“ดีเอสไอ” พบพิรุธประมูลสายสีส้ม สั่งคมนาคม-รฟม.สอบ

26 ธ.ค. 2566 | 23:40 น.

ดีเอสไอ ทำหนังสือถึง ปลัดคมนาคม -ผู้ว่าฯ รฟม. เช็คข้อมูลด่วน หลังตรวจสอบพบ คณะกรรมการคัดเลือก ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ไม่ตรวจสอบคุณสมบัติเอกชน สุ่มเสี่ยงกระบวนการคัดเลือกที่อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย

โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี ยังเป็นประเด็นร้อนต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีทีท่าว่าจะลงนามสัญญากับผู้ชนะการประมูลเพื่อดำเนินการก่อสร้างให้ทันตามแผนที่วางไว้ เนื่องจากยังต้องรอคำตัดสินจากศาลปกครองสูงสุดก่อน

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้ทำหนังสือถึงปลัดกระทรวงคมนาคม และ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โดยขอให้ทั้งสองหน่วยงานช่วยดำเนินการตรวจสอบขั้นตอนและกระบวนการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) หลังตรวจสอบข้อมูลพบว่า กระบวนการคัดเลือกอาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยเฉพาะกรณีของการไม่ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้เสนอราคา

“หนังสือที่ดีเอสไอส่งมาระบุว่า หลังจากได้ตรวจสอบเรื่องนี้พบว่าในการคัดเลือกโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม คณะกรรมการคัดเลือกไม่ได้ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้เสนอราคา โดยแจ้งว่าในเมื่อมีผู้เสนอราคาเพียงแค่ 2 ราย แต่กลับไม่ตรวจสอบคุณสมบัติ มิหนำซ้ำยังพบว่าหนึ่งในสองรายมีประเด็นปัญหาเรื่องของคุณสมบัติด้วย จึงถือเป็นการกระทำที่สุ่มเสี่ยง และอาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย” แหล่งข่าวระบุ

 

“ดีเอสไอ” พบพิรุธประมูลสายสีส้ม สั่งคมนาคม-รฟม.สอบ

สำหรับหนังสือฉบับดังกล่าว มีเนื้อหาระบุว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้สืบสวนพบว่า คณะกรรมการคัดเลือก ซึ่งมีหน้าที่ต้องตรวจสอบคุณสมบัติของผู้เสนอราคาในขั้นตอนแรก กลับไม่ตรวจสอบคุณสมบัติ เป็นเหตุให้บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ซึ่งเป็นผู้ยื่นเสนอราคาหนึ่งในสองราย ได้รับการประกาศให้เป็นผู้ผ่านคุณสมบัติ

ทั้ง ๆ ที่คณะกรรมการผู้มีอำนาจลงนามของบริษัทได้ถูกศาลพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก อันเป็นกรณีที่มีลักษณะของเอกชนที่ไม่สมควรให้ร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุนกับรัฐ ตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เรื่องลักษณะของเอกชนที่ไม่สมควรร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 และ ฉบับที่ 2 พ.ศ.2564 ซึ่งได้มีการทักท้วงแล้ว แต่คณะกรรมการคัดเลือกกลับไม่ดำเนินการ จึงเป็นขั้นตอนกระบวนการคัดเลือกที่อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยไม่ได้เป็นการแข่งขันราคาตามที่กำหนดไว้ จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ

แหล่งข่าว กล่าวว่า ประเด็นสำคัญของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มไม่ใช่เรื่องการพิจารณาคดีในศาล แต่มีปัญหาเกี่ยวกับกระบวนการคัดเลือกเอกชนอาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะคณะกรรมการคัดเลือก ต้องปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน และประกาศเชิญชวนที่ออกมาว่า การคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนกับรัฐ คณะกรรมการคัดเลือกต้องตรวจสอบคุณสมบัติของผู้เสนอราคาทุกราย ทั้งที่เรื่องนี้อยู่ในเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (Request for Proposal Documents : RFP)

แต่ข้อเท็จจริงกลับพบว่า คณะกรรมการคัดเลือกไปให้การต่อคณะอนุกรรมการของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การคมนาคม ที่มีนายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นประธานในขณะนั้น ยืนยันว่าไม่ได้ตรวจสอบคุณสมบัติ

ขณะเดียวกันยังพบจากคำให้การต่อดีเอสไอ ยืนยันว่า คณะกรรมการคัดเลือกไม่ได้ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้เสนอราคา รวมทั้งยังพบจากเอกสารเผยแพร่ของประชาสัมพันธ์ของรฟม. ด้วยว่า การตรวจสอบคุณสมบัติไม่ได้ตรวจสอบ เพราะเป็นเรื่องที่ผู้เสนอราคาต้องรับรองตัวเอง

ดังนั้นข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว จึงเป็นที่ยุติว่า ตามออกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ปี 2565 ที่มีผู้เสนอราคาสองรายนั้น คณะกรรมการคัดเลือก ไม่ได้ทำการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้เสนอราคาก่อนที่จะดำเนินการต่อ ถือเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง โดยการไม่ตรวจสอบคุณสมบัติและให้ผ่านได้เลยนั้น ก็เป็นประเด็นคำถามที่ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า เหตุใดถึงได้ดำเนินการในลักษณะนี้

“การตรวจสอบคุณสมบัติของผู้เสนอราคา มีเหตุผลหลัก ๆ คือต้องตรวจสอบว่าเอกชนที่เข้ามาร่วมโครงการมีคุณสมบัติตามที่กำหนดใน RFP หรือไม่ เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายหรือไม่ มีทุนทรัพย์ตามกฎหมายแค่ไหน มีผลงานที่ผ่านมาตรงตามข้อกำหนดอย่างไร รวมถึงการตรวจคุณสมบัติพิเศษ ต้องไปดูว่าเอกชนรายนั้นมีคุณสมบัติต้องห้ามหรือไม่ แปลว่าถ้าไม่ตรวจสอบ นั่นก็แปลว่าไม่รู้” แหล่งข่าว กล่าว

แหล่งข่าว กล่าวเพิ่มเติมว่า อีกเรื่องที่สำคัญคือการประมูลงานตามพรบ.ร่วมทุน ต้องปฏิบัติตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 หรือ พรบ.ฮั้วประมูล ซึ่งการกระทำแบบนี้ อาจจะเข้าข่ายกระทำคามผิดตามมาตรา 12 ของพรบ.ฮั้วประมูล ก็เป็นไปได้ด้วย แต่ทั้งหมดคงต้องรอความชัดเจนอีกครั้งจากกระทรวงคมนาคม และ รฟม. ว่า จะดำเนินการในขั้นตอนต่อไปอย่างไร เพราะกรณีนี้เป็นโครงการใหญ่ อาจต้องมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบต่อไป