กระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง เข้าครม.สัญจร ลุ้น ทักษิณคิด เศรษฐาทำ

04 ธ.ค. 2566 | 02:47 น.

รายงานพิเศษ : เปิดข้อมูลโครงการก่อสร้าง “กระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง” หลังเตรียมหารือ ครม.สัญจร หนองบัวลำภู ลุ้นรัฐบาลเศรษฐา ดันต่อหรือไม่ หลังโครงการค้างมายาวนานจากแนวคิดตั้งแต่รัฐบาลทักษิณ

การประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ หรือ ครม.สัญจร จังหวัดหนองบัวลำภู ครั้งแรกของรัฐบาล นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน วันนี้ (4 ธันวาคม 2566) มีวาระที่น่าสนใจต้องต้องติดตาม โดยเฉพาะโครงการการลงทุนสำคัญของจังหวัดเลย ที่จะเสนอให้มีการก่อสร้าง “กระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง” หลังจากนางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยอมรับว่าเตรียมเสนอเข้าครม. สัญจร ครั้งนี้พิจารณา

โดยขั้นแรก จะเสนอของบกลางฯ จำนวน 28 ล้านบาท เพื่อดำเนินการจ้างสำรวจออกแบบก่อสร้าง กระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง ซึ่ง รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า การเสนอครั้งนี้ยังไม่ใช่การเสนอเพื่อขออนุมัติก่อสร้าง โดยงบประมาณส่วนหนึ่ง จะเป็นของจังหวัดเลย แต่งบประมาณประมาณที่จะขอครั้งนี้ เป็นงบสำหรับการสำรวจ และออกแบบการก่อสร้าง

ขณะเดียวกันยังต้องทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ EIA แนบไปด้วย ดังนั้นจังหวัดเลย จึงจำเป็นจะต้องมีการออกแบบรูปแบบกระเช้าไฟฟ้า เพื่อประกอบการพิจารณาก่อน ซึ่งหากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เห็นชอบ EIA แล้ว ขั้นตอตต่อไปจะส่งกลับไปให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามขั้นตอนต่อไป 

 

ภาพประกอบข่าว โครงการก่อสร้าง “กระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง” จังหวัดเลย

 

ย้อนอดีต กระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง 

โครงการก่อสร้าง “กระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง” เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2547 หลังนายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้เดินทางตรวจราชการ พื้นที่จังหวัดเลย และสั่งการให้ทำการศึกษาการสร้างกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึงโดยไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม ไม่ตัดต้นไม้ ขณะเดียวกันพื้นที่ป่าด้านล่างให้อนุรักษ์สัตว์ป่า เพื่อให้นักท่องเทียวเห็นสัตว์ป่าในมุมสูง

พร้อมทั้งให้หน่วยงานรัฐไปศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ แต่ก็ยังไม่สำเร็จและค้างมาต่อเนื่องหลายรัฐบาล จนมาถึงรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งได้เดินทางมาประชุมครม.สัญจร ที่จังหวัดอุดรธานี ก็ได้รับฟังข้อเสนอเอกชนในพื้นที่ถึง โครงการก่อสร้าง “กระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง” แต่สุดท้ายก็ยังไม่สามารถผลักดันออกมาได้ โดยรัฐบาลขณะนั้นไม่ได้ตัดสินใจทำโครงการ เพราะขอใช้เวลาศึกษาเพื่อความรอบคอบก่อน

เช่นเดียวกับสมัยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  ซึ่งได้มาประชุม ครม.สัญจร ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งยังไม่ได้พิจารณาโครงการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง แม้จะมีการเสนอเรื่องมาจากการประชุมร่วมกับภาคเอกชนในพื้นที่เช่นกัน ทำให้โครงการค้างอยู่มาหลายรัฐบาล

 

ภาพประกอบข่าว โครงการก่อสร้าง “กระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง” จังหวัดเลย

 

ความคืบหน้าปัจจุบัน

หลังจากรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ตรวจราชการจังหวัดเลย และได้รับข้อเสนอเรื่องการผลักดัน โครงการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง อีกครั้ง ทั้งนี้ตามข้อเสนอระบุว่า 

ปัจจุบันรัฐบาลได้มีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยกำหนดให้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือสำคัญในการ แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ สร้างงานและเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนในระดับชุมชนของ แต่ละท้องถิ่นและประเทศ รวมทั้ง ส่งเสริมให้การท่องเที่ยวมีบทบาทสำคัญในการช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกภูมิภาค 

แผนยุทธศาสตร์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเลย ปี 2565 – 2570 ได้กำหนดวิสัยทัศน์ของการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเลย “เมืองน่าพักผ่อนและเรียนรู้ ประสบการณ์ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เอกลักษณ์วัฒนธรรมท้องถิ่น การพัฒนาที่ยั่งยืนสู่คุณภาพระดับสากล” 

มีเป้าหมายในการพัฒนาพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว โดยกำหนดว่า ภายในปี 2570 จังหวัดเลย จะต้องมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 6.5% มีรายได้จากการท่องเที่ยวที่มีอัตรา การขยายตัวเฉลี่ย 15% ต่อปี คิดเป็นรายได้รวมจำนวนเงิน 35,505.56 ล้านบาท และมีจำนวนวันพักในการท่องเที่ยวแต่ละครั้ง จำนวน 2.5 วัน 

จากข้อมูลรายได้ภาพรวมจากการท่องเที่ยวของจังหวัดเลย ในปี 2565 รายได้จากการท่องเที่ยวของจังหวัดเลยอยู่ที่ 2,278.37 ล้านบาท และปี 2566 อยู่ที่จำนวน 3,429.76 ล้านบาท จำนวนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติทั้งสองปีอยู่ที่จำนวน 2,825,676 คน และมีจำนวนวันพักในการท่องเที่ยวแต่ละครั้งอยู่ที่ประมาณ 1.5 วัน 

โดยรายได้รวมจากการท่องเที่ยวในปี 2565 - 2566 รวมแล้วเป็นจำนวนเงิน 5,708.13 ล้านบาท ยังขาดจำนวนรายได้รวมจากการท่องเที่ยวเพื่อให้ได้ตามเป้าหมาย ในปี 2570 เป็นจำนวนเงิน 29,797.43 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดเลยที่เป็นจุดหมาย ปลายทางของนักท่องเที่ยวถูกกระจุกตัวอยู่ที่อำเภอเชียงคาน 

มีแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นแม่เหล็กไว้ดึงดูด นักท่องเที่ยวอยู่เฉพาะอำเภอเชียงคานเป็นส่วนใหญ่ เช่น ถนนนคนเดินเชียงคาน และสกายวอล์คเชียงคาน จึงทำให้จำนวนนักท่องเที่ยว รายได้ และจำนวนวันพักอาจไม่เป็นไปตามเป้าหมายของแผนยุทธศาสตร์ ในปี 2570 

ดังนั้น เพื่อเป็นการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้เพิ่มขึ้น และการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งเพื่อเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว จำนวนวันพักในการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นตามเป้าหมายในปี 2570 พร้อมกับ การยกระดับความสามารถในการแข่งขันทางการท่องเที่ยวของจังหวัดเลยให้ดีขึ้นและเป็นไปตามนโยบายของ รัฐบาลในยุคปัจจุบัน 

จึงเห็นว่าควรมีการพัฒนาก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง จังหวัดเลย เพื่อให้เป็นเครื่องมือในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและจัดการสิ่งแวดล้อม และเป็นแหล่งท่องเที่ยวแม่เหล็กที่ดึงดูด นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอีกแห่งในจังหวัดเลย ที่จะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับจังหวัดเลยในระดับมหภาค สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจต่อชุมชน และสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวในจังหวัดที่เพิ่มขึ้นได้ โดยได้มีการศึกษาถึงความคุ้มค่าของการสร้างกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง

 

ภาพประกอบข่าว โครงการก่อสร้าง “กระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง” จังหวัดเลย

 

ข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา

1.สำรวจออกแบบก่อสร้างโครงการกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง จังหวัดเลย และศึกษาข้อมูลเชิงลึกในด้านแบบก่อสร้างโครงการกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง รวมถึงรายละเอียดแบบก่อสร้างโครงการ และข้อมูล On Scale ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อใช้ในการพิจารณาตามข้อกำหนดในการจัดทำรายงาน EIA 

โดยพิจารณาการเสนอขอ งบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงินงบประมาณ 28 ล้านบาท เพื่อดำเนินการจ้างสำรวจออกแบบก่อสร้างโครงการกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง จังหวัดเลย เนื่องจาก มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการและต้องใช้จ่ายหรือก่อหนี้ผูกพันงบประมาณโดยเร็ว 

ทั้งนี้เพื่อดำเนินการสำรวจออกแบบคู่ขนานไปกับการศึกษาและจัดทำรายงานของโครงการ เพื่อให้ผลการศึกษาและ การก่อสร้าง มีความสอดคล้องและสามารถนำไปใช้ได้จริง รวมถึงให้ได้รับการพิจารณาอนุญาตในขั้นตอนการเสนอรายงาน EIA ต่อไป

2.ควรให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ให้การสนับสนุนองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ดำเนินการศึกษาโครงการ กระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง จังหวัดเลย ให้สำเร็จลุล่วง และการดำเนินการตามขั้นตอนการพิจารณารายงาน EIA จนสิ้นสุดกระบวนการเสนอ ครม.พิจารณาต่อไป

ประโยชน์ที่ผลที่คาดว่าจะได้รับ

1. สามารถเข้าพื้นที่ศึกษาเพื่อดำเนินการตามขอบเขตงานที่เกี่ยวข้องได้

2. เพื่อให้ผลการศึกษาและการก่อสร้าง มีความสอดคล้องและสามารถนำไปใช้ได้จริง รวมถึงให้ได้รับการ พิจารณาอนุญาตในขั้นตอนการเสนอรายงาน EIA ต่อไป

3. การพัฒนากระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง จังหวัดเลย ก่อให้เกิดการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับจังหวัด และโอกาสทางเศรษฐกิจต่อชุมชน สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว และเกิดการกระจายรายได้สู่ประชาชนในพื้นที สร้างศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวในระดับประเทศเป็นแม่แหล่งดึงดูดความสนใจ การท่องเที่ยวของประเทศอีกแห่งหนึ่ง 

รวมทั้งสามารถลดเวลาการเดินทางท่องเที่ยวภูกระดึง เพิ่มโอกาสการท่องเที่ยว เชื่อมโยงในแหล่งอื่นของจังหวัดได้ เกิดการกระจายรายได้และการหมุนเวียนของนักท่องเที่ยวไปสู่พื้นที่อื่น ๆ ในจังหวัดเลยเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดการพักค้างที่เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้เพื่อบรรลุเป้าหมายตามแผนยุทธศาสตร์ ในปี 2570 จำนวนวันพักเพิ่มเป็น 2.5 วัน จำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น 6.5๔ และสามารถบรรลุเป้าหมายเรื่องรายได้รวมจากการท่องเที่ยวในจังหวัดเพิ่มขึ้น 35,505.56 ล้านบาท