กสิกรไทย จับตามาตรการแก้หนี้รัฐ เตือนระวัง Moral Hazard 

12 ธ.ค. 2566 | 10:03 น.

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จับตามาตรการแก้หนี้ภาครัฐ ยังไม่สามารถประเมินได้ ต้องรอดำเนินการก่อน เตือน ระวัง Moral Hazard พร้อมปรับคาดการณ์จีดีพีไทยปีนี้ เหลือ 2.5% จากเดิม 3% ภาคการส่งออก-ท่องเที่ยว ไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร หนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง 

จากกรณีที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง  แถลงข่าวถึงการจัดการหนี้ทั้งระบบ โดยได้แบ่งลูกหนี้และมาตรการ ออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่

  • กลุ่มที่ 1 ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
  • กลุ่มที่ 2 กลุ่มที่มีรายได้ประจำ แต่มีภาระหนี้เกินศักยภาพชำระคืน
  • กลุ่มที่ 3 กลุ่มที่มีรายได้ไม่แน่นอน ทำให้การชำระคืนหนี้ไม่ต่อเนื่อง
  • กลุ่มที่ 4 กลุ่มที่เป็นหนี้เสียคงค้างเป็นระยะเวลานาน

นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เผิดเผยถึงมาตรการแก้หนี้ของภาครัฐดังกล่าว โดยระบุว่า ปัจจุบันยังไม่สามารถประเมินศักยภาพของโครงการทั้งหมดที่นายกฯแถลงได้ ต้องรอให้ดำเนินโครงการไปซักระยะก่อน แต่เบื้องต้นเชื่อว่าการออกมาตรการไม่ว่าจะอะไรก็ตาม จะสามารถช่วยทุเลาความรุนแรงของสถานการณ์หนี้ครัวเรือนได้แน่นอน

ทั้งนี้ การแก้หนี้ที่ดี นอกจากการออกมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐและการธนาคารแล้ว จะต้องมีการเพิ่มรายได้เฉลี่ยต่อหัวด้วย ส่วนภาครัฐจะต้องช่วยผู้ที่ประสบปัญหาให้ถูกคน ถูกจุด ปรับโครงสร้างหนี้ จัดหาสินเชื่อที่อัตราดอกเบี้ยเป็นธรรม

และที่สำคัญ ต้องระมัดระวังเกิด Moral Hazard ด้วย เพราะประชาชนจะรู้สึกว่าสามารถเป็นหนี้ได้ หากจ่ายไม่ไหว ภาครัฐก็จะเข้ามาช่วยเหลือจนติดเป็นนิสัย ซึ่งปัจจุบันเกิดขึ้นแล้วบ้างในส่วนของหนี้ภาคการเกษตร 

“เราเห็นปรากฎการณ์ Moral Hazard ในภาคการเกษตรแล้ว ประชาชนรู้สึกว่าตัวเองเป็นหนี้ได้ แล้วก็รอความช่วยเหลือ กลายเป็นว่าแบงก์รัฐคือตัวการที่ทำให้เกิดปัญหาเสียเอง”

 

หั่นจีดีพีไทยปีนี้เหลือ 2.5%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2566 เหลือ 2.5% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ 3% โดยมีปัจจัยจากการที่เศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนยังชะลอตัวต่อเนื่อง ส่งผลกระทบกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่มองว่าจะเข้ามาเพียง 27.6 ล้านคนในปีนี้

ทั้งนี้แม้ภาคการส่งออกสินค้าจะหดตัวน้อยหว่าที่ประเมินไว้ ราว -1.3% ถือว่าติดลบน้อยลงจาก -2.5% นั้น แต่ภาคการผลิตยังชะลอตัว รวมถึงอุปสงค์ภายในประเทศยังได้รับผลจากการที่การท่องเที่ยวที่ไม่ฟื้นตัวเต็มที่ และหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง

สำหรับปี 2567 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวที่ 3.1% จากการบริโภคและลงทุนภาครัฐที่จะกลับมาขยายตัว รวมถึงการส่งออกสินค้าคาดว่าขยายตัว 2% ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวน่าจะเพิ่มขึ้นได้ถึง 30.6 ล้านคนจาก 27.6 ล้านคนในปีนี้

“การประเมินของเรายังไม่รวมมาตรการดิจิทัล วอลเล็ต หากรวมแล้ว คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะโตได้ 3.6% ส่วนประมาณการอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับ 0.8% จากราคาน้ำมันที่มองว่าปีหน้าจะมีค่าเฉลี่ยที่ 72.5 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล”

  บุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด

คาด เฟด คงดอกเบี้ย ปรับอีกทีไตรมาส 2

ในการประชุม FOMC วันที่ 12-13 ธ.ค. นี้ คาดว่าเฟดจะคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 5.25-5.50% อย่างต่อเนื่อง หลังจากเงินเฟ้อสหรัฐฯ ปรับลดลงกว่าคาดและตลาดแรงงานสหรัฐฯ เริ่มส่งสัญญาณอ่อนแรงลง 

ทั้งนี้ แม้เงินเฟ้อสหรัฐฯ จะยังทรงตัวในระดับสูงกว่าเป้าหมายของเฟดที่ 2.0% ค่อนข้างมาก แต่ทิศทางเงินเฟ้อที่ชะลอลงประกอบกับตัวเลขยอดค้าปลีกและการใช้จ่ายผู้บริโภคที่อ่อนแรงลงก็ช่วยลดความกังวลเกี่ยวกับแรงกดดันด้านเงินเฟ้อในสหรัฐฯ 

นอกจากนี้ ในด้านตลาดแรงงานเริ่มสูญเสียโมเมนตัมและกลับสู่จุดสมดุลมากขึ้น  ขณะที่ เมื่อมองไปข้างหน้า คาดว่าเฟดจะยังคงมีมุมมองระมัดระวังในการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป โดยเฟดคงจะต้องชั่งน้ำหนักระหว่างแรงกดดันเงินเฟ้อที่มีทิศทางทรงตัวในระดับสูงและความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอลงในระยะข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าเฟดจะยังคงมีมุมมองที่ระมัดระวังและไม่ส่งสัญญาณปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในปีหน้ามากอย่างที่ตลาดคาดการณ์ไว้ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าเฟดอาจพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยนโยบายอย่างเร็วสุดในช่วงไตรมาส 2/2567 ไปแล้ว เนื่องจากเฟดคงต้องการเห็นตัวเลขเงินเฟ้อและตลาดแรงงานชะลอลงมากกว่านี้เพื่อให้มั่นใจว่าเงินเฟ้อมีแนวโน้มกลับสู่เป้าหมายและไม่กลับมาพุ่งสูงขึ้นอีกครั้ง

"ท่ามกลางความไม่แน่นอนเกี่ยวกับจังหวะการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ ค่าเงินบาทของไทยมีแนวโน้มที่จะยังเผชิญความผันผวนต่อไปในระยะข้างหน้า โดยหากเฟดคงดอกเบี้ยนโยบายยาวนานกว่าคาด ค่าเงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันจากการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์ฯ ได้"