คนไทยซมพิษการเมือง-ความเหลื่อมล้ำรายได้ที่ 4 เอเชียแปซิฟิก

22 พ.ย. 2566 | 06:08 น.

ครม.รับทราบรายงานแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พบข้อมูลปัจจุบันประเทศไทยเหลื่อมล้ำด้านรายได้สูงเป็นอันดับ 4 ในเอเชีย-แปซิฟิก แถมซมพิษการเมือง และการเงินการลงทุนผันผวน แนะวางกรอบแก้ปัญหาด่วน

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า ขณะนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รับทราบรายงานประเมินผลสัมฤทธิ์การดำเนินงานตามแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2562 - 2565) ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ โดยเมื่อนำผลการประเมินระยะครึ่งแผนและระยะสิ้นสุดแผนการสังเคราะห์มีผลสำเร็จและข้อสังเกตของการดำเนินงานตามแผนสิทธิมนุษยชน โดยพบข้อมูลที่น่าสนใจด้านเศรษฐกิจและธุรกิจ ดังนี้

ปัจจุบันประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำด้านรายได้สูงเป็นอันดับ 4 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกและผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด - 19 ส่งผลให้เศรษฐกิจของไทยหดตัวอย่างรุนแรง ประชาชนไทยในภาพรวมและยังได้รับผลกระทบทางการเมืองและภาวะการเงินการลงทุนที่ผันผวน 

ทั้งนี้แม้จะมีโครงการที่เกี่ยวข้องกับตัวชี้วัดและข้อเสนอแนะต่าง ๆ แต่ไม่มีโครงการใด หรือผลในภาพรวมที่ชี้ให้เห็นถึงความสำเร็จ ของการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และความยากจนในไทยได้

ส่วนด้านขนส่งพบว่า แม้ประเทศไทยจะมีการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกด้านคมนาคมขนส่งในการดำเนินการพัฒนาสู่ระบบขนส่งเพื่อความเสมอภาคและเท่าเทียม เป็นระบบขนส่งสำหรับทุนคน เช่น การสร้างสะพานข้ามแยก แต่อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนยังคงเพิ่มขึ้น เนื่องจากโครงการไม่มีมาตรฐานด้านความปลอดภัย

เช่นเดียวกับด้านที่อยู่อาศัย พบว่า การพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบางยังมีอีกมากที่ยังไม่มีที่อยู่อาศัยทั้งในเขตเมืองและชนบท ทำให้เกิดปัญหาชุมชนแออัด คนเร่ร่อนและการบุกรุกพื้นที่ของกรมป่าไม้ หรือที่ดินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ในต่างจังหวัดที่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญญาตามข้อเท็จจริงได้

รวมทั้งในด้านของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมควรถอดบทเรียนและปรับแนวทางในการเตรียมความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะหากเกิดโรคระบาดใหม่หรือภัยพิบัติฝุ่น PM2.5 ซึ่งถือเป็นภัยที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและส่งผลต่อสุขภาพของประชาชน เช่น ลดการเผาป่า ทำไร่เลื่อนลอย การควบคุมควันดำจากรถยนต์ และการส่งเสริมพลังงานสะอาด รถไฟฟ้า การใช้พลังงานในครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม

นอกจากนี้เมื่อมองถึงด้านการเมืองการปกครองและความมั่นคง พบข้อมูลที่น่าสนใจว่า ประชาชนคนไทย โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่สนใจมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น อย่างไรก็ดี มีประเด็นสังคมอีกมากที่สะท้อนถึงข้อสงสัยว่า หน่วยงานหลักสามารถดำเนินการตามที่ให้สร้างวัฒนธรรมการเมืองในระบอบประชาธิปไตยได้หรือไม่ ซึ่งสถาบันการเมืองหลักของประเทศควรจะเป็นหน่วยงานสำคัญที่ขับเคลื่อนงานตามข้อเสนอแนะให้ประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมให้ได้

ทั้งนี้มีข้อเสนอว่าในการแก้ปัญหา ควรมีการกำหนดกรอบแนวทางในการขับเคลื่อนแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติสู่แผนปฏิบัติการโดยมีการกำหนดหน่วยงานเจ้าภาพ หน่วยงานหลัก หน่วยงานสนับสนุนจะต้องกำหนดกิจกรรมไว้อย่างชัดเจน เพื่อจะสามารถกำหนดผลผลิต (Output) ผลลัพธ์ (Outcome) ได้อย่างถูกต้อง

รวมทั้งควรมีระบบการติดตามประเมินผล พร้อมทั้งมีคณะทำงานติดตามจัดเก็บข้อมูลที่มีความต่อเนื่องชัดเจนระบบการจัดเก็บข้อมูลส่วนกลาง และกำหนดรูปแบบการรายงานให้หน่วยงานสามารถรายงานข้อมูลให้เป็นปัจจุบันได้ตลอดเวลา เป็นต้น