ธปท. เผยชัดเศรษฐกิจไทย ช่วงสิ้นปี 2566 ยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัว

30 พ.ย. 2566 | 08:21 น.

ธปท. เผยเศรษฐกิจไทย ช่วงสิ้นปี 2566 ยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัว โดยเดือนตุลาคม - พฤศจิกายน ยังฟื้นต่อเนื่อง หลังได้แรงหนุนจากการบริโภคภาคเอกชน และการท่องเที่ยว จับตาส่งออกช่วงที่เหลือของปี

น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ และโฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนตุลาคม 2566 ยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัว โดยมีตัวขับเคลื่อนหลักคือ อุปสงค์ภายในประเทศ ทั้งการบริโภค และการลงทุนภาคเอกชน ขณะที่ภาคบริการชะลอลงตามจำนวนนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ

โดยในเดือนตุลาคม 2566 เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวจากเดือนก่อน 1.7% เป็นการเพิ่มขึ้นในเกือบทุกหมวดสินค้าหลัก ยกเว้นการใช้จ่ายในหมวดบริการที่ปรับลดลงจากหมวดโรงแรมและภัตตาคาร สอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติที่ลดลง โดยการบริโภคที่เพิ่มขึ้นมีปัจจัยสนับสนุนจากการจ้างงานและความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง

ขณะที่เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ 1.4% โดยการลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์เพิ่มขึ้นจากยอดจำหน่ายเครื่องจักรในประเทศ และการนำเข้าสินค้าทุนในหมวดของการสื่อสาร ขณะที่ยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ทรงตัวจากเดือนก่อน สำหรับการลงทุนในหมวดก่อสร้างปรับเพิ่มขึ้นตามพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างและยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง
 

ธปท. เผยชัดเศรษฐกิจไทย ช่วงสิ้นปี 2566 ยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัว

“การบริโภคที่ขยายตัวในเดือนตุลาคม 2566 ได้รับแรงสนับสนุนมาจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น หลักๆ จากมาตรการช่วยเหลือด้านค่าครองชีพของรัฐบาล ทั้งการลดค่าไฟฟ้า และลดราคาน้ำมันดีเซล รวมทั้งการกระตุ้นการท่องเที่ยวจากภาครัฐด้วย แต่ผู้บริโภคก็ยังกังวลเรื่องของค่าครองชีพที่สูง และสถานการณ์เอลนีโญ และสถานการณ์เศรษฐกิจการเงินของโลก ภายใต้สถานการณ์ที่ยังมีความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์อยู่” น.ส.ชญาวดี ระบุ

ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศลดลงจากเดือนก่อน 1.4% ตามจำนวนนักท่องเที่ยวรัสเซียที่ลดลงหลังจากเร่งตัวไปในช่วงก่อนหน้า และนักท่องเที่ยวมาเลเซียที่ชะลอการเดินทางเพื่อรอวันหยุดพิเศษในเดือน พ.ย. หลังจากที่ทางการได้ประกาศเพิ่มเติม

อย่างไรก็ดี นักท่องเที่ยวบางสัญชาติปรับดีขึ้น อาทิ จีน ส่วนหนึ่งได้รับผลดีจากมาตรการยกเว้นการยื่นวีซ่า และกลุ่มยุโรป โดยเฉพาะสหราชอาณาจักรและเยอรมนี สำหรับรายรับภาคการท่องเที่ยวชะลอลงจากเดือนก่อน สอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวและอัตราการเข้าพักแรมที่ลดลง โดยภาพรวมของนักท่องเที่ยวต่างชาติ 10 เดือน พบว่ามีเข้ามาแล้ว 22.2 ล้านคน

ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำลดลงจากเดือนก่อน 1.4% โดยลดลงในหลายหมวดจากผลกระทบตลาดต่างประเทศที่ฟื้นตัวช้า ทั้ง การส่งออกเครื่องประดับไปฮ่องกง หลังเร่งไปในเดือนก่อนที่มีงานจัดแสดงสินค้า สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ จากการส่งออกฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ที่ลดลงตามรอบการส่งมอบสินค้า และแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่ลดลงตามการส่งออกไปสหรัฐฯ และฮ่องกง และสินค้าเกษตร ตามการส่งออกผลไม้ไปจีน อย่างไรก็ตาม การส่งออกบางหมวดปรับเพิ่มขึ้น อาทิ ยานยนต์ไปออสเตรเลีย และปิโตรเลียมไปอาเซียน

ด้านมูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำลดลงจากเดือนก่อนจาก ทั้งหมวดเชื้อเพลิง ตามปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบ รวมทั้งสินค้าอุปโภคและบริโภค ตามการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า และสินค้าทุนที่ไม่รวมเครื่องบิน ตามการนำเข้าคอมพิวเตอร์หลังเร่งไปมากในช่วงก่อนหน้า อย่างไรก็ดี การนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางไม่รวมเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เป็นสำคัญ

ส่วนดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลงในหลายหมวด หลังเร่งผลิตไปในเดือนก่อน ได้แก่ หมวดอาหารและเครื่องดื่มตามการผลิตน้ำตาล หมวดฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ที่ลดลงตามรอบการส่งมอบสินค้า และหมวดเคมีภัณฑ์ตามการผลิตพลาสติกและยางสังเคราะห์ขั้นต้น อย่างไรก็ดี การผลิตหมวดปิโตรเลียมปรับดีขึ้น ตามการกลับมาดำเนินการผลิตหลังปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นในเดือนก่อน

 

ธปท. เผยชัดเศรษฐกิจไทย ช่วงสิ้นปี 2566 ยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัว

 

น.ส.ชญาวดี กล่าวว่า ด้านการใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนหดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากรายจ่ายลงทุนของรัฐบาล ซึ่งการเบิกจ่ายที่ลดลงมาจากการทบทวนงบประมาณปี 2567 ที่ล่าช้า ขณะที่รายจ่ายประจำของรัฐบาลกลางขยายตัว ตามการเบิกจ่ายเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ และค่ารักษาพยาบาลข้าราชการและการเบิกจ่ายของหน่วยงานด้านการศึกษา ส่วนรายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัวตามการเบิกจ่ายในโครงการด้านคมนาคมและสาธารณูปโภค

อย่างไรก็ตามเสถียรภาพเศรษฐกิจ ในปัจจุบันพบว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากหมวดพลังงานและอาหารสด โดยหมวดพลังงานลดลงจากมาตรการลดราคาน้ำมันดีเซลของภาครัฐ และราคาน้ำมันเบนซินที่ลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ขณะที่หมวดอาหารสดลดลงจากผลของฐานสูงในราคาผักเป็นสำคัญ

ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัวจากเดือนก่อน ด้านตลาดแรงงานฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่เพิ่มขึ้น สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลลดลงตามดุลการค้าเป็นสำคัญ ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เฉลี่ยอ่อนค่าลง เนื่องจากตลาดปรับเพิ่มการคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ มีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงเป็นเวลานาน ประกอบกับความไม่แน่นอนของผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส

น.ส.ชญาวดี กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป โดยเฉพาะในเดือนพฤศจิกายน 2566 เมื่อพิจารณาจากเครื่องชี้หลายด้านพบว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจไทยยังมีแรงส่งสำคัญมาจากภาคการท่องเที่ยว ขณะที่การฟื้นตัวของการส่งออกยังต้องติดตามต่อไปว่าจะมีทิศทางอย่างไร ส่วนเครื่องชี้อื่น ๆ ยังคงทรงตัว ส่วนความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการก็ยังทรงตัวในระดับใกล้เคียงระดับ 50

“แนวโน้มเศรษฐกิจในเดือนพฤศจิกายน 2566 และระยะต่อไป คิดว่าเศรษฐกิจยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่องจากเดือนตุลาคม โดยมีแรงส่งจากการบริโภคภาคเอกชน และการท่องเที่ยว แต่ระยะต่อไปต้องติดตามการฟื้นตัวของภาคส่งออกสินค้า และผลกระทบเอลนีโญต่อผลผลิตและราคาสินค้าเกษตร รวมถึงความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ว่าจะมีผลกระทบต่อราคาพลังงานมากน้อยแค่ไหน” น.ส.ชญาวดี กล่าว