ดอกเบี้ยขาลงปีหน้าไม่แรง คาดเริ่มเห็นผลไตรมาส 3

06 ธ.ค. 2566 | 05:11 น.

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มอง ดอกเบี้ยขาลงปีหน้า ไม่แรง คาดเริ่มเห็นผลไตรมาสที่ 3 ปี 2567 ด้าน บลจ. บัวหลวง ระบุ ส่งผลต่อพอร์ทของนักลงทุน กลุ่มตราสารหนี้ หุ้นปันผล กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐาน ขณะที่ราคาทองคำยังอยู่ในระดับสูง

นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แม้หลายฝ่ายจะมองว่าปีหน้าจะเป็นปีที่ดอกเบี้ยอยู่ในขาลง แต่ในมุมมองนักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด จะไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างรวดเร็ว ซึ่งคาดว่าจะทยอยปรับลง เริ่มในช่วงไตรมาสที่ 2-3 

โดยปัจจัยหลักที่ทำให้ เฟด อาจจะไม่สามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้เร็วนั้น ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ยังไม่อยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 2% จึงต้องระมัดระวังในการปรับ แต่ที่แน่นอนแล้ว คือไม่มีสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโนยบาย

ขณะเดียวกันการที่ธนาคารกลางของหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศกลุ่มยุโรป ออกมาแสดงท่าทีปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น น่าจะเป็นสัญญาณกดดันมหาอำนาจเศรษฐกิจอย่างเฟดแห่งสหรัฐฯ ให้แสดงท่าทีปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้แล้ว

“เชื่อว่า โอกาสที่จะเห็นเฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยคือในช่วงครึ่งหลังของปี เฟดน่าจะประเมินก่อนว่าเงินเฟ้อลดลงจริงหรือไม่ ตลาดแรงงานมีปัญหาหรือไม่ เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดีแค่ไหน ถ้าอยู่ ๆ ลดดอกเบี้นในขณะที่เงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูงกว่าเป้านั้นถือว่ามองบวกไปหน่อย”

ทั้งนี้ ถ้าปีหน้าถ้าเฟดเริ่มลดดอกเบี้ยลง ก็จะลดความกดดันต่อค่าเงินบาท ไม่อ่อนตัวลงเร็วเหมือนปีนี้ และจะกลับมาเริ่มอยู่ในระดับเสถียรที่ 33-34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หยุดความชะงักงันของการนำเข้าส่งออก การค้าระหว่างประเทศ และการนำเข้าสินค้า 

สำหรับประเทศไทย แม้เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่ไม่แน่ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายตาม เพราะตามรายงานของ ธปท. ล่าสุดมีท่าทีพอใจกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันพอสมควร โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยเชื่อว่า เศรษฐกิจไทยในปีหน้าโตได้ 3% โดยไม่รวมมาตรการดิจิทัล วอลเล็ต 

ด้าน บลจ. บัวหลวง มองว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด ธปท. และธนาคารกลางต่าง ๆ ทั่วโลก เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการกำหนดทิศทางการลงทุนสำหรับปี 2567 โดยล่าสุดเมื่อพิจารณาจากตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจที่ประกาศออกมานั้น ก็เป็นไปได้ที่จะมีการเริ่มผ่อนคลายลง

โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ มีมุมมองเรื่องนี้คล้ายกันว่า ปีหน้าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยค่อนข้างแน่นอน โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐ เนื่องจากเงินเฟ้อปรับลดลงอย่างมีนัยสำคัญ มาสักระยะหนึ่งแล้ว 

ถ้านโยบายการเงินมีการเปลี่ยนทิศก็จะส่งผลต่อการลงทุน โดยเฉพาะ กลุ่มตราสารหนี้ หุ้นปันผล ไปจนถึงกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐานด้วย ซึ่งทั้งสามมีจุดเด่นคือการจ่ายกระแสเงินสดระหว่างการลงทุนที่สูงกว่าสินทรัพย์ อื่นๆ

ขณะที่ นางสาวฐิภา นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (YLG) เปิดเผยว่า หลังจากราคาทองคำที่ปรับขึ้นมาล่าสุด สามารถยืนเหนือ 2,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์ ได้อย่างน่าสนใจ เพราะมีจังหวะที่ขึ้นไปทำระดับสูงสุดที่ระดับ 2,052 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งใกล้เคียงกับจุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 2,078 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งการปรับขึ้นของราคาทองคำเป็นการปรับตัวขึ้นรับสถานการณ์เงินเฟ้อที่เริ่มควบคุมได้

โดยการที่ เฟด แสดงท่าทีสนับสนุนการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ทรงตัวในระดับสูงมาเป็นระยะเวลานานพอสมควร และเงินเฟ้อเริ่มเข้าใกล้เป้าหมายที่ 2% จึงมีแนวโน้มที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะผ่อนคลายลง ส่งผลดีต่อราคาทองคำ

อย่างไรก็ดี ในระยะสั้นที่ราคาเริ่มปรับตัวขึ้นมาอาจจะมีแรงขายทำกำไรสลับออกมาบ้าง แต่ถ้าหากทองคำสามารถยืนเหนือ 2,018-2,032 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์ได้ จะมีแรงซื้อเข้ามาทำให้เป็นขาขึ้นอย่างชัดเจน

ในส่วนของนักลงทุนแนะนำเสี่ยงเปิดสถานะซื้อ โดยใช้จุดตัดขาดทุนที่ 2,018 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์ ซึ่งหากราคาทองคำกลับมาเป็นขาขึ้นอย่างชัดเจน วายแอลจี ประเมินว่าภายในไตรมาส 1/2567 มีโอกาสที่จะเห็นราคาทองคำขึ้นไปแตะ 2,200 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์

ส่วนราคาทองคำในประเทศในระยะสั้นได้รับแรงกดดันจากค่าเงินบาทที่กลับมาแข็งค่า มองว่าระยะสั้นจะเคลื่อนไหวในกรอบ แนวรับ 33,350-33,600 บาท ส่วนแนวต้านมองในโซน 34,100-34,400 บาท (คำนวณด้วยค่าเงินบาท 34.90 บาทต่อดอลลาร์ ณ วันที่ 30 พ.ย.2566 เวลา 10.20 น.) ส่วนผู้ที่ต้องการเข้าซื้อทองคำเพื่อสะสมแนะนำใช้จังหวะทองคำย่อที่ 33,350-33,600 บาทต่อบาททองคำ