บิ๊กสภาอุตฯ รับได้ปรับค่าจ้าง ราคาสินค้าจ่อขยับ วอนรัฐอย่าบีบปรับขึ้นอีก

09 ธ.ค. 2566 | 08:13 น.

บิ๊กสภาอุตฯชี้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำอีก 2-16 บาททั่วประเทศ ผ่านกลไกไตรภาคียอมรับได้ จับตาผลกระทบหลังค่าแรง ค่าไฟ ดอกเบี้ยปรับเพิ่มพร้อมกัน ผู้ประกอบการแบกรับภาระไม่ไหว สต๊อกเก่าหมดเมื่อไรปรับขึ้นราคาสินค้าแน่ ตีกันรัฐบาลอย่ามาแทรกแซงบีบปรับเพิ่มค่าจ้างขึ้นอีก

จากที่ประชุมคณะกรรมการ(บอร์ด)ค่าจ้างชุดที่ 22 ที่มีนายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธาน (8 ธ.ค. 2566) ได้มีมติเห็นชอบการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2567 หรือปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้กับภาคแรงงานทั่วประเทศ  โดยจะเพิ่มขึ้นอัตราวันละ 2-16 บาท เฉลี่ย 2.37% โดยกระทรวงแรงงาน จะนำเสนอที่ประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบในวันที่ 12 ธันวาคม 2566 ซึ่งหากผ่านการเห็นชอบจาก ครม. แล้ว จะประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไปนั้น

นายเกรียงไกร  เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ในมุมของลูกจ้างหรือผู้ใช้แรงงาน การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะส่งผลดี ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น และมีกำลังจับจ่ายเพิ่มขึ้นในภาวะค่าครองชีพที่สูง ขณะในมุมผู้ประกอบการจะส่งผลทำให้ต้นทุนด้านแรงงานของผู้ประกอบการสูงขึ้น เมื่อผนวกกับค่าไฟฟ้าที่เป็นอีกหนึ่งในต้นทุนสำคัญที่จะปรับขึ้นอีกในงวดเดือนมกราคม-เมษายน 2567  จากปัจจุบันอยู่ที่ 3.99  บาทต่อหน่วย

รวมถึงผู้ประกอบการยังมีต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นจากอัตราดอกเบี้ย จะทำให้ผู้ประกอบการหลายกลุ่มสินค้าอาจต้องขอปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้น มากน้อยแตกต่างกันไปตามต้นทุนในแต่ละอุตสาหกรรมที่แตกต่างกัน ซึ่งจะเป็นการปรับขึ้นในสินค้าที่ผลิตใหม่ ในต้นทุนใหม่ หลังสต๊อกสินค้าเก่าในต้นทุนเดิมหมดแล้ว

“ค่าแรงที่จะปรับขึ้น เป็นอีกปัจจัยลบที่จะส่งผลให้ต้นทุนของผู้ประกอบการเพิ่มสูงขึ้น นอกจากต้นทุนทางการเงินที่ดอกเบี้ยเงินกู้ยังสูงอยู่ ซึ่งต้นทุนในเรื่องค่าแรงขั้นต่ำนี้เราทราบดีว่าอย่างไรก็ต้องปรับขึ้น และเมื่อปรับขึ้นก็ทำให้ต้นทุนสูงขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งค่าแรงที่ปรับขึ้นตามกลไกไตรภาคี เป็นต้นทุนที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ ผู้ประกอบการก็ถือว่ายังพอไปไหว แต่ถ้ารัฐบาลมีการเข้ามาแทรกแซงไม่เป็นไปตามไตรภาคี เช่นจะขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำไปเลยแบบพรวดพราด อันนี้ก็จะส่งทำให้ผู้ประกอบการจำนวนมากอาจจะรับไม่ไหว”

อนึ่ง ค่าจ้างขั้นต่ำที่ปรับใหม่มี 17 อัตรา (ปรับขึ้นต่ำสุด 2 บาท และสูงสุด 16 บาทต่อวัน) ครอบคลุม 77 จังหวัด โดยเฉลี่ยทั่วประเทศเพิ่มขึ้น 2.37% จังหวัดที่ได้ค่าจ้างสูงสุด คือ ภูเก็ต อัตราค่าจ้าง 370 บาทต่อวัน เพิ่มขึ้นวันละ 16 บาท (เดิม 354 บาทต่อวัน) คิดเป็น 4.52% สำหรับจังหวัดที่ได้ค่าจ้างต่ำสุดของประเทศได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี และยะลา อยู่ที่ 330 บาท  เพิ่มขึ้นอีก 2 บาท (เดิม 328 บาทต่อวัน) คิดเป็น 0.61% 

ขณะที่ กทม. และปริมณฑล (นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร) อัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ 363 บาท เพิ่มขึ้นอีกวันละ 10 บาท (เดิม 353 บาท) คิดเป็น 2.832% หลังจากนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นวันที่ 12 ธันวาคม 2566 แรงงานทั่วประเทศ จะได้รับค่าจ้างใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567