“หนี้นอกระบบ” ยังเป็นปัญหาต่อความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ มีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยจากการถูกติดตามทวงหนี้ และได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงเกินกว่ากฎหมายกำหนด สะท้อนถึงการบริโภคในประเทศ จากกำลังซื้อที่ลดลง ฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจ ล่าสุดนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประกาศ รัฐบาลจะแถลงรายละเอียดมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ในวันที่ 28 พฤศจิกายนนี้
ขณะที่ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้ส่งหนังสือด่วนที่สุดถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อรับมอบนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ในวันที่ 8 ธันวาคม 2566 ณ อิมแพ็ค อารีนา เมืองทองธานี เพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด และบุคลากรฝ่ายปกครองทั้งส่วนกลาง และส่วนภูมิภาคทราบแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบที่เป็นวาระแห่งชาติ
รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระ และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า มูลหนี้นอกระบบจริงของไทย ณ ปัจจุบัน ประเมินว่าจะมีสัดส่วนมากกว่า 30% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) เพราะมูลค่าธุรกิจอาชีพอิสระหลาย ๆ อาชีพ ทางสภาพัฒน์ไม่ได้รวมอยู่ในตัวเลขของจีดีพี (เช่น พ่อค้าหาบเร่ คนขับรถตุ๊กตุ๊ก ผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรือลูกจ้าง ที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม) ซึ่งส่วนใหญ่มีหนี้นอกระบบ หากประเมิน 30% ต่อจีดีพี ข้อมูลปี 2565 มูลค่าจีดีพีไทย 17.4 ล้านล้านบาท หนี้นอกระบบจะมีมูลค่าสูงกว่า 5.22 ล้านล้านบาท
สำหรับหนี้นอกระบบที่สูง ส่วนหนึ่งสะท้อนถึงเศรษฐกิจไม่ดี คนต้องไปกู้หนี้ยืมสินนอกระบบ แม้ต้องเสียดอกเบี้ยสูงมากกว่า 20% ต่อเดือนก็ตาม แต่การกู้นอกระบบไม่ต้องใช้หลักฐานอะไรมาก ขณะที่ทำให้เกิดปัญหาด้านสังคมตามมา จากการถูกติดตามทวงหนี้ ถูกข่มขู่ ถูกทำร้าย ขณะที่ครอบครัวของผู้เป็นหนี้มีความยากลำบากในการดำรงชีวิต จากเงินหมุนไม่ทัน และยังเป็นปัญหาของครอบครัวต่อไป
“หนี้นอกระบบคาดมีสัดส่วนอย่างน้อยกว่า 30% ต่อจีดีพีหรือกว่า 5 ล้านล้านบาท ยิ่งเศรษฐกิจไม่ดีหนี้นอกระบบยิ่งโต ยิ่งเฟื่องฟู แต่หากรัฐบาลแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ดี คนมีรายได้เพิ่ม หนี้นอกระบบก็จะลดลงไป และคนจะหันมากู้ในระบบเพิ่มขึ้น”
สำหรับข้อเสนอแนะแนวทางออกการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ 1.ไทยมี พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 ที่ห้ามคิดอัตราดอกเบี้ยเกินร้อยละ 5 อยู่แล้ว ต้องบังคับใช้อย่างเข้มงวด (หากกระทำความผิดมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ) 2.ควรขึ้นทะเบียนเจ้าหนี้นอกระบบให้เป็นเรื่องเป็นราวกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้มีสถานะเป็นเจ้าหนี้ หากคิดดอกเบี้ยเกินกฎหมายกำหนด หรือมีการทำร้ายลูกหนี้ ต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย หากเจ้าหนี้รายใดไม่มาขึ้นทะเบียนให้ถือเป็นเจ้าหนี้เถื่อน และถือว่าผิดกฎหมาย การดำเนินการในลักษณะนี้จะทำให้รัฐตรวจสอบเรื่องการเสียภาษี และจะมีรายได้เพิ่มจากภาษี
ด้าน นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย กล่าวว่า การปล่อยกู้นอกระบบที่คิดดอกเบี้ยโหดเป็นอาชีพที่ผิดกฎหมาย เพราะไม่มีกฎหมายรองรับ ที่ผ่านมาก็ไม่มีการขึ้นทะเบียนกับภาครัฐเหมือนสถาบันการเงิน เพราะเป็นการสมยอมกันระหว่างผู้ปล่อยกู้กับผู้กู้ ดังนั้นผู้ที่ทำอาชีพปล่อยกู้นอกระบบที่ไม่ได้รับอนุญาต และผู้ติดตามทวงหนี้ถือว่าทำผิดกฎหมาย จะต้องถูกลงโทษทางอาญา และหนี้ที่มีอยู่ของลูกหนี้ต้องเป็นโมฆะ
“เรื่องหนี้นอกระบบแก้ได้ค่อนข้างยาก รัฐต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการใช้สถาบันการเงินให้ความช่วยเหลือ เช่น ขยายระยะเวลาการชำระหนี้ รวมถึงการแก้ไขกฎหมาย หรือออกกฎหมายเพื่อคุมเข้มเรื่องหนี้นอกระบบให้มีโทษแรงกว่าเดิม ขณะที่หนี้นอกระบบไม่ทำให้เกิดมูลค่าเศรษฐกิจมาก เพราะส่วนใหญ่กู้มากินมาใช้ มาปลดหนี้เก่า สร้างหนี้ใหม่ ที่ผ่านมามีลูกจ้างจำนวนมากร้องว่าถูกติดตามทวงหนี้ถึงหน้าโรงงาน มีการข่มขู่จนมาทำงานไม่ได้ ต้องไปแจ้งความไว้กับตำรวจ”
อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบการแก้ปัญหาของภาครัฐ การแก้ไขหนี้นอกระบบแบบบูรณาการ ได้ถูกยกเป็นวาระแห่งชาติมาแล้วในสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้วยการขึ้นทะเบียนเจ้าหนี้นอกระบบ การดึงหนี้นอกระบบเข้ามาในระบบผ่านธนาคารรัฐ อย่างธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสิน ด้วยการลงทะเบียนปรับโครงสร้างหนี้ หรือรีไฟแนนซ์เปลี่ยนจากหนี้นอกระบบให้กลับมาเป็นหนี้ในระบบ และจ่ายดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยถูกแทน
ขณะเดียวกันยังมีการจัดตั้งสถาบันการเงินเฉพาะกิจขึ้นมา 2 แห่ง อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) คือ สินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ หรือ นาโนไฟแนนซ์ เป็นสินเชื่อเพื่อช่วยให้ประชาชนรายย่อยมีเงินทุนเพื่อนำไปประกอบอาชีพ โดยไม่ต้องมีหลักประกัน วงเงินกู้สูงสุดต่อรายไว้ไม่เกิน 100,000 บาท กำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยสูงสุดรวมค่าธรรมเนียม ค่าบริการต่าง ๆ และเบี้ยปรับไม่เกิน 36% ต่อปี
สำหรับผลดำเนินงานของนาโนไฟแนนซ์ ซึ่งเปิดให้ยื่นขอใบอนุญาตการประกอบธุรกิจตั้งแต่เดือนม.ค. 2558 พบว่า มียอดสินเชื่อคงค้าง ณ เดือน ก.ย. 2566 ทั้งสิ้น 38,811 ล้านบาท คิดเป็น 2.052 ล้านบัญชี มีหนี้ค้างชำระเกิน 3 เดือนทั้งสิ้น 2,580 ล้านบาท จากจำนวนผู้ประกอบการทั้งสิ้น 68 ราย
นอกจากนั้นยังมีการใช้ใบอนุญาตผู้ประกอบการสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับหรือ สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นการให้สินเชื่ออเนกประสงค์ มีหรือไม่หลักประกันก็ได้ โดยผู้ประกอบธุรกิจสามารถเรียกเก็บดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมใด ๆ ได้ไม่เกิน 36% ต่อปี
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่าการแก้ไขปัญหาหนี้สินนอกระบบ ตามนโยบายของรัฐบาล กระทรวงการคลังจะใช้สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการดึงให้ผู้ประกอบการที่อยู่นอกระบบ เข้ามาจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายมากยิ่งขึ้น เพราะปัญหาหนี้นอกระบบส่วนใหญ่ เกิดจากการปล่อยสินเชื่อที่คิดดอกเบี้ยโหด เกินกฎหมายที่กฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ กำหนดให้คิดดอกเบี้ยไม่เกิน 15%
ทั้งนี้ กลไกของพิโกไฟแนนซ์ถือว่ากำหนดอัตราดอกเบี้ยสูงสุด เมื่อเทียบกับการให้บริการสินเชื่อที่ได้รับใบอนุญาตแล้ว โดยกลุ่มสินเชื่อพีโลน การกำหนดเพดานดอกเบี้ยก็ไม่เกิน 22-25% ขณะที่สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์นั้น หากผู้ประกอบธุรกิจเงินกู้นอกระบบเข้ามาเปิดกิจการ จะได้รับการคิดอัตราดอกเบี้ยสูงสุดไม่เกิน 36% ปล่อยสินเชื่อได้สูงสุด 50,000 บาท ส่วนกรณีเป็นสินเชื่อพิโกพลัส ผู้ประกอบการสามารถปล่อยสินเชื่อได้สูงสุดถึง 100,000 บาท โดยส่วนที่เกิน 50,000 บาทขั้นไป จะคิดอัตราดอกเบี้ยในเรทไม่เกิน 28%
กระทรวงการคลังยังได้เตรียมออกหลักเกณฑ์ให้ผู้ประกอบการพิโกไฟแนนซ์รายเล็กในจังหวัดเดียวกันได้รับความเป็นธรรมในการแข่งขันธุรกิจมากยิ่งขึ้น และทำให้การแข่งขันเรื่องอัตราดอกเบี้ยถูกลง
“ผู้ประกอบการพิโกไฟแนนซ์สามารถเปิดสาขาย่อยได้ในจังหวัดที่จดทะเบียน แต่ไม่สามารถเปิดสาขาข้ามจังหวัดได้ ซึ่งในปัจจุบันคลังเห็นผู้ประกอบการรายใหญ่ ในจังหวัดใหญ่ ๆ บางแห่ง มีการเปิดบริษัทย่อยขึ้นมาในจังหวัดที่มีการจดทะเบียน จึงจะออกเกณฑ์ควบคุมในส่วนนี้ และอนุญาตให้ผู้ประกอบการสามารถไปเปิดบริษัทย่อยที่จังหวัดอื่น ๆ ได้ แต่จะต้องขอใบอนุญาตการประกอบธุรกิจการกระทรวงการคลัง”
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ภาพรวมการประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ ณ สิ้นเดือนก.ย.66 มีผู้ประกอบธุรกิจที่เปิดดำเนินการสะสมสุทธิ 1,129 ราย กระจายอยู่ทุกภาคใน 75 จังหวัด (ยกเว้นจังหวัดอ่างทองและจังหวัดสิงห์บุรี) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบธุรกิจในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 631 ราย รองลงมา ได้แก่ ภาคกลาง 207 ราย, ภาคเหนือ 152 ราย, ภาคตะวันออก 79 ราย, และภาคใต้ 60 ราย
นอกจากนี้ได้มีการอนุมัติสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ให้กับประชาชนรายย่อยไปแล้วจำนวนทั้งสิ้น 3.69 ล้านบัญชี รวมวงเงิน 35,590 ล้านบาท แบ่งเป็นสินเชื่อแบบมีหลักประกัน 13,303 ล้านบาท และสินเชื่อแบบไม่มีหลักประกัน 22,286 ล้านบาท
ทั้งนี้ เป็นลูกหนี้ที่มีสถานะปกติ มีจำนวน 4,057 ล้านบาท, ลูกหนี้ที่ค้างชำระ 1-3 เดือน (S-M) 887 ล้านบาท คิดเป็น 13.78% และเป็นลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) 1,498 ล้านบาท คิดเป็น 23.25%
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3943 วันที่ 26 – 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566