Tokenization เทคโนโลยีดิจิทัลช่วย SMEs ระดมทุนพัฒนาธุรกิจ

01 ธ.ค. 2566 | 02:43 น.

สนค. แนะ Tokenization เทคโนโลยีดิจิทัลที่ช่วย SMEs ระดมทุนเพื่อพัฒนาธุรกิจ สร้างสภาพคล่องทางการเงิน ลดต้นทุนธุรกรรม สร้างโอกาสและความเท่าเทียมทางการค้า ไทยควรเร่งศึกษาต่อยอดเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางการค้า การลงทุน

ตลาด Tokenization มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง บริษัทวิจัยด้านการตลาด Markets and Markets รายงานว่า ปี 2564 ตลาด Tokenization ทั่วโลก มีมูลค่าประมาณ 2.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดการณ์ว่าในปี 2569 ตลาด Tokenization จะเพิ่มขึ้นเป็น 5.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐหรือเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 19 ต่อปี นอกจากนี้ McKinsey & Company คาดการณ์ว่า ตลาด Tokenization ทั่วโลกอาจเติบโตอย่างมาก และมีมูลค่าถึง 4 - 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2573

ปัจจุบัน Tokenization เป็นที่นิยมสำหรับภาคการเงินและการลงทุน เนื่องจาก Tokenization มีคุณลักษณะสำคัญคือ ช่วยในการสร้างสภาพคล่องให้กับสินทรัพย์ ความปลอดภัย และความโปร่งใส ผู้ประกอบการ SMEs ในต่างประเทศ เริ่มใช้ประโยชน์จาก Tokenization กับกิจกรรมหลากหลายประเภท 

Tokenization

ทั้งด้านการค้า สิ่งแวดล้อม การถ่ายโอนเอกสาร การชำระเงิน การเป็นเจ้าของร่วม รวมถึงการกุศล อาทิ TradeFinex ให้บริการเปลี่ยนเอกสารทางการค้า เช่น ใบตราส่งสินค้า (Bill of Lading) หรือ ใบแจ้งหนี้ (Invoice) เป็นโทเคน ซึ่งสามารถนำไปขายต่อ หรือใช้เพิ่มสภาพคล่องทางการเงินได้ โดยข้อมูลต่าง ๆ ที่ถูกเปลี่ยนเป็นโทเคนจะต้องเป็นไปตามมาตรฐานของ Smart Contract การยืนยันตัวตนของลูกค้า (Know-your-customer) และการป้องกันการฟอกเงิน (Anti-money-laundering)

RAAYRE คือ กระเป๋าเงินดิจิทัลในเยอรมนี ที่บริษัทจัดการทรัพย์สินใช้สำหรับให้โทเคนกับผู้เช่าอสังหาริมทรัพย์ เพื่อจูงใจพฤติกรรมของผู้เช่าตามที่ต้องการ อาทิ ชำระเงินตรงเวลา ใช้พลังงานอย่างประหยัดและรายงานความเสียหายหรือความเสี่ยงบริเวณที่พัก โดยผู้เช่าสามารถนำโทเคนไปแลกเป็นส่วนลดค่าเช่ารายเดือนได้ และ STAXE คือโทเคนที่ผลิตในสเปนใช้สำหรับระดมทุนในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และวัฒนธรรม และโครงสร้างพื้นฐานทางวัฒนธรรม อาทิ การจัดคอนเสิร์ต งานประชุม หรืองานเทศกาล เป็นต้น

Tokenization เทคโนโลยีดิจิทัลช่วย SMEs ระดมทุนพัฒนาธุรกิจ

Tokenization ช่วยให้การค้ามีประสิทธิภาพ

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (ผอ.สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า "Tokenization" หรือ การแปลงหรือทำให้สินทรัพย์อยู่ในรูปแบบดิจิทัล ที่เรียกว่า "โทเคน (Token)" ที่สามารถย้าย จัดเก็บ หรือบันทึกบน Blockchain เป็นเทคโนโลยีและนวัตกรรมช่วยให้การค้ามีประสิทธิภาพ ครอบคลุม และเท่าเทียมหรือสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการรายเล็กมากขึ้น  

ผู้ประกอบการอาจแปลงมูลค่าของวัตถุ เช่น ทองคำ โฉนดที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ หุ้น ภาพวาด ทรัพย์สินทางปัญญา และ Carbon Credit เป็นโทเคน เพื่อถ่ายโอนหรือแปลงสิทธิ์การเป็นเจ้าของได้ ซึ่ง World Trade Organizationและ World Economic Forum ระบุว่า Tokenization นับเป็นหนึ่งเทคโนโลยีสำคัญที่จะส่งผลต่อการค้า และธุรกิจในอนาคต

ประเทศไทยการใช้โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนและระดมทุนแล้ว ซึ่งเป็นการระดมทุนแบบใหม่ที่ถูกต้องตามกฎหมายและขยายโอกาสให้ผู้ต้องการเงินทุนและผู้ลงทุน อาทิ เดสทินี โทเคน (Destiny Token) ที่เสนอขาย เมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 เป็นโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนสำหรับดำเนินโครงการใดโครงการหนึ่ง (Project Based) มีระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี ราคาขายเริ่มต้น 5,559 บาทต่อโทเคนโดยเงินที่ได้จากการระดมทุนถูกนำไปลงทุนในโครงการผลิตภาพยนตร์บุพเพสันนิวาส ๒ เช่น การทำ Post-Production การทำการตลาด ช่องทางการจัดจำหน่ายภาพยนตร์ รวมถึงการจัดหาสิทธิประโยชน์และผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือโทเคน ร้อยละ 2.99 ต่อปี 

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (ผอ.สนค.) กระทรวงพาณิชย์

Tokenization สร้างโอกาส-ความสามารถในการเเข่งให้ SMEs

โดยเฉพาะการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งทำได้หลายทาง อาทิ การระดมทุนจากนักลงทุนจำนวนมาก (Crowdfunding)  การเพิ่มจำนวนนักลงทุน โดยนักลงทุนสามารถเป็นเจ้าของบางส่วนได้ (Fractional Ownership) และการแปลงสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องต่ำให้เป็นหลักทรัพย์ที่ปลอดภัยและโปร่งใส เพื่อให้สามารถซื้อขายในตลาดรองหรือใช้โทเคนเป็นหลักทรัพย์สำหรับการกู้เงินได้อีกด้วย

ดังนั้น ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชนควรศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับโอกาสและความเป็นไปได้ที่ผู้ประกอบการรวมถึง SMEs จะสามารถประยุกต์ใช้ Tokenization นอกจากนี้ภาครัฐควรจะเผยแพร่องค์ความรู้ให้กับผู้ประกอบการ เพื่อสร้างโอกาสและพัฒนาความสามารถในการแข่งขันทางการค้าควบคู่กับการกำกับดูแลการค้าและการลงทุนในโทเคนดิจิทัล ให้ปลอดภัย เชื่อถือได้ และสะดวกรวดเร็วตามมาตรฐานสากล