มาตรการรัฐหนุน เงินเฟ้อ พ.ย.2566 หดตัว 0.44% ต่ำสุดรอบ 33 เดือน

07 ธ.ค. 2566 | 03:43 น.

พาณิชย์ เผยเงินเฟ้อทั่วไป เดือนพ.ย.2566 หดตัว 0.44% ลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 และต่ำสุดรอบ 33 เดือน หลังได้แรงหนุนมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐ ส่วนคาดปี 2567 คาดเงินเฟ้ออยู่ระหว่าง -0.3% ถึง 1.7%

วันนี้ (7 ธันวาคม 2566) นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีเศรษฐกิจการค้า ประจำเดือนพฤศจิกายน 2566 โดยดัชนีราคาผู้บริโภค หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไป อยู่ที่ 107.45 ลดลง 0.44% ลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 จากเดือนพฤศจิกายน 2565 อยู่ที่ 107.92 ต่ำสุดในรอบ 33 เดือน หรือเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564

สำหรับสาเหตุสำคัญมาจากมาตรการลดค่าครองชีพภาครัฐ ทำให้สินค้ากลุ่มพลังงานปรับลดลง โดยเฉพาะราคาน้ำมัน กลุ่มดีเซล และแกสโซฮอล์ 91 รวมถึงราคาเนื้อหมู ไก่สด และน้ำมันพืช ที่มีราคาต่ำกว่าปีที่ผ่านมา ส่วนราคาสินค้าและบริการอื่น ๆ ยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางที่ปกติ 

โดยมีการเคลื่อนไหวในหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลง 0.87% เป็นผลมาจากสินค้ากลุ่มพลังงานมีราคาลดลงต่อเนื่อง ทั้งค่าไฟฟ้า น้ำมัน ค่าโดยสารรถไฟฟ้า ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม เครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องซักผ้า เครื่องปรับอากาศราคาลดลงต่อเนื่อง 

แต่หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ปรับสูงขึ้น 0.20% ตามราคาสินค้าสำคัญที่มีราคาปรับสูงขึ้น ทั้งข้าวสาร แป้ง ผลิตภัณฑ์จากแป้ง ไข่ นมข้นหวาน นมเปรี้ยว และนมถั่วเหลือง รวมทั้งกาแฟผงสำเร็จรูป อาหารสำเร็จรูป และอาหารเช้าที่ราคาปรับสูงขึ้นเล็กน้อย

 

มาตรการรัฐหนุน เงินเฟ้อ พ.ย.2566 หดตัว 0.44% ต่ำสุดรอบ 33 เดือน

 

ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2566 พบว่า ลดลง 0.25% โดยมีการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลง 0.58% ส่วนหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ปรับสูงขึ้น 0.23% ทำให้อัตราเงินเฟ้อไทยช่วง 11 เดือน (มกราคม - พฤศจิกายน 2566) สูงขึ้น 1.41%

ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐาน เดือนพฤศจิกายน 2566 อยู่ที่ 104.52 สูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน 0.58% และสูงขึ้น 0.06% เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา โดยเฉลี่ย 11 เดือน พบว่าสูงขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน 1.33%

นายพูนพงษ์ กล่าวว่า แนวโน้มเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนธันวาคม 2566 คาดว่าจะลดลงต่อเนื่อง เนื่องจากราคาสินค้ากลุ่มอาหารอาหารมีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ และเครื่องประกอบอาหาร ที่สำคัญคือมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐ ส่งผลให้ราคาสินค้ากลุ่มพลังงาน และสินค้าที่จำเป็นต่อค่าครองชีพอื่น ๆ และต้นทุนการผลิตมีแนวโน้มลดลง รวมทั้งฐานราคาในปีก่อนยังอยู่สูง

 

มาตรการรัฐหนุน เงินเฟ้อ พ.ย.2566 หดตัว 0.44% ต่ำสุดรอบ 33 เดือน

 

นอกจากนี้แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2567 สนค. ประเมินว่า จะชะลอตัวต่อเนื่องจากปี 2566 โดยมีปัจจัยสนับสนุน คือ แนวโน้มมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐที่อาจมีต่อเนื่อง ส่วนสินค้ามีแนวโน้มปรับขึ้นราคาอย่างจำกัด รวมถึงเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัว

ขณะที่หนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง กดดันการบริโภคของประชาชนบางกลุ่ม ส่วนปัจจัยเสี่ยง คือความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งอิสราเอล-ฮามาส และรัฐเซีย-ยูเครน เช่นเดียวกับค่าเงินบาทที่ผันผวน

อย่างไรก็ตาม สนค.คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2567 จะอยู่ระหว่าง -0.3% ถึง 1.7% โดยมีค่ากลาง 0.7% สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน ภายใต้การเติบโตทางเศรษฐกิจ 2.7-3.7% น้ำมันดิบดูไบ 80-90 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาเรล และอัตราแลกเปลี่ยน 34-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ