"ศาลปกครองกลาง" ยกฟ้องคดีสายสีส้ม ปมทีโออาร์กีดกันการแข่งขัน

25 ก.ค. 2566 | 08:43 น.

"ศาลปกครองกลาง" พิพากษายกฟ้องคดีรถไฟฟ้าสายสีส้ม ไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมให้บีทีเอสซี หลังรฟม.-คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 เปลี่ยนแปลงเกณฑ์ทีโออาร์ เอื้อเอกชนบางราย

ผู้สื่อข่าวรายงายว่า วันนี้ (25 กรกฎาคม 2566) เวลา 13.30 น. ศาลปกครองกลางนัดอ่านคำพิพากษาในคดีที่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (บีทีเอส) ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม กรณีออกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 (ครั้งที่ 2) และออกเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน โดยเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติและหลักเกณฑ์คัดเลือกเอกชนให้แตกต่างจากหลักเกณฑ์เดิม ตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับเดือนกรกฎาคม 2563

ศาลปกครองครองกลางพิพากษายกฟ้องคดีดังกล่าว เนื่องจากคณะกรรมการคัดเลือกฯ และ รฟม. ดำเนินการสอดคล้องไปกับข้อกำหนดของ พรบ.ร่วมทุนปี 2562 ไม่เข้าข่ายเอื้อประโยชน์เอกชนรายใดรายหนึ่ง หรือกีดกัดเอกชนรายใดไม่ให้เข้าร่วม เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ในการประมูลครั้งที่ 2 รฟม.ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนก่อนเปิดรับซองเอกสารเป็นเวลา 60 วัน จึงถือได้ว่าเป็นการกระทำที่ดำเนินการตามรูปแบบกำหนดของ พรบ.ร่วมทุนปี 2562 จึงไม่มีเหตุรับฟังว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย

โดยศาลฯยังวินิจฉัยอีกว่า ประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มและเอกสารการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน ที่ออกโดยรฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ไม่มีลักษณะประการใดที่ทำให้เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีนี้จึงไม่เป็นการกระทำละเมิดแก่บีทีเอสซี โดยรฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บีทีเอสซี

ศาลฯยังวินิจฉัย อีกว่า เอกสารประกาศเชิญชวนฯเห็นชอบด้วยกฎหมายและไม่ได้กีดกันด้านการแข่งขัน เนื่องจากการประกาศเชิญชวนฯและเอกสารการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนที่รฟม.จัดทำขึ้นเมื่อวันที่ 24 พ.ค.65 เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และคุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์ยื่นข้อเสนอเพื่อคัดเลือกเข้าร่วมโครงการฯ ไม่ได้มุ่งหมายให้แก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเฉพาะเจาะจง โดยประกาศเชิญชวนฯนี้มีลักษณะเป็นคำสั่งทางปกครองทั่วไป ซึ่งเป็นเพียงขั้นตอนเตรียมการและดำเนินการภายในของเจ้าหน้าที่ ซึ่งไม่ได้มีผลกระทบต่อบีทีเอสซีที่จะเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย

ทั้งนี้เอกสารเชิญชวนดังกล่าวฯ ได้กำหนดใช้หลักเกณฑ์จากประโยชน์ทางการเงิน โดยผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องได้คะแนนแต่ละซองไม่น้อยกว่า 85% และได้คะแนนรวมทั้งหมดไม่น้อยกว่า 90% จึงจะผ่านการพิจารณา รวมถึงการกำหนดคุณสมบัติ,ประสบการณ์และผลงานโดยตรงกับภาครัฐที่ดำเนินการแล้วเสร็จภายใน20ปี เพื่อให้งานมีศักยภาพ สามารถตรวจสอบผลงานของผู้ก่อสร้างได้อย่างละเอียด ครบถ้วน ซึ่งประกาศเชิญชวนดังกล่าว ถือมีดุลพินิจตามเห็นสมควรที่สามารถตรวจสอบได้ อีกทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้เอกชนรายอื่นสามารถแข่งขันให้เกิดความเป็นธรรม

ที่ผ่านมาหลังจากรฟม.เปิดรับฟังความคิดเห็นภาคเอกชน โดยให้เอกชนยื่นเอกสารข้อเสนอในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม พบว่า บีทีเอสซีได้ขอรฟม.ขยายระยะเวลาการรับซองข้อเสนอของเอกชนออกไปอีก 60 วัน เพื่อให้บีทีเอสซีสามารถหาพันธมิตรร่วมทุนในโครงการฯได้ทัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าบีทีเอสซีเข้าใจหลักเกณฑ์การประมูลโครงการฯ

ส่วนกรณีที่รฟม.ถือหุ้นบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพฯ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM จำนวน 1,256 ล้านหุ้น คิดเป็น 8.22% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ที่มีการตั้งข้อกล่าวหา ซึ่งขัดต่อการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน จนทำให้ BEM ได้รับประโยชน์จากโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มนั้น

ศาลฯเห็นว่า การถือหุ้นของรฟม.เป็นไปตามสัญญาในโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ โดยครม.ได้มีมติอนุมัติเมื่อวันที่ 31 พ.ค.48 ประกอบกับการถือหุ้นของรฟม.เป็นไปเพื่อให้มีส่วนร่วมในการกำกับดูแลและกำหนดนโยบายในการดำเนินกิจการโครงการฯตามนโยบายของรัฐที่จะทำให้ประชาชนที่ใช้บริการได้รับความสะดวกปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งกรณีนี้ไม่อาจรับฟังได้ว่ารฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา36 กระทำการโดยทุจริตมุ่งหมายไม่ให้มีการแข่งขันเสนอราคาอย่างเป็นธรรม