เศรษฐา ลุยแก้หนี้คนไทยกว่า 10.3 ล้านราย ย้ำปัญหาต้องจบในรัฐบาลนี้  

12 ธ.ค. 2566 | 09:00 น.

เศรษฐา ลุยแก้หนี้ในระบบดันมาตรการระยะเร่งด่วนครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย "ข้าราชการ-เอสเอ็มอี-เกษตรกร-นักศึกษา-ประชาชน" ตั้งเป้าแก้หนี้ในระบบให้คนไทยได้กว่า 10.3 ล้านราย ประกาศชัด ปัญหาหนี้ต้องจบภายในรัฐบาลนี้

12 ธันวาคม 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแถลงข่าวจัดการหนี้ทั้งระบบ โดยมีกฤษฎา จีนะวิจารณะ และจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมแถลง 

นายเศรษฐา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัญหาหนี้สินเป็นปัญหาเรื้อรังที่อยู่ในสังคมไทยมายาวนานทั้งในส่วนของหนี้นอกระบบซึ่งรัฐบาลได้กำหนดการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเป็นวาระแห่งชาติตามที่ได้แถลงนโยบายไว้ต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 28 พ.ย.ที่ผ่านมา และอีกครั้งเมื่อวันที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมา 

วันนี้ขอพูดถึงหนี้ในระบบซึ่งมีปัญหาไม่แพ้หนี้นอกระบบซึ่งส่งผลกระทบต่อการทำงาน บางรายเป็นหนี้เสียคงค้างเป็นเวลานานจนขาดโอกาสในการประกอบอาชีพ ดังนั้น การดูแลลูกหนี้ในระบบที่ประสบปัญหาจึงถือเป็นวาระแห่งชาติ โดยรัฐบาลจะให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาหนี้ทั้งระบบ ทั้งการจัดการกวาดล้างหนี้นอกระบบ และการดูแลลูกหนี้ในระบบให้ได้รับสินเชื่ออย่างเหมาะสมและเป็นธรรม

เศรษฐา ลุยแก้หนี้คนไทยกว่า 10.3 ล้านราย ย้ำปัญหาต้องจบในรัฐบาลนี้  

การมีลูกหนี้ที่ดีเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม อย่างไรก็ดี จากสภาพเศรฐกิจในช่วงที่ผ่านมาทำให้กลไกต่าง ๆ ติดขัดหลายประการด้วยกันจนปัญหาสั่งสมมาใหญ่จนเกิดจะแก้ไขได้โดยปราศจากการช่วยเหลือจากภาครัฐ

ทั้งนี้ ขอแบ่งกลุ่มลูกหนี้ที่ประสบปัญหาออกเป็น  4 กลุ่ม ดังนี้

กลุ่มที่ 1 คือ ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด

กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มลูกหนี้ที่มีรายได้ประจำแต่มีภาระหนี้จำนวนมาก

กลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มลูกหนี้ที่มีรายได้ไม่แน่นอนทำให้เกิดการชำระหนี้ไม่ต่อเนื่อง

กลุ่มที่ 4 คือ กลุ่มลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียคงค้างเป็นระยะเวลายาวนาน

ทั้งนี้ ทั้ง 4 กลุ่มมีข้อสังเกตประการหนึ่ง คือ ไม่สามารถผ่อนชำระหนี้ได้จนกระทั่งกลายเป็นหนี้เสียจึงถูกเรียกดอกเบี้ยปรับเพิ่มและวนกลับไปทำให้ชำระไม่ไหวส่งผลให้ติดเครดิตบูโรไม่สามารถขอสินเชื่อในระบบต่อได้ บางรายค้างชำระเป็นเวลานานก็จะถูกดำเนินการตามกฎหมายอย่างไรก็ดี มีต้นตอที่แตกต่างกัน รัฐบาลจึงเตรียมแนวทางเพื่อช่วยเหลือที่แตกต่างกัน ดังนี้ 

เศรษฐา ลุยแก้หนี้คนไทยกว่า 10.3 ล้านราย ย้ำปัญหาต้องจบในรัฐบาลนี้  

กลุ่มที่ 1 คือ ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด

สำหรับลูกหนี้กลุ่มนี้มีประวัติการชำระหนี้ดีมาตลอดแต่จากสถานการณ์โควิดทำให้ธุรกิจต้องสะดุดหยุดลง ขาดสภาพคล่องจนไม่สามารถชำระคืนหนี้ได้ บางรายเป็นหนี้ครั้งแรกในช่วงโควิดเพราะต้องการเงินทุนไปหมุนเวียนสุดท้ายกลายเป็นหนี้เสีย ไม่สามารถทำธุรกิจต่อได้ จึงต้องได้รับการช่วยเหลือให้หลุดพ้นจากการเป็หนี้เสีย หรือ ได้รับการพักชำระหนี้เพื่อผ่อนปรนภาระเป็นการชั่วคราว 

สำหรับลูกหนี้รายย่อยซึ่งส่วนใหญ่มีหนี้เสียกับธนาคาร ธ.ก.ส.และออมสิน รัฐบาลกำหนดให้ธนาคารทั้งสองแห่งติดตามทวงถามหนี้ตามสมควรและให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้กลุ่มนี้เพื่อไม่ให้เป็นหนี้เสียอีกต่อไป โดยคาดว่าจะช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยกลุ่มนี้ได้ประมาณ 1.1 ล้านราย

ส่วนลูกหนี้เอสเอ็มอี สถาบันการเงินของรัฐจะเข้าไปช่วยเหลือผ่านการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และพักชำระหนี้ให้ลูกหนี้เอสเอ็มอีที่อยู่กับแบงก์รัฐทั้งบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล เป็นเวลา 1 ปี โดยคาดว่าจะช่วยเหลือลูกหนี้เอสเอ็มอีกลุ่มนี้ได้ครอบคลุมมากกว่า 99 % ของจำนวนลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียในกลุ่มนี้นับเป็นจำนวนกว่า 1 แสนราย 

กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มลูกหนี้ที่มีรายได้ประจำแต่มีภาระหนี้จำนวนมากจนเกินศักยภาพ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้  

1. กลุ่มข้าราชการ ตำรวจ ครู และทหาร ที่มักจะมีหนี้กับสถาบันการเงิน กลุ่มนี้จะได้รับการช่วยเหลือผ่าน 3 แนวทาง คือ

แนวทางแรก คือ ลดดอกเบี้ยสินเชื่อไม่ให้สูงจนเกินไปเพราะเป็นกลุ่มที่มีรายได้ประจำและถือว่ามีความเสี่ยงต่ำ  

แนวทางที่สอง คือ จะต้องโอนหนี้ทั้งหมดไปไว้ในที่เดียว อาทิ สหกรณ์ เพื่อให้การตัดเงินเดือนมาชำระหนี้ทำได้สะดวกและสอดคล้องกับรายได้ของลูกหนี้

แนวทางสุดท้าย คือ บังคับใช้หลักเกณฑ์การตัดเงินเดือนเพื่อให้ลูกหนี้มีเงินเดือนเหลือต่อการดำรงชีพอย่างมีศักดิ์ศรี โดยทั้ง 3 แนวทางต้องทำพร้อมกันทั้งหมด

เศรษฐา ลุยแก้หนี้คนไทยกว่า 10.3 ล้านราย ย้ำปัญหาต้องจบในรัฐบาลนี้  

2. กลุ่มที่เป็นหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล 

ปรับโครงสร้างหนี้ผ่าน "คลินิกแก้หนี้" debtclinibysam.com โดยสามารถผ่อนได้นานถึง 10 ปี ลดดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 3-5 ต่อปี

กลุ่มที่ 3 กลุ่มผู้มีรายได้ไม่แน่นอนทำให้การชำระคืนหนี้ไม่ต่อเนื่อง

กลุ่มนี้จะได้รับการพักชำระหนี้เป็นการชั่วคราว การลดดอกเบี้ย หรือลดเงินผ่อนชำระในแต่ละคนให้ต่ำลง เพื่อให้สอดคล้องกับรายได้ของหนี้ เช่น

ลูกหนี้เกษตรกร รัฐบาลมีโครงการพักชำระหนี้ให้เกษตรกรโดยถ้วนหน้า โดยพักทั้งหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 ปี มีเกษตรกรเข้าร่วมพักหนี้แล้วกว่า 1.5 ล้านราย  

ลูกหนี้ กยศ. บางส่วนยังไม่มีงานทำ ได้มีการปรับโครงสร้างหนี้ ลดดอกเบี้ย ลดเบี้ยปรับ และเปลี่ยนลำดับการตัดชำระหนี้ เป็นต้น 

ลูกหนี้เช่าซื้อรถยนต์ หรือ รถมอเตอร์ไซต์ สำนักงานกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้ออกประกาศเพื่อกำหนดอัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อ เช่น กรณีเช้าซื้อรถใหม่ต้องคิดดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 10 ต่อปี กรณีรถจักรยานยนต์ต้องไม่เกินร้อยละ 23 ต่อปี และลดดอกเบี้ยผิดนัดชำระให้ต่ำลง รวมทั้งให้ส่วนลดหากลูกหนี้สามารถปิดบัญชีได้ก่อนกำหนด 

นอกจากนี้กระทรวงการคลังได้ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย และ สคบ.อยู่ระหว่างปรับแนวทางการดูแลธุรกิจเช่าซื้อให้เข้มข้นมากยิ่งขึ้นเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคด้วย

เศรษฐา ลุยแก้หนี้คนไทยกว่า 10.3 ล้านราย ย้ำปัญหาต้องจบในรัฐบาลนี้  

กลุ่มที่ 4 กลุ่มหนี้เสียคงค้างกับธนาคารเป็นเวลานาน

กลุ่มนี้จะโอนไปยังบริษัทบริหารสินทรัพย์ซึ่งเกิดจากการร่วมทุนกับสถาบันการเงินของรัฐและบริษัทบริหารสินทรัพย์เพื่อจะทำให้การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้เป็นไปอย่างคล่องตัวมากขึ้น คาดว่ามาตรการนี้จะช่วยเหลือลูกหนี้ได้ประมาณ 3 ล้านราย

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้เป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุในระยะเร่งด่วนเพื่อต่อลมหายใจให้กับลูกหนี้ทุกคน ในระยะยาวควรมีการแก้ปัญหาในระดับโครงสร้างโดยยกระดับให้บริการสินเชื่อให้เหมาะสมและเป็นธรรมโดยกระทรวงการคลังได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแนวทางเพื่อยกระดับการให้สินเชื่อและการค้ำประกันสินเชื่อให้สะท้อนความเสี่ยงของลูกหนี้ได้มากขึ้น

รวมทั้งมีมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคที่เหมาะสมและป้องกันปัญหาการก่อหนี้ เช่น หลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม โดย ธปท.กำหนดให้สถาบันการเงินกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกหนี้ และกำหนดให้การผ่อนชำระสินเชื่อต้องให้ผู้กู้ยืมเงินเหลือเพียงพอต่อการดำรงชีพ

รวมถึงการพิจารณาข้อมูลอื่นนอกจากประวัติการให้สินเชื่อ เช่น ประวัติการชำระค่าน้ำ ค่าไฟ การผลักดันให้สหกรณ์ออมทรัพย์และสหรกรณ์เครดิยูเนี่ยนรายงานข้อมูลไปยังเอ็นซีบี เพื่อให้ผู้ให้สินเชื่อประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ได้และการจัดการบุริมสิทธิในการตัดเงินเดือนของลูกหนี้ที่เป็นหนี้เพื่อชำระหนี้ได้อย่างเหมาะสม เป็นต้น

นอกจากนี้กลุ่มลูกหนี้ที่มีปัญหาเรื้อรัง ธปท.กำหนดให้เจ้าหนี้ต้องปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในการชำระ รวมทั้งปรับลดอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ รวมกันไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี และจบหนี้ให้ได้ภายใน 5 ปี 

ในตอนท้ายนายเศรษฐา นายกรัฐมนตรีและรมว.คลังประกาศย้ำว่า การแก้ปัญหาหนี้ต้องแก้ให้จบภายในรัฐบาลชุดนี้