้สั่งให้กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดรูปแบบ แนวทาง กระบวนงาน หรือขั้นตอนในการระงับเหตุ หรือการแก้ไขปัญหาเสียงดังรบกวนของสถานบันเทิง ใน 4 พื้นที่ท่องเที่ยวนำร่อง หลังจากสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) รายงานเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นจากประชาชน ประจำปีงบประมาณ 2566 พบว่าประชาชนร้องเรียนเรื่องเสียงดังรบกวนจากสถานบันเทิงสูงที่สุดกว่า 5,785 เรื่อง

โดยที่ประชุมครม. ยังขอความร่วมมือให้กระทรวงมหาดไทย รายงานสรุปผลการดำเนินการให้ สปน. ทราบทุกไตรมาส เพื่อจะได้นำเสนอนายกรัฐมนตรีต่อไป

ทั้งนี้ สปน. ได้ประมวลผลและวิเคราะห์เรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 พบว่า มีเรื่องร้องทุกข์ จํานวน 57,399 เรื่อง น้อยกว่าปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวน 10,520 เรื่อง (มีเรื่องราวร้องทุกข์ จำนวน 67,919 เรื่อง) โดยประเด็นเรื่องร้องทุกข์ที่ประชาชนยื่นเรื่องมากที่สุด คือ เสียงรบกวน/สั่นสะเทือน เช่น การแสดงดนตรีสด การเปิดเพลงเสียงดังของร้านอาหารและสถานบันเทิง การรวมกลุ่มมั่วสุมดื่มสุรา สังสรรค์ช่วงเทศกาล รวม 5,785 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 5,607 เรื่อง หรือคิดเป็น 96.92%

รองลงมาคือ เรื่องไฟฟ้า เช่น ขอให้ขยายเขตการให้บริการไฟฟ้า ขอให้ติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างริมทาง ขอให้ลดอัตราค่าไฟฟ้า ขอให้ตรวจสอบการคิดอัตราค่าไฟฟ้าที่สูงกว่าปกติ ขอผันผ่อนการชำระค่าไฟฟ้า รวม 3,575 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 3,309 เรื่อง และ การเมือง เช่น การแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้ง การลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรี การจัดตั้งรัฐบาล นโยบายของพรรคการเมือง รวม 2,355 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 2,328 เรื่อง ตามลำดับ

สำหรับประเด็นปัญหาเสียงดังรบกวนที่มีประชาชนร้องเรียน ร้องทุกข์มากที่สุดมากกว่า 5,785 เรื่องนั้น เกิดจากสาเหตุ เช่น เสียงดังจากสถานบันเทิง ร้านอาหาร สถานประกอบการ การก่อสร้างอาคารบ้านเรือน ซึ่งเป็นมลพิษทางเสียงส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย สุขภาพจิต การเรียนรู้ และการทำงานของประชาชน

ทั้งนี้จากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า เมื่อประชาชนได้แจ้งเรื่องร้องเรียน ร้องทุกข์ดังกล่าวไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว เจ้าหน้าที่ไม่สามารถไปตรวจสอบที่เกิดเหตุได้ในทันที หรือเมื่อไปถึงสถานที่เกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ใช้วิธีการไกล่เกลี่ยมากกว่าการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง 

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังขาดอุปกรณ์เครื่องมือในการตรวจวัดระดับความดังของเสียง จำนวนบุคลากรที่ไม่เพียงพอ และมีบทลงโทษผู้กระทำผิดไม่รุนแรง ทำให้ผู้ประกอบการขาดความตระหนักถึงผลกระทบของการอยู่ร่วมกันในสังคม จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ปัญหายังคงเกิดขึ้นซ้ำบ่อยครั้ง 

อีกทั้งปัญหาดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานและกฎหมายหลายฉบับ ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายในการกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว โดยขยายระยะเวลาการเปิดให้บริการของสถานบันเทิงใน 4 พื้นที่ท่องเที่ยว นำร่องถึงเวลา 04.00 น. ได้แก่กรุงเทพมหานคร จังหวัดชลบุรี เชียงใหม่ และภูเก็ต ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวมีการร้องทุกข์เกี่ยวกับปัญหาเสียงดังจากสถานบันเทิงจำนวนมาก จึงอาจส่งผลให้มีการร้องเรียน/ร้องทุกข์ในปัญหาดังกล่าวเพิ่มขึ้นด้วย